ส่องประวัติศาสตร์ เชื้อพระวงศ์ไทย ความแตกต่าง-การได้มาซึ่ง “สกุลยศ” และ “อิสริยยศ”

พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : เรื่อง

สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับปวงชนชาวไทยมานานกว่า 770 ปีแล้ว นับตั้งแต่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์กษัตริย์พระองค์แรกสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ตลอดระยะเวลาที่ประเทศไทยอยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารมีราชประเพณีและรายละเอียดปลีกย่อยมากมายเกี่ยวกับราชวงศ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

หนึ่งในเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ ธรรมเนียมเกี่ยวกับการเฉลิมพระยศ ธรรมเนียมของเจ้านายเชื้อพระวงศ์ หรือธรรมเนียมราชตระกูล ซึ่ง ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ได้นำมาพูดคุยให้ความรู้ในงานเสวนาศิลปวัฒนธรรม หัวข้อ “ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม”

ในโอกาสนี้ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมรายละเอียดสำคัญ ๆ ให้คุณผู้อ่านทุกท่านได้ทำความเข้าใจและเรียนรู้ธรรมเนียมประเพณีโบราณของราชวงศ์ไทยที่สำคัญยิ่งไปพร้อม ๆ กัน

ความแตกต่างระหว่าง “สกุลยศ” และ “อิสริยยศ”

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ราชสำนักและพระราชพิธี ได้ฉายภาพกว้างถึงการได้มาซึ่งพระยศตามธรรมเนียมราชประเพณีไทยออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ สกุลยศ และอิสริยยศ

สกุลยศ คือ พระยศที่ได้ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด สืบทอดมาจากพระชนกและพระชนนีโดยตรง ซึ่งพระโอรสหรือพระธิดาจะมีสกุลยศได้ 3 แบบ ได้แก่ เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า และหม่อมเจ้า ขึ้นอยู่กับว่าพระชนนีมีพระยศใด ยกตัวอย่างสกุลยศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งประสูติมีพระยศเป็นเจ้าฟ้าด้วยพระบิดาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และพระชนนีเป็นพระภรรยาเจ้า ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ที่ประสูติแต่มารดาสามัญชนจะได้รับพระยศเป็นพระองค์เจ้าตามลำดับ

อิสริยยศ คือ พระยศที่ได้รับการสถาปนาเพิ่มพูนในภายหลังมีเหตุแห่งการปรับเปลี่ยนด้วยกันหลัก ๆ 2 ประการ

ประการแรก เกิดจากสถานะที่เปลี่ยนแปลงไปในรัชกาลต่าง ๆ เมื่อมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินพระยศของพระบรมวงศานุวงศ์จึงต้องมีการลำดับใหม่

ประการที่สอง มีความดีความชอบที่ปรากฏในแผ่นดิน เช่น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช โดยกำเนิดทรงมีพระยศเป็นหม่อมเจ้า แต่ด้วยความดี ความชอบที่ทรงงานเป็นอธิบดีกรมศุลกากรมากว่า 30 ปี จึงมีการตั้งพระยศจากหม่อมเจ้าเป็นพระองค์เจ้าแทน กรณีนี้เรียกว่า “พระองค์เจ้าตั้ง” พบได้บ่อยที่สุดในการสถาปนาพระอิสริยยศ

ฉะนั้น หากพูดให้เข้าใจโดยง่าย สกุลยศ คือ พระยศที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด ส่วนอิสริยยศ คือ พระยศที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงสถาปนาจากพระเจ้าแผ่นดินขึ้นในภายหลังนั่นเอง

“ทรงกรม” ธรรมเนียมยุคหลังสมเด็จพระนารายณ์

ธรรมเนียมทรงกรมคืออะไร ? ทรงกรม คือ การมอบหมายแบ่งปันผู้คนที่ในยุคนั้นมีสถานะเป็นไพร่ ให้อยู่ในการกำกับ ดูแล บังคับบัญชาของเจ้านายพระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงที่มาของธรรมเนียมการทรงกรมว่า ในยุคสมัยดังกล่าวชื่อของบรรดาเจ้านายในพระบรมวงศานุวงศ์จะเป็นชื่อในลักษณะสั้น ๆ กันเสียส่วนใหญ่ เช่น นวม, สาย เมื่อตั้งให้มียศเป็นเจ้ากรมแล้วครั้นจะใช้ชื่อว่า กรมหลวงนวมก็ดูจะไม่ลงตัวนัก จึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อเรียกตำแหน่งเป็นขุนนางเจ้ากรมโดยมีชื่อเมืองหรือจังหวัดแทน

