น่านโมเดล “บัณฑูร ล่ำซำ” เซตซีโร่แก้กฎหมาย-ปรับพื้นที่ทำกิน

ปัญหาป่าน่านเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของประเทศไทยที่ยังหาทางออกไม่ได้ เพราะยังมีการบุกรุกพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่องเพื่อปลูกเป็นไร่ข้าวโพด โดยที่ผ่านมามีหลายฝ่ายยื่นมือเข้ามาร่วมแก้ปัญหา รวมถึงบิ๊กนักธุรกิจอย่าง “บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ที่จับปัญหาป่าน่านอย่างจริงจัง ทั้งยังเป็นหัวหอกสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ป่าของ จ.น่าน

12 มกราคม 2561 “บัณฑูร” จัดประชุมผู้นำชุมชน 99 ตำบลใน จ.น่าน เพื่อบอกเล่าถึงแนวคิดและแผนการดำเนินงานของการแก้ปัญหาป่าน่านที่ทำกันมาหลายปี แต่ไม่สามารถฟื้นฟูสภาพป่ากลับมาได้ หนำซ้ำตัวเลขพื้นที่ป่ายังลดลงไปอีก และปัญหาก็หนักหนาสาหัสเต็มที เนื่องจากน่านอยู่บนป่าสงวนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

รัฐบาลเปิดทางทำ “sandbox”

เบื้องต้น “บัณฑูร” ยอมรับว่ามีหลายคนในรัฐบาลที่เป็นกองเชียร์ในการผลักดันให้ปัญหาป่าน่านเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข ซึ่งหลายคนตั้งใจดีกับ จ.น่าน ถ้าไม่มีคนเหล่านี้ช่วยดัน ผมไม่สามารถมายืนอยู่ตรงนี้ได้

“ล่าสุดเรื่องถูกเสนอไปยังคณะกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยคณะกรรมการชุดนี้ได้ประชุมไปเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2560 มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และท่านวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันที่จะเสนอเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ซึ่งนายกฯได้อนุมัติให้ทำ sandbox หรือการพัฒนาและรังสรรค์นวัตกรรมรูปแบบใหม่ โดยใช้พื้นที่ จ.น่านเป็นเหมือนห้องทดลองเล็ก ๆ หวังว่าเมื่อแก้ปัญหาได้ บทเรียนจาก จ.น่านจะสามารถนำไปใช้ในพื้นที่อื่นได้ด้วย”

หลังจากอนุมัติให้ทำ ก็มีคณะกรรมการดำเนินงาน ซึ่งมีผมเป็นประธาน และประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดลงไป รวมถึงคนที่มีความสามารถในการร่วมจัดการ เพื่อทำงานเป็นทีม โดยมีคณะกรรมการกำกับเชิงนโยบายที่จะกำกับอยู่ข้างบน อันมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รวมถึงรัฐมนตรีจากกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น

“ดังนั้น เห็นได้ว่ารัฐบาลยังคุมอยู่ แต่เป็นการคุมอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ได้คุมผ่านกระทรวง นี่เป็นรูปแบบที่ไม่เคยปรากฏในการทดลองแก้ปัญหาของประเทศ เพราะเป็นการรวมทีมงานของทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน และรวมเอาคนที่ไม่ได้เป็นราชการ หรือบุคคลธรรมดาเข้ามาทำด้วย อย่างผมเองก็ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ และไม่ได้กินเงินเดือนรัฐ แต่แค่อาสามาคุยกับชุมชน เพื่อให้ได้รูปแบบแล้วนำกลับไปเสนอรัฐบาล ซึ่งหากรัฐบาลตกลง คงต้องไปแก้กฎหมาย เพื่อให้ข้อตกลงสามารถทำได้”

ปลูกพืชเศรษฐกิจแทนปลูกข้าวโพด

หากมองภาพรวมของ จ.น่าน มีพื้นที่ป่าสงวน 6.4 ล้านไร่ แต่ปัจจุบันหายไป 1.8 ล้านไร่ หรือถูกทำลายไปแล้ว 28% ซึ่งการแก้ปัญหาต้องพบกันครึ่งทางระหว่างรัฐกับประชาชน จึงจะเป็นประชารัฐอย่างแท้จริง โดย “บัณฑูร” มองว่าปัจจุบันประชาชน จ.น่านอยู่ในภาวะที่ผิดกฎหมาย สืบเนื่องมาจากการประกาศพื้นที่ป่าสงวนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทุกคนที่เคยอยู่ในพื้นที่นั้นมาก่อน ต่างติดอยู่ในความไม่ถูกต้องที่ตัวเองไม่ได้ทำ ซึ่งจะไปยกเลิกกฎหมายก็ไม่ได้ ประชาชนจึงมีข้อจำกัดไปหมด ดังนั้น จะแก้ปัญหาป่าน่านได้ ต้องแก้กฎหมายก่อน

