Sex Creator-Sex Worker เทคโนโลยีเปลี่ยน อาชีพเปลี่ยน

นิยามความหมายคำว่า “อาชีพ” ที่เป็นการหารายได้เลี้ยงชีพในยุคปัจจุบันแทบจะนิยามยากเสียเหลือเกินว่า การหารายได้ในปัจจุบันที่เรียกว่าอาชีพมีอะไรบ้าง ลองนึกภาพตามไปพร้อม ๆ กันว่า ปัจจุบันมีอาชีพอะไรบ้างที่นอกเหนือนิยาม หรือการจินตนาการของเราไปบ้าง

ย้อนกลับไปในแบบฟอร์มที่จะมีช่องให้ติ๊กกรอกข้อมูลว่า ประกอบอาชีพอะไร เช่น รับจ้าง, พนักงานเอกชน, รับราชการ, ธุรกิจส่วนตัว เป็นต้น เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ในช่องดังกล่าวก็จะมีนิยามอาชีพที่เปลี่ยนไป เช่น ฟรีแลนซ์, ขายของออนไลน์, มาร์เก็ตติ้ง และอีกหลายต่อหลายอาชีพที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

กระทั่งปัจจุบันอาชีพที่ร้อนแรงในยุคนี้ คงหนีไม่พ้นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับ “ออนไลน์” แล้วมีอะไรบ้างล่ะ ถ้ากล่าวถึง Youtuber หรือ blogger ทุกคนคงรู้จัก, steamer ทุกคนก็คงรู้จักอีกเช่นกัน ยังมีอีกเช่น trader หรือนักเก็งกำไร

และตัวอย่างสุดท้ายที่จะยกตัวอย่าง คือ content creator หรืออาชีพสร้างสรรค์เนื้อหาเพื่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งข้อความ รูปภาพ และวิดีโอ ผ่านช่องทางต่าง ๆ

มาถึงบรรทัดนี้ไม่พูดถึงอาชีพที่กำลังถูกพูดถึงอย่างมากสำหรับกรณีเคสของ “น้องไข่เน่า” หรือ ตะวัน อายุ 19 ปี ซึ่งสร้างคอนเทนต์มีเพศสัมพันธ์กับแฟนหนุ่มเผยแพร่บนเว็บไซต์ OnlyFans กระทั่งล่าสุด ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ “ตำรวจไซเบอร์” ดำเนินคดีตามหมายจับศาลจังหวัดสมุทรปราการ ที่ 444/2564 และ 445/2564 ลงวันที่ 20 กันยายน 2564

ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ร่วมกันทำ ผลิต มีไว้ หรือนำเข้า หรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือทำให้แพร่หลายโดยประการใด ๆ อันลามก เพื่อความประสงค์แห่งการค้า เพื่อแจกจ่าย หรือเพื่อการแสดงแก่ประชาชน มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ต่อมาประเด็นดังกล่าวขยายวงกว้างเป็นที่ถูกกล่าวถึง เมื่อ พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ภายหลังสอบปากคำผู้ต้องหาว่า

การจับกุมดังกล่าวไม่กังวลว่าจะมีคนวิจารณ์เพราะทำตามหน้าที่ ไม่สามารถปล่อยผ่านกรณีของไข่เน่าได้ เพื่อจรรโลงความถูกต้องในศีลธรรมอันดีของประเทศไทย ซึ่งส่งผลต่อเยาวชนที่จะเติบโตมา ถือเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู ทั้งคนทำและคนที่แสดงความเห็น

ประเด็นดังกล่าวได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างมากถึง สิทธิส่วนบุคคลในการใช้ร่างกายหารายได้เลี้ยงชีพโดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น พร้อมประเด็นการกล่าวถึงเรื่องทางเพศในประเทศไทยที่มองเป็นสิ่งที่ไม่ปกติ รวมถึงการเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณารับรองอาชีพดังกล่าวและที่เกี่ยวเนื่องเป็นอาชีพถูกกฎหมาย เพื่อที่จะสามารถควบคุมดูแล โดยหยิบยกประเด็นในลักษณะเดียวกันของต่างประเทศเปรียบเทียบ

OnlyFans คืออะไร ?

