ควีนเอลิซาเบธที่ 2 แฟชั่นไอคอนระดับโลก ชุดสีแสบตากับความหมายที่แฝงในการแต่งกาย

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง
ในการจัดอันดับผู้หญิงทรงอิทธิพล หรือจัดอันดับผู้หญิงที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับโลก มีชื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 หรือ “ควีนเอลิซาเบธ” แห่งสหราชอาณาจักรอยู่ในลิสต์เสมอ ด้วยพระราชสถานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ของราชอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ ประเทศที่มีชื่อเสียง อีกทั้งราชวงศ์วินด์เซอร์ของพระองค์ก็เป็นราชวงศ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน

อีกด้านหนึ่งที่ควีนเอลิซาเบธมีชื่อเสียงเป็นที่จับตามองมากไม่แพ้พระราชสถานะก็คือ สไตล์การแต่งกายของพระองค์ที่พูดได้เลยว่า อยู่ในขั้น “แฟชั่นไอคอน” อันดับต้น ๆ ของโลก

แม้ว่าจะต้องปฏิบัติหน้าที่หนักอึ้งสักแค่ไหน เรื่องการแต่งตัวและความสวยความงามก็ยังเป็นสิ่งที่ผู้หญิงให้ความสำคัญอยู่เสมอ ยิ่งเป็นผู้หญิงระดับโลกที่ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวอะไรก็มีคนจับตามอง ก็ยิ่งต้องใส่ใจกับเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ ซึ่งควีนเอลิซาเบธก็เข้าใจเรื่องนี้และทำได้เป็นอย่างดีเสมอมา นับตั้งแต่ที่พระองค์ยังเป็นเจ้าหญิงรัชทายาท จนถึงปัจจุบันที่ครองราชย์มาเกือบ 70 ปี

สุภาพสตรีชุดสีชมพูด้านขวามือคือ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี หรือ “ควีนมัม”

ควีนเอลิซาเบธแต่งกายโดดเด่นเสมอเมื่อปรากฏพระองค์ และโดดเด่นที่สุดในทุกงานที่พระองค์เสด็จไป แม้แต่ในเวลาที่แฟชั่นไอคอนอย่างแคเทอรีน ดัชเชส แห่งเคมบริดจ์ และ เมแกน ดัชเชส แห่งซัสเซกซ์ ตามเสด็จด้วยก็ยังสู้ควีนไม่ได้ หากย้อนกลับไปดูรูปถ่ายที่พระองค์ออกงานตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่า มีเพียงคนเดียวที่โดดเด่นกว่าพระองค์ได้ก็คือ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี หรือ “ควีนมัม” พระราชชนนีของพระองค์นั่นเอง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาควีนเอลิซาเบธที่ 2 ปรากฏพระองค์ผ่านสื่อทั้งสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันราชาภิเษกของพระองค์ ต่อด้วยการต้อนรับ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา พร้อมภริยาที่เยือนอังกฤษอย่างเป็นทางการ จากนั้นก็เป็นพิธีฉลองวันเกิด (ครั้งที่ 2) ของพระองค์ในวันที่ 8 มิถุนายน การเจอกันของควีนกับประธานาธิบดีสหรัฐและภริยานั้นน่าทึ่งมาก เมื่อควีนเอลิซาเบธที่พระชนมายุ 93 พรรษาโดดเด่นกว่าสตรีหมายเลข 1 ซึ่งโดยส่วนมากแล้วจะโดดเด่นกว่าใคร

ในช่วงที่เป็นเวลาของพระองค์ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จึงอยากนำเสนอเรื่องสไตล์การแต่งกายของควีนเอลิซาเบธ ซึ่งมีหลากหลายแง่มุมน่าสนใจ โดยจะหลีกเลี่ยงการใช้คำราชาศัพท์เพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ

ควีนสไตล์ ต้องคุมโทน สีเดียวสะกดทุกสายตา

สไตล์ของควีนเอลิซาเบธในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นซิกเนเจอร์ของพระองค์ก็คือ การแต่งชุดคุมโทน เลือกสีที่สดใส (สดใสมากถึงขั้นแสบตา) โดดเด่นที่สุดเพียงสีเดียวทั้งชุด หรือถ้าพูดภาษาวัยรุ่นหน่อยก็คือ “สีเจ็บ ๆ สีเดียวเอาอยู่”

 

Photo by Adrian DENNIS / AFP

หากจะมีใครที่ใส่เสื้อผ้าได้ทุกสีเท่าที่มีในโลกก็คงจะไม่มีใครเกินพระองค์ไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีช็อกกิ้งพิงก์ สีเขียวสะท้อนแสง สีเทอร์ควอยส์ เดอะควีนล้วนเคยสวมใส่ออกงานมาหมดแล้ว

สไตล์การแต่งกายอันโดดเด่นของควีนเอลิซาเบธประกอบด้วยแพตเทิร์นเสื้อผ้าที่หลัก ๆ โปรดสวมโค้ตตัวยาวคลุมลงมาประมาณครึ่งแข้ง ดีไซน์เรียบ ๆ ใช้ผ้าเนื้อหนาสีพื้นสีเดียวทั้งตัว ส่วนเดรสตัวในจะเป็นผ้าสวมใส่สบาย ๆ สีเดียวกันกับโค้ตตัวนอก อาจจะมีลวดลายบ้าง สีพื้นบ้าง แต่เราไม่ค่อยได้เห็นกันนัก เพราะพระองค์ไม่ค่อยถอดโค้ตออก หรือบางครั้งอาจจะสวมเดรสชิ้นเดียวไม่มีโค้ต ซึ่งจะเห็นเป็นส่วนน้อย

Celebrate the Queen’s 90th birthday (Photo by JUSTIN TALLIS / AFP)

โอเวอร์โค้ตชิ้นหลักจะถูกแมตช์เข้ากับชิ้นสำคัญรองลงมาคือแอ็กเซสซอรี่บนศีรษะ โดยส่วนใหญ่แล้วพระองค์มักจะสวมหมวกปีกกว้างสีเดียวกันกับชุด ซึ่งบนหมวกก็มักจะประดับดอกไม้ช่อโตสีเดียวกันเพิ่มความเด่น ในกรณีที่รีแลกซ์หน่อยถ้าไม่สวมหมวกก็จะมีผ้าโพกศีรษะหรือผ้าผูกผมสีเดียวกับชุด ส่วนถ้าเป็นงานกลางคืนเราก็จะเห็นควีนสวมเทียร่า หรือรัดเกล้าประดับอัญมณีวิบวับเข้าคู่กับชุดราตรีที่วิจิตรตระการตาเสมอ และแน่นอนว่าถ้าเป็นพิธีการที่เป็นทางการควีนจะสวมมงกุฎ น้อยครั้งมากที่จะเห็นควีนปรากฏพระองค์โดยไม่มีอะไรอยู่บนศีรษะ

Photo by Dominic Lipinski / POOL / AFP

นอกจากนั้น พระองค์มีไอเท็มใหม่เข้าชุดคุมโทนก็คือ ร่มพลาสติกใสที่มีแถบสีเดียวกับชุดมาเพิ่มความโดดเด่นขึ้นไปอีก

ในส่วนรองเท้า พระองค์โปรดรองเท้าหนังสีดำหรือสีโทนเรียบ ๆ อย่างสีนู้ด และสีน้ำตาล แต่ก็มีบางครั้งที่สวมรองเท้าบูตยาวสุดชิกอย่างน่าทึ่งในวัยหลัก 8 หลัก 9 ส่วนถุงมือนั้นโปรดสวมสีดำหรือขาว

กระเป๋าโปรดใช้สีดำเป็นที่สุด รองลงมาก็เป็นสีสุภาพ ๆ อย่างสีครีม กระเป๋าแบรนด์โปรดของพระองค์ คือ Launer แบรนด์กระเป๋าระดับ luxury ของอังกฤษที่ได้รับตรา The Royal Warrant เป็นผู้จัดหาสินค้าให้ราชวงศ์อย่างเป็นทางการ ตามรายงานข่าวของ The Telegraph บอกว่าพระองค์มีกระเป๋าแบรนด์นี้อยู่มากถึง 200 ใบเลยทีเดียว

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็น Queen’s style ที่แทบไม่ต้องลุ้นว่าเวลาออกงานแต่ละครั้งควีนจะแต่งกายรูปแบบไหน เพราะในช่วงสิบกว่าปีมานี้ หากไม่ใช่งานที่ต้องแต่งชุดเครื่องแบบทางการหรืองานกลางคืน พระองค์ก็มักจะปรากฏพระองค์ในแพตเทิร์นที่กล่าวไป แต่สิ่งที่ประชาชนและแฟนคลับราชวงศ์อังกฤษลุ้นกันก็คือ ควีนจะสวมชุดสีอะไร ถ้าเป็นการเสด็จออกงานสำคัญ ๆ จะมีการแทงพนันสีชุดของควีนกันด้วย

การแต่งกายของควีนเอลิซาเบธที่ 2 เป็นการแต่งกายที่เข้าใจศิลปะการแต่งกายเป็นอย่างดี คือ รู้ว่าการแต่งกายควรมีส่วนที่เน้นให้โดดเด่น และส่วนอื่นที่เหลือควรเรียบ เพราะถ้าทั้งตัวมีสีเจ็บ ๆ หลายชิ้นคงจะไม่ไหวแทนที่จะเป็นการเน้นให้โดดเด่นกลับเป็นสีตีกันอย่างไม่มีสไตล์ไปเลย

 

วิวัฒนาการแฟชั่นจากวัยสาวถึงวัย 90

ตั้งแต่ยังเป็นเจ้าหญิงรัชทายาทจนเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี ค.ศ. 1952 ในช่วงทศวรรษ 1940-1950 ช่วงที่ยังสาวพระองค์โปรดสวมเดรสยาวบานเน้นทรวดทรงองค์เอว ช่วงตัวเข้ารูปและบานช่วงสะโพกลงไป มักจะเป็นผ้าเนื้อบางเบาพลิ้วไหว เพิ่มความอ่อนหวาน เป็นดีไซน์แบบเฟมินีนมาก ๆ ซึ่งเป็นที่นิยมในยุคนั้น ส่วนบนศีรษะจะผูกโบหรือมีผ้าผูกผมเก๋ ๆ หรือประดับดอกไม้ ในกรณีที่ต้องการเพิ่มความเป็นทางการจะเลือกสวมโค้ตยาวมีปก ช่วงเอวเข้ารูป

The Queen visit the Northern Province of Sierra Leone on December 4, 1961 . (Photo by STRINGER / AFP)

ทศวรรษ 1960 เป็นยุคที่ควีนทรงงานเยอะและเสด็จฯเยือนประเทศเครือจักรภพ ยุคนี้ก็ยังโปรดเดรสยาว กระโปรงบาน เอวคอด แต่ปรับให้เป็นทางการด้วยดีไซน์เสื้อที่มีปก ใช้ผ้าหนาเรียบอยู่ทรง แมตช์เข้ากับผ้าผูกผม ออกมาเป็น look ที่ได้ทั้งความเป็นทางการและสวยเก๋ในเวลาเดียว ส่วนการเสด็จงานพิธีการที่ต้องสวมเครื่องแบบสายสะพาย ในยุคนี้เป็นยุคที่ควีนทรงสวมชุดแขนกุด ซึ่งไม่ค่อยได้เห็นกันในยุคหลังจากนั้นมา

Queen Elizabeth II attends a horse race at Longchamp racecourse, outside Paris in May 1972 during her official visit in France. (Photo by – / AFP)

ในช่วงทศวรรษ 1970 สไตล์ของควีนเอลิซาเบธเริ่มเปลี่ยนไปมาก พระองค์เริ่มสวมหมวกใบใหญ่และชุดดีไซน์เรียบ ๆ แบบที่คุ้นตาในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแบบพลิกทั้งหมดในทันที ยังคงแต่งสไตล์เดิม ๆ อยู่ด้วยตามความเหมาะสมแต่ละงาน

Britain’s Queen Elizabeth II visit Australia on April 23, 1988. (Photo by PATRICK RIVIERE / AFP)

ทศวรรษ 1980 พระองค์ชัดเจนเรื่องการคุมโทนสีเดียวและหมวกปีกใบใหญ่ แต่ยุคนั้นแพตเทิร์นชุดยังไม่ตายตัวมากนัก ยังมีหลายแพตเทิร์นและมีลายดอกไม้ แต่มีคอนเซ็ปต์สีชัดเจนว่าต้องมีสีหลักเพียงสีเดียว

เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1990 ควีนเริ่มชัดเจนกับการแต่งกายรูปแบบดีไซน์เรียบง่าย สีเดียวทั้งชุดและหมวก บางงานสวมเดรสดีไซน์เรียบ ๆ ชิ้นเดียว บางงานสวมโค้ตตัวยาวทับอีกชั้น แต่ก็ยังโปรดสวมเดรสลายดอกไม้ในการเสด็จออกอย่างไม่เป็นทางการ เช่นเวลาที่ให้คนเข้าเฝ้าส่วนพระองค์

Queen Elizabeth II dressed in a green outfit, mingles with the crowds 11 July 2001. (Photo by JOHN STILLWELL / POOL WPA / AFP)

ทศวรรษ 2000 การแต่งกายของพระองค์คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง ยึดสไตล์ที่เริ่มมาตั้งแต่ยุค 1990 และเน้นให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ปี 2002 พระองค์ทรงแต่งตั้งให้แองเจลล่า เคลลี่ (Angella Kelly) เป็นที่ปรึกษาและผู้จัดการดูแลเรื่องการแต่งกาย ด้วยหน้าที่นี้เธอเป็นคนให้คำปรึกษาวางแผนการแต่งกาย เป็นคนเลือกสรรเสื้อผ้า และเป็นคนออกแบบเสื้อผ้าให้ควีนด้วย

นอกจากวิวัฒนาการที่ว่ามา ทุก ๆ ปีในการเสด็จเข้าร่วมงาน Royal Windsor Horse Show ควีนจะแต่งกายแบบลำลองสบาย ๆ เพื่อความคล่องตัว อย่างในปีนี้ทรงสวมแจ็กเกตสีเขียวขี้ม้า และโพกศีรษะด้วยผ้าลายดอกไม้

แอ็กเซสซอรี่ชิ้นโปรดอย่างหนึ่งของควีนทรงใช้มาตั้งแต่ยุค 1940 คือผ้าโพกศีรษะ ซึ่งยังใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ในเวลาที่เสด็จออกภาคสนาม งานที่ไม่ต้องแต่งตัวเป็นทางการ

ไม่ว่าจะสวมชุดรูปแบบไหน ระดับความเป็นทางการมากหรือน้อย ก็ดูเหมือนว่าบนศีรษะของพระองค์ไม่เคยเว้นว่างเลยตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าธรรมเนียมของอังกฤษที่ให้ผู้หญิงสวมหมวกในงานที่เป็นทางการนั้นผ่อนปรนลงกว่าครึ่งศตวรรษ

 

ความหมายที่ซ่อนในเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย

ที่เห็นกันว่าควีนโปรดสวมชุดมีสีสันและหมวกใบใหญ่ ๆ ประดับดอกไม้ช่อโตนั้น ไม่ใช่เพียงเหตุผลเรื่องความสวยงามทางแฟชั่นเท่านั้น แต่ในเสื้อผ้าหน้าผมนั้นมีเหตุผล และบางครั้งมีนัยแฝงอยู่ด้วย

เหตุผลของการเลือกสีสันสดใสและหมวกใบโตนั่นก็เพราะพระราชินีต้องการให้พระองค์โดดเด่นเมื่ออยู่ท่ามกลางฝูงชน ซึ่งก็สำเร็จสมดังพระประสงค์จริง ๆ

“ถ้าฉันสวมชุดสีเบจ คงไม่มีใครรู้ว่าฉันเป็นใคร” พระราชินีเคยตรัสเรื่องนี้

ส่วนหมวกนั้น แคโรไลน์ เดอ กีเตาต์ (Caroline de Guitaut) นักเขียนที่เคยเขียนหนังสือชีวประวัติของควีนบอกกับ The New York Times ว่า “หมวกของพระราชินีไม่ได้มีไว้แค่ขำ ๆ พระราชินีทรงตระหนักอยู่เสมอว่าพระองค์ต้องการโดดเด่นจากฝูงชน และด้วยเหตุนี้หมวกจึงมีบทบาทสำคัญในตู้เสื้อผ้าของพระองค์เสมอ หมวกทำให้ผู้คนเห็นพระองค์ได้ในทันที”

Britain’s Queen Elizabeth II stands with Abu Dhabi Crown Prince Sheikh Mohammed bin Zayed al-Nahayan upon their arrival to visit the Sheikh Zayed Grand Mosque in the Emirati capital on November 24, 2010. (Photo by MARWAN NAAMANI / AFP)

นอกจากเรื่องความโดดเด่นแล้ว ควีนและผู้ดูแลการแต่งกายยังใส่ใจรายละเอียด มีการคิดมาแล้วว่าแต่ละชุดต้องเหมาะกับงาน เป็นการให้เกียรติและแสดงความใส่ใจต่องานนั้น ตัวอย่างเช่น ทรงสวมเดรสลายดอกไม้ไปร่วมงาน Chelsea Flower Show หลาย ๆ ปี หรืออย่างการเสด็จฯงานกาล่าที่ฮอลลีวูดเมื่อปี 1983 พระองค์สวมเดรสที่มีลายดอกป็อปปี้สีเหลือง ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำรัฐแคลิฟอร์เนีย เนื่องจากฮอลลีวูดตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย รวมถึงสวมชุดสีแดงสดในการเสด็จฯเยือนจีนเมื่อปี 1986 และสวมชุดสีครีม สวมหมวกและผ้าคลุมผมแบบผู้หญิงมุสลิมในการเสด็จเยือนฯสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เมื่อปี 2010

Britain’s Prince Charles and Queen Elizabeth II’s during the State Opening of Parliament in the Houses of Parliament in London on June 21, 2017. (Photo by Arthur Edwards / various sources / AFP)

ในบางกรณี การแต่งกายของควีนถูกตีความว่าเป็นการส่งเมสเสจทางการเมือง ซึ่งพระองค์ตั้งใจอย่างนั้นจริงหรือไม่ เราก็ไม่อาจสรุป อย่างล่าสุดที่เสด็จฯเปิดการประชุมรัฐสภา ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปีที่พระองค์ไม่ได้สวมเครื่องแบบและมหามงกุฎ ประเด็นอยู่ที่ควีนสวมชุดและหมวกสีม่วงประดับดอกไม้สีเหลืองกลม ๆ เล็ก ๆ หลายดอก ซึ่งคนจำนวนมากมองว่าคล้ายธงอียู และตีความว่าควีนกำลังส่งเมสเสจต่อกรณีเบร็กซิต

เฉพาะเรื่องแฟชั่นการแต่งกายยังสนุกขนาดนี้ ซึ่งนี่เป็นเพียงแค่ด้านเดียวในชีวิตของพระองค์เท่านั้น พระราชินีผู้ครองสถิติโลกพระองค์นี้ยังมีเรื่องราวน่าสนใจอีกมากมายให้เราติดตามและพูดถึงในอนาคต