ลอยตัว “น้ำตาล” วุ่นไม่เลิก สต๊อกเก่าอื้อ…ราคาไม่ลด !

ลอยตัวน้ำตาลวุ่นไม่เลิก เหตุขาดวิธีปฏิบัติทั้งการขายน้ำตาล การคำนวณค่าอ้อย TDRI ชี้ถ้าไม่ทำมีสิทธิ์ถูกบราซิลฟ้องใน WTO คาดอาจต้องรออีก 2 เดือนถึงจะลอยตัวได้ เหตุยังมีน้ำตาลเหลือค้างสต๊อกในห้างอีก 300,000 ตัน

การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ประกาศ “ยกเว้น” การใช้มาตรา 17 (15) แห่ง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เฉพาะในส่วนของการกำหนดราคาขายน้ำตาลทรายเพื่อการบริโภคภายในประเทศตั้งแต่ฤดูการผลิตที่ 2560/61 จนถึง 2561/62 หรือที่เรียกกันว่า การปล่อย “ลอยตัว” ราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศได้ก่อให้เกิดความสับสนและไม่แน่นอนในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลต่อไปในวิธีปฏิบัติในการคำนวณราคาอ้อยให้กับชาวไร่อ้อย การคำนวณราคาน้ำตาล ณ หน้าโรงงาน การส่งออก-นำเข้าน้ำตาล เนื่องจากคำสั่งที่ 1/2561 ไม่ได้บอกไว้ ประกอบกับเป็นการใช้อำนาจฝ่ายบริหารยกเว้นการบังคับใช้กฎหมาย ในขณะที่ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ยังไม่สามารถประกาศบังคับใช้ได้

ซุกปัญหาไว้ใต้พรม

นายวิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เจ้าของผลงานข้อเสนอในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ให้ความเห็นกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การบังคับใช้มาตรา 44 ประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศถือเป็นการ “ขายผ้าเอาหน้ารอด” แล้วซุกปัญหาต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมนี้ไว้ใต้พรมเนื่องจากประกาศที่จะออกตามมาหลังการปล่อยลอยตัวยังไม่มีความชัดเจน ตอนนี้มีเพียงประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทราย กับ ต้องมีการสำรองน้ำตาลทรายไว้ให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ

“เราเพียงทำตามความต้องการของบราซิลที่กล่าวหาประเทศไทยต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ว่า รัฐบาลไทยมีการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาล ด้วยการกำหนดราคาขายน้ำตาลภายในประเทศแพงกว่าน้ำตาลนอกประเทศแล้วเงินมาอุดหนุนทำให้ไทยส่งออกน้ำตาลได้ในราคาต่ำ กับรัฐบาลอาศัยกลไกต่าง ๆ เข้ามาแทรกแซงและอุดหนุนราคาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล คนของรัฐบาลก็ตั้งธงไว้แล้วว่า ทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้บราซิลฟ้อง WTO การเจรจาที่ผ่านมาก็เลยรับข้อเรียกร้องของบราซิลมาทั้งหมด” นายวิโรจน์กล่าว

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ การตั้งราคาขายน้ำตาลทรายในประเทศ ด้วยการให้มีการสำรวจตลาดน้ำตาล ว่ามีการซื้อขายในราคาที่เท่าใด ราคาขายน้ำตาล ณ หน้าโรงงาน แล้วมาเข้าสูตร London No.5 + ไทยพรีเมี่ยม เกิดส่วนต่างเท่าไหร่ ให้เก็บเงินส่วนต่างนั้นเข้า กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายไป “ปัญหาก็คือ เราจะใช้ราคาน้ำตาลภายในประเทศราคาไหนเป็นราคา Reference Price ราคา ณ หน้าโรงงาน ราคาขายในตลาด และใครเป็นผู้สำรวจราคา แต่ถ้าเบื้องต้นราคาขายออกมาไม่ต่างจากราคาในปัจจุบันมากนัก ยกตัวอย่าง เข้าสูตรคำนวณราคาออกมาหักส่วนต่างเข้ากองทุนอ้อยออกมาอยู่ที่ 20-21 บาท/กก. ผู้บริโภคก็คงจะรับได้เนื่องจากเคยชินอยู่กับการซื้อน้ำตาลปัจจุบันที่ กก.ละ 23.50 บาทอยู่” นายวิโรจน์กล่าว

โดยสิ่งที่น่ากังวลก็คือ ราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายที่ถือเป็น Reference Price นั้นมันสามารถ “เล่นตลาด” ได้จากความเคลื่อนไหวของราคาน้ำตาลในตลาดโลกคือ ตลาด London No.5 นั่นเอง

สับสนวิธีขายภายใน

ด้านแหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเปิดเผยว่า การลอยตัวราคาน้ำตาลภายในประเทศจนถึงขณะนี้ยังมีหลากหลายปัญหาที่ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาลยังไม่สามารถตกลงกันในวิธีปฏิบัติ รวมถึงหลายเรื่องไม่มีกฎระเบียบและกฎหมายรองรับ

“ยกตัวอย่าง ไม่มีการกำหนดโควตา ก. (ปริมาณจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศ) แต่ละโรงงานจะขายน้ำตาลอย่างไร ทาง สอน.ยังไม่สามารถหาทางออกได้ จึงโยนเรื่องนี้ให้โรงงานน้ำตาลมาจัดสรรการขายกันเอง โดยทุกโรงงานทราบกันดีว่า มีปริมาณน้ำตาลที่ต้องเตรียมไว้ขายภายในประเทศจำนวน 26 ล้านกระสอบ เสมือนหนึ่งมีโควตา ก.ในอดีต และกำหนดน้ำตาลสำรองเพื่อการบริโภค 2.5 ล้านกระสอบ กำหนดปริมาณแต่ไม่กำหนดโควตา แล้วจะไปบังคับได้อย่างไร” แหล่งข่าวกล่าว

เพราะหากให้โรงงานน้ำตาลไปจัดสรรกันเอง เท่ากับโรงงานน้ำตาล “ฮั้ว” กัน อาจผิด พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ได้ “เหมือนโรงงานที่อยู่ในเขตภาคกลางส่งขายโรงงานเครื่องดื่มใน กทม. แต่โรงงานที่อยู่ภาคอีสานก็สู้ราคาค่าขนส่งไม่ได้ ต้นทุนก็สูง” ในขณะที่การคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นและราคาค่าอ้อยขั้นสุดท้ายก็ไม่สามารถตกลงกันได้ ว่าจะใช้สูตรราคาลักษณะใด

เร่งหารือราคาอ้อย

นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กาญจนบุรี กล่าวว่า เวลาพิจารณาต้องแยกราคาขายกับเรื่องระบบ โรงงานน้ำตาลจะขายเท่าไหร่ ไม่มีใครไปควบคุม เป็นไปตามกลไกตลาด แต่ชาวไร่อ้อยต้องเฉลี่ยราคาขายของโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศออกมา หากราคาขายน้ำตาลหน้าโรงงานใดสูงกว่าราคาขายน้ำตาลทรายของตลาดลอนดอน No.5 ย้อนหลังไป 1 เดือน บวกราคาน้ำตาลไทยพรีเมี่ยม ให้นำส่วนต่างของราคาตรงนั้นมาแบ่งกัน 70:30 “ซึ่งมีสูตรรายละเอียดในการคำนวณ ตอนนี้กำลังเจรจาหาตัวเลขกันอยู่”

ปัจจุบันนี้ ศูนย์บริหารการผลิต การจำหน่าย และการขนย้ายน้ำตาล ได้ทำการสำรวจราคาขายน้ำตาลจริงจากทุกหน้าโรงงานน้ำตาลและนำมาเฉลี่ย เพื่อกำหนดราคากลางน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่