OnlyFans คือเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาหลากหลาย และมีพื้นที่สำหรับการอัพโหลดรูปภาพและวีดิโอ มีฟังก์ชั่นการสมัครสมาชิกโดยมีค่าใช้จ่ายในการรับชมเนื้อหาเฉพาะบัญชีผู้ใช้ที่สนใจ แรกเริ่มเดิมทีเว็บไซต์ดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ เปิดบริการตั้งแต่ปี 2016 และเริ่มได้รับความสนใจจากผู้ผลิตคอนเทนต์ทางเพศในต่างประเทศ

กระทั่งเผยแพร่เข้ามาในประเทศไทย และมีเหล่าบรรดาผู้ผลิตคอนเทนต์ทางเพศในไทยเริ่มใช้ตามมาทั้งในรูปแบบของภาพถ่ายเซ็กซี่ วิดีโอการมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น โดยปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 120 ล้านคน และผู้ผลิตวิดีโอจำนวนประมาณ 1 ล้านคน มีรายได้ประมาณ 2,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีที่ผ่านมา

เรื่องลับ ๆ ที่ไม่ลับอีกต่อไป

กรณี น้องไข่เน่า เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์รายหนึ่งในเว็บไซต์ OnlyFans ซึ่งนำเสนอคลิปวิดีโอทางเพศระหว่างเธอและแฟน จนกระทั่งมีผู้ติดตามมากมายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยสิ่งที่เรา ๆ ท่านๆ ได้เห็นในข่าวนั้น เป็นการถูกนำเอาคลิปวิดีโอไปเผยแพร่นอกเว็บไซต์ดังกล่าว ซึ่งเธอเองยืนยันว่าเนื้อหาดังกล่าว เธอและแฟนยินยอมที่จะเผยแพร่ในเว็บไซต์ดังกล่าว ซึ่งผู้ที่จะสามารถรับชมได้นั้นจะต้องสมัครสมาชิกเท่านั้น

กรณีนี้สะท้อนอะไร ?

หากลองมองกลับไปถึงกรณีหนึ่ง คือ “การเล่นเกม” เชื่อมโยงกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเด็กและเยาวชนในสังคมไทยมาโดยตลอด และไม่เคยมีกฎหมายใดรองรับว่า นั่นคือ “อาชีพ” กระทั่งมีการแข่งขันในระดับโลกที่มีเงินรางวัลระดับหลักสิบหลักร้อยล้านบาท (จริง ๆ แล้วมีมานานในการจัดการแข่งขันในระดับทัวร์นาเมนต์)

โดยในที่สุดจึงเกิดนิยามศัพท์ใหม่ที่เกิดขึ้น ที่ในวันนี้เรารู้จักกันในชื่อว่า “e-Sport” และบรรจุเป็นกีฬาและรับรองผู้เล่นเกมเป็นอาชีพนักกีฬาในที่สุด ซึ่งกว่าที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยจะรับรองได้ก็ผ่านไปนาน กระทั่งทีมผู้เล่นเกมเด็กไทยไปสร้างชื่อในเวทีโลกนั่นแหละ

เช่นเดียวกัน กรณี น้องไข่เน่า แม้จะดูผิดศีลธรรมอันดีของประเทศไทย ในสายตาของใครต่อใคร แต่ถ้าพิจารณาจาก “ความจริง” ตามหลักการตลาด คือ เธอคือผู้ขายคอนเทนต์ โดยมีช่องทางการขาย คือ OnlyFans จับกลุ่มลูกค้า คือ ผู้ที่มาเสียเงินสมัครสมาชิกในบัญชีผู้ใช้ของเธอ ก็เป็นกระบวนการทางการตลาดที่ยินยอมพร้อมใจกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ที่ไม่มีใครเดือดร้อน และก่อให้เกิดความเสียหาย

จนกระทั่งเธอไปให้สัมภาษณ์ในคอนเทนต์ของช่องยูทูบแห่งหนึ่ง และถูกแชร์ออกไปเป็นจำนวนมาก โดยเนื้อหานั้น เธอเล่าถึงอาชีพที่เธอทำนั้นสร้างรายได้ให้กับเธอมากแค่ไหน อย่างไร และเธอคิดอะไรถึงได้เลือกทำแบบนั้น โดยพยายามจะสื่อสารว่า สิ่งที่เธอทำนั้น คือ “อาชีพ” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่เธอถูกจับ