“จาก 100% ที่เป็นป่าสงวนของ จ.น่าน ตอนนี้เหลือแค่ 72% ข้อเสนอของเราคือพบกันครึ่งทาง ด้วยการนำพื้นที่กลับมาปลูกเป็นป่า 18% โดยให้ปลูกพืชเศรษฐกิจใต้ต้นไม้ใหญ่ได้ และอีก 10% จะให้ปลูกพืชเศรษฐกิจเต็มที่ แต่ยังคงเป็นป่าสงวนโดยกฎหมาย อย่างไรก็ดี ต้องเป็นการทำมาหากินในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งไม่ใช่การปลูกข้าวโพด ไม่ใช่พืชเชิงเดี่ยว เพราะคำนวณรายได้ออกมาแล้วชีวิตอยู่ไม่ได้ โลกนี้มีอะไรที่น่าสนใจอีกเยอะ อย่าคิดอับจนอยู่แค่ได้กำไรเพียง 5-10% แต่ต้องคิดเพิ่มเป็นเท่าตัว”

แก้กฎหมาย-ปรับพื้นที่ทำกิน

“บัณฑูร” จึงตั้งข้อเสนอว่าอันดับแรกเราต้องตกลงกันก่อนว่าจะจัดสรรพื้นที่อย่างไร ซึ่งป่าสงวนของ จ.น่านที่ถูกทำลายไป 28% จะไม่เอามาปลูกคืน คงเป็นไปไม่ได้ ต้องมีตัวเลขตรงกลางให้รัฐบาลพูดได้ว่าเขาก็ได้ป่าคืนมา และประชาชนก็ได้สิทธิ์ในการทำมาหากิน จะไม่มีใครผิดกฎหมายอีกต่อไป เป็นการเซตซีโร่ และเริ่มต้นใหม่

สิ่งที่แต่ละตำบลต้องทำคือเสนอสถานการณ์ของตำบลตัวเองให้เห็นว่าพื้นที่ตำบลของตัวเองมีป่าสงวนเท่าไร มีพื้นที่ที่ทำลายป่าเท่าไร โดยผมจะให้ภาพโฉนดที่ดินกับผู้นำชุมชนทั้ง 99 ตำบล ซึ่งเป็นภาพถ่ายดาวเทียม และตัวเลขพื้นที่ที่เราได้จากการร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และ ม.เชียงใหม่ โดยให้นำข้อมูลไปดูกันในตำบล แล้วยืนยันกลับมาว่าถูกต้องหรือไม่ หลังจากนั้น แต่ละตำบลต้องไปตกลงกันว่าจะจัดสรรพื้นที่อย่างไร ส่วนไหนที่จะยอมให้เป็นพื้นที่คืนกลับไปเป็นป่าที่สมบูรณ์ หรือพื้นที่ไหนที่จะเอาไว้สำหรับการทำพื้นที่ทำกิน

“ผมพูดกับรัฐบาลไปแล้วว่าถ้าความสามารถในการสร้างรายได้/ไร่/คน ไม่สูงถึงขั้นที่จะเลี้ยงชีวิตได้ โครงการนี้ต้องล้ม ดังนั้น ให้ตั้งเป้ามาเลยว่า 1 ไร่ของแต่ละคนต้องการรายได้เท่าไร แล้วเราจะไปหาทางที่จะทำให้รายได้เกิดขึ้นให้ได้ ด้วยการค้นหาวิธีการทำมาหากินอื่น ซึ่งอยากให้ได้ข้อมูลมาเร็วที่สุด เพื่อรวบรวมแล้วนำเสนอต่อรัฐบาล แต่หากภายใน 1 ปี ผมไม่สามารถกลับไปบอกรัฐบาลได้ว่าผมมีข้อเสนอที่ฟังดูแล้วพอรับได้ ก็สลายตัว ตัวใครตัวมัน ดังนั้น ทุกคนมีเวลาจำกัด และรัฐบาลก็มีเวลาจำกัด เราจะต้องทำโมเดลนี้ให้เป็นจริงให้ได้”

มีเงินชดเชย-หากขาดรายได้

“บัณฑูร” ทิ้งท้ายว่า ถ้าชาวบ้านยกเลิกการปลูกข้าวโพด จะมีคำถามว่าแล้วจะเอาอะไรกิน ดังนั้น เราจะให้คำนวณมาเลยว่าของเดิมได้เท่าไร ผมจะหาเงินมาชดเชยจากการเสียโอกาสจากเดิมที่ปลูกข้าวโพด หรือพืชอย่างอื่น คือบอกมาเลยว่าต้องการไร่ละเท่าไร เพื่อสามารถเลี้ยงชีวิตให้ได้ 2 ปี แล้วเวลาระหว่างนั้นคิดหาวิธีการทำมาหากินอื่น ๆ โดยเงินชดเชยจะมาจากการไปขอสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนต่าง ๆ ที่เห็นด้วยกับเราในการแก้ปัญหาป่าต้นน้ำ

“ส่วนตัวแล้วผมมองว่าโจทย์นี้ยากมาก เพราะต้องตกลงกันทั้ง 99 ตำบล ซึ่งมีตัวเลขที่ไม่เท่ากันอยู่แล้ว และต้องไปตกลงกับรัฐบาลอีก นอกจากนี้ ต้องทำเงินให้เป็นจริงขึ้นมา ทั้งเงินชดเชย และเงินที่ได้จากการทำมาหากินแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ซึ่งผมไม่มีคำตอบทั้งหมดให้กับโจทย์ป่าน่าน แต่ผมมีความเชื่อว่าคำตอบนั้นมีจริง และเราต้องไปหามันมาให้ได้ ดังนั้น อย่ายอมแพ้ และติดอยู่กับของเดิม ต้องมองไกลไปถึงอนาคตลูกหลานของเราด้วย”