กกร.คงเป้าจีดีพีปี’65 โต 2.75-3.5% วอนขึ้นค่าไฟขั้นบันได

กกร.

กกร.คงเป้าคาดการณ์จีดีพีปี’65 อยู่ที่ 2.75-3.5% วอนรัฐปรับขึ้นค่าไฟเป็นขั้นบันได ขึ้นค่าแรงแบบค่อยเป็นค่อยไป ช่วยเอกชนลดต้นทุน ห่วงเศรษฐกิจยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอยครึ่งปีหลัง บวกแรงกดดันเงินเฟ้อของหลายประเทศยังสูง

วันที่ 7 กันยายน 2565 นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กกร.ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงที่จะชะลอตัวกว่าที่คาด วัดได้จากประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในประเทศสำคัญ อาทิ สหรัฐ ยุโรป และจีน ถูกปรับลดลง โดยที่เศรษฐกิจยุโรปได้เข้าสู่ภาวะถดถอยในครึ่งปีหลัง ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อของหลายประเทศต่างอยู่ในระดับสูง เป็นภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อ (stagflation)

ผยง ศรีวณิช
ผยง ศรีวณิช

นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์มีเพิ่มขึ้น จากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ล่าสุดเป็นการระงับส่งก๊าซชั่วคราวของรัสเซีย ซึ่งเพิ่มแรงกดดันต่อวิกฤตพลังงานในยุโรป ปัญหาด้านซัพพลายเชนในประเทศจีน จากการขาดแคลนพลังงานที่มีเหตุจากภัยแล้ง รวมถึงการล็อกดาวน์ที่ทำให้มีผลลบต่อภาคการผลิต ปัจจัยเหล่านี้เพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลก ซึ่งต้องติดตามเพื่อประเมินผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กกร.ประเมินเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้จากการเปิดประเทศ และการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่ตามมา แต่จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ตลาดต่างประเทศที่ชะลอตัวอย่างใกล้ชิดขึ้น

โดยที่ประชุม กกร.คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 ซึ่งจะขยายตัวได้ในกรอบ 2.75-3.5% ขณะที่มูลค่าการส่งออกคาดว่ายังขยายตัวได้ในกรอบ 6-8% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ 5.5-7%

ทั้งนี้ กกร.มีความกังวลในเรื่องต้นทุนของภาคธุรกิจ ที่จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า 3 ข้อ

1.การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจาก 4 บาท เป็น 4.72 บาท/หน่วย ที่จะมีผลบังคับใช้ในรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 จะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนและต้นทุนการประกอบการ โดยภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 20-30% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด และในส่วนของภาคบริการ เช่น ธุรกิจโรงแรม มีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเกือบ 30% ของต้นทุนทั้งหมด

2.การปรับขึ้นค่าธรรมเนียม FIDF ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ที่จะส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สูงขึ้น ภายใต้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

3.ต้นทุนด้านแรงงาน จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ 8-22 บาทต่อวัน ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 และรวมถึงการขาดแคลนแรงงานที่เป็นปัญหาสำคัญของภาคธุรกิจ

โดยต้นทุนที่สูงขึ้นข้างต้น จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจที่ยังมีความเปราะบาง ที่ประชุม กกร.จึงขอเสนอให้ภาครัฐพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบในการปรับขึ้นปัจจัยต้นทุนที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอย่างค่อยเป็นค่อยไป

“ห่วงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้ามากสุด ขอให้ทยอยการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าออกเป็น 2 ระยะ แทนการปรับขึ้นครั้งเดียว เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการจากวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งควรรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนการประกอบการ”

สำหรับเรื่องการปฏิรูปกฎหมาย มีกฎหมายใหม่ 2 ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ซึ่งเป็นกฎหมายที่ช่วยส่งเสริมการดำเนินธุรกิจ ได้แก่

1.พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่กำหนดให้ประชาชนสามารถติดต่อ และยื่นเอกสาร/คำร้องต่าง ๆ ทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของภาครัฐ

2.พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ที่เปลี่ยนความผิด ที่เป็นคดีอาญาให้ไม่เป็นความผิดทางอาญาอีกต่อไป ทำให้ประชาชนที่ทำความผิดเล็กน้อย ยังถูกลงโทษปรับ แต่ไม่นับเป็นคดีอาญา และไม่มีประวัติอาชญากรรม

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการให้แก้ไขพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของราชการ พ.ศ. 2558 ที่เสนอโดยคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ที่จะปรับปรุงการขออนุญาตต่าง ๆ

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ต้นทุนด้านพลังงานที่ยังคงเพิ่มขึ้นนั้น ต้องยอมรับว่ามาจากปัจจัยการผลิตต่าง ๆ อาทิ ค่าไฟฟ้า ดอกเบี้ย และค่าแรงงาน ซึ่งในเรื่องของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งภาคเอกชนเห็นด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเงินเฟ้อในประเทศ ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทางภาคเอกชนมองว่าไม่ควรปรับขึ้นจนส่งผลสะเทือนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงที่เปราะบางมาก

ขณะเดียวกัน ในเรื่องของการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ทางภาคเอกชนเข้าใจปัญหาของภาครัฐ แต่การปรับขึ้นค่าไฟ 18% ในครั้งเดียว มองว่าเป็นการซ้ำเติมต้นทุนในการผลิตของผู้ประกอบการ ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ ราคาของสินค้าที่ไม่ได้ควบคุมจะถูกปรับราคาขึ้นตามไปด้วย แต่เชื่อว่าจะยังอยู่ในราคาที่ประชาชนยังสามารถบริโภคได้ อีกทั้งหลังจากนี้ต้องดูสินค้าควบคุม เข้าใจว่าหากผู้ค้าขอปรับราคาสินค้าเพิ่มอาจทำให้ขายได้ยากในภาวะเช่นนี้ แต่ก็อยากให้รัฐบาลพิจารณาการปรับขึ้นราคาสินค้าจากต้นทุนจริง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวแม้ในปัจจุบันจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้ว เห็นได้จากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ 1.12 ล้านคน และคาดว่าตลอดทั้งปี 2565 มีโอกาสเติบโตแตะ 9-10 ล้านคน แต่ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะภาคการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบจากต้นทุนพลังงาน ดอกเบี้ย และการขาดแคลนแรงงานในภาคบริการเช่นกัน

โดยเฉพาะเรื่องแรงงานต้องฝากไปยังกระทรวงแรงงานให้ช่วยดูแล และช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบในกรณีที่ภาคท่องเที่ยวมีการฟื้นตัว และต้องการแรงงานมากกว่านี้ต่อไป รวมถึงต้องจับตาเรื่องการใช้จ่ายต่อหัวที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยด้วย

“ส่วนในเรื่องของมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวต่าง ๆ อาทิ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่จะหมดระยะเวลาโครงการในเดือนตุลาคมนี้ เชื่อว่าหากเงินสนับสนุนโครงการหรือมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนของภาครัฐหมด เชื่อว่ารัฐจะออกมาตรการใหม่ ๆ ออกมาอย่างแน่นอน ส่วนแหล่งเงินในการกู้ยืมเชื่อว่ายังมีอยู่หากจำเป็นต้องกู้จริง ตอนนี้หลายประเทศก็ทำเช่นกัน เพื่อมาประคองเศรษฐกิจของประเทศ

ส่วนความกังวลเรื่องการเมืองนั้น มองว่าหากยังไม่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร หรือเรื่องตั้งใหม่ ก็ยังไม่มีความกังวล แต่ไม่อยากให้ไปกังวลในเรื่องดังกล่าว เพราะในปี 2565 ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค โดยคาดว่าจะมีนักธุรกิจจากหลายประเทศเข้ามาเยือนประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้อย่างดีที่สุดอีกด้วย” นายพจน์กล่าว

ด้านนายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส่วนความกังวลเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานจากภาคอุตสาหกรรมถึงผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งยืนยันว่าในช่วงที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมได้เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากน้ำท่วมไว้แล้ว แม้จะยังไม่มีผลกระทบแต่ก็ไม่ประมาท และจากการประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้นเชื่อว่าในปี 2565 น้ำท่วมจะไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงกับภาคอุตสาหกรรมเหมือนอดีตที่ผ่านมา