ข้อสังเกตที่อาจารย์ธงทองได้เสนอไว้ก็คือ การเปลี่ยนแปลงชื่อเรียกตำแหน่งขุนนางในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เจ้านายหรือเจ้ากรมมีชื่อจังหวัดตั้งต่อท้ายไว้น่าจะได้ไอเดียนี้มาจากเจ้านายเมืองฝรั่งอย่างเช่น ตำแหน่ง Prince of Wales หรือ Duke of Cambridge ของสหราชอาณาจักร เป็นการเอาชื่อเมืองมาตั้งเพื่อเป็นเกียรติยศแก่เจ้านายและเมืองนั้นด้วย พระองค์จึงนำชื่อเมืองสำคัญมาตั้งเป็นชื่อขุนนางเจ้ากรมในยุคนั้น อาทิ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์, กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งการนำชื่อจังหวัดมาตั้งเป็นพระนามต่อท้ายไม่ได้หมายความว่าเจ้านายพระองค์นั้นมีอำนาจปกครองในเขตเมืองที่ว่า เป็นเพียงการตั้งชื่อเพื่อเกียรติยศเท่านั้น

ธรรมเนียมการทรงกรมดำเนินมาเรื่อย ๆ จนถึงรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 ที่ยังคงไว้ซึ่งตำแหน่งเจ้ากรม ปลัดกรม และสมุห์บัญชี แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้วก็ตาม

ตัวอย่างเช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ พระโอรสของท่าน คือ หม่อมเจ้านักขัตรมงคล พระชนกของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 กรณีนี้หม่อมเจ้านักขัตรมงคล ก็ควรจะต้องมีการทรงกรมให้ด้วยทั้งจากคุณงามความดีในงานราชการและศักดิ์พระชนกของราชินีนาถในพระเจ้าแผ่นดิน ต่อมาจึงได้ทรงกรมเป็นพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ เปลี่ยนพระนามสร้อยข้างท้ายให้มีความคล้ายคลึงกันกับพระนามของเสด็จพ่อ

สำหรับการตั้งทรงกรมครั้งสุดท้ายสิ้นสุดลงในรัชกาลที่ 9 พระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้รับการทรงกรม คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

การตั้งอิสริยยศเป็นกรณีพิเศษ

การตั้งอิสริยยศไม่มีกฎตายตัวในทุกรัชกาล โดยมากจะเป็นไปตามพระราชวินิจฉัยและพระราชนิยมของพระมหากษัตริย์ในแต่ละรัชกาล อย่างอดีตเมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 2 มีการตั้ง “กรมสมเด็จพระ” ขึ้น อิสริยยศนี้มีฐานะสูงกว่ากรมพระ แต่ก็ยังเป็นตำแหน่งที่มีสถานะไม่ชัดเจนนัก ภายหลังบางพระองค์ที่ได้รับการแต่งตั้งให้พระยศดังกล่าวก็ได้มีการแก้ไขเป็นกรมพระยาแทน

กรณีที่หาได้ยาก คือ การตั้งเจ้านายผู้หญิงทรงกรม มีตำแหน่งหน้าที่ขุนนาง ตรงนี้ศาสตราจารย์พิเศษธงทองเล่าว่า ในบรรดาเจ้านายผู้หญิงที่ได้ทรงกรมในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ไทยมีพระองค์เดียว คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี พระธิดาองค์โตในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และเจ้าคุณจอมมารดาแพ มีลำดับศักดิ์พระยศเทียบเท่ากับเจ้าฟ้า ด้วยเจ้าคุณจอมมารดาแพเป็นสะใภ้หลวงที่สู่ขอมา ประกอบกับมีศักดิ์เป็นลูกเจ้าคุณทหารหลานสมเด็จเจ้าพระยา ถือว่ามีเกียรติไม่น้อยจึงประทานยศให้ทรงกรมเป็นกรณีพิเศษ นับแต่มีธรรมเนียมทรงกรมเกิดขึ้น กรมขุนสุพรรณภาควดีเป็นเจ้านายผู้หญิงที่ได้ทรงกรมเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น


อีกประการหนึ่ง คือ ตำแหน่ง “สมเด็จพระ” เช่น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ถือเป็นฐานะพิเศษที่ไม่สามารถเทียบกับการทรงกรมใด ๆ ได้ เรียกว่าตำแหน่งสถานะดังกล่าวมีศักดิ์มากกว่าการทรงกรมไปแล้วนั่นเอง