นอกจากนั้น กรณีดังกล่าวยังถูกเชื่อมโยงไปถึง “อาชีพค้าบริการทางเพศ” หรือ sex worker อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งแม้จะไม่ใช่เป็นกรณีที่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ถูกหยิบยกมาเช่นเดียวกันว่า ใช้ร่างกายในการหารายได้เลี้ยงชีพเช่นกัน

หลายประเทศไม่ผิด แต่ในไทยผิด

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ตามที่มีบุคคลที่เรียกตัวเองว่า เซ็กซ์ครีเอเตอร์ (sex creator) หรือพอร์นฮับเบอร์ (porn hubber) นำภาพหรือคลิปของตนเองในลักษณะลามกอนาจารเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มลับต่าง ๆ ที่เปิดรับสมาชิกและมีการเรียกเก็บค่าเข้ากลุ่ม

การกระทำดังกล่าวนั้นถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดในลักษณะดังกล่าวมาโดยตลอด แม้พฤติการณ์ดังกล่าวในหลายประเทศอาจถือว่าไม่เป็นความผิด แต่สำหรับประเทศไทย กฎหมายได้บัญญัติไว้เป็นความผิด

เทคโนโลยีเปลี่ยน ช่องทางเปลี่ยน

หากย้อนกลับไปถึง “อาชีพที่ใช้ร่างกายหารายได้เลี้ยงชีพ” จะไม่กล่าวถึงการค้าประเวณีก็คงไม่ได้ เพราะหากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การค้าประเวณีมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และต่อมาในปี 2503 ได้มีการออก พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503

ต่อมาในปี 2539 ได้เปลี่ยนเป็น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ซึ่งโดยสรุปคือ การค้าประเวณีเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และมีโทษทางอาญาแก่ผู้ซื้อ ผู้ขาย และเจ้าของสถานบริการ

แต่กระนั้น การค้าประเวณีก็อาจจะไม่หมดไปเสียทีเดียว เพียงแต่ถูกเลี่ยงบาลี เลี่ยงคำอื่น ทำให้กลายเป็นธุรกิจสีเทา กล่าวไปก็ร้อง อ๋อ… ว่าสถานที่แห่งไหน หรือถนนเส้นใด

ถึงวันนี้ รูปแบบการใช้ร่างกายหารายได้เลี้ยงชีพ อาจจะเปลี่ยนไปเป็น การซื้อ-ขายรูป หรือคลิปลับเฉพาะ หรือจะเป็นการวิดีโอคอล, การ live กลุ่มลับ หรือใด ๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่อาจเปิดช่องโหว่ ช่องว่าง รวมถึงการเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี ที่หลังจากนี้ก็ไม่อาจรู้ได้เช่นกันว่าจะเป็นรูปแบบใด บนช่องทางใด

หลายประเทศทำสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ให้ควบคุมได้

อีกเรื่องที่ต้องยกตัวอย่าง คือ “sex toy” และ “sex content” ที่เป็นสิ่งปกติมีขายตามหัวมุมถนน หรือในร้านซูเปอร์มาร์เก็ต อย่าง “ประเทศญี่ปุ่น” ที่ถูกหยิบยกมาเป็นโมเดลอยู่เสมอถึงการบริหารจัดการสินค้าและบริการทางเพศ

โดยประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมา คือ หนังโป๊-sex toy ถูกกฎหมาย ทางเลือกใหม่ในการลดปัญหาข่มขืนในประเทศไทย ? โดย “ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส” อดีตโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ ของสภาผู้แทนราษฎร

ในการกล่าวถึงดังกล่าวมีหลายส่วน ทั้งบทลงโทษ และสถิติ ของการก่อเหตุข่มขืน แต่เมื่อพิจารณาถึงธรรมชาติความเป็นมนุษย์ และสิ่งที่จะช่วยลดความต้องการทางเพศ หนังโป๊ และอุปกรณ์ช่วยเหลือทางเพศ น่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถช่วยลดอัตราการข่มขืนได้ เพราะแทนที่จะไปปลดปล่อยกับผู้อื่น ก็จะได้มีที่ทางให้ปลดปล่อยลงที่สิ่งเหล่านี้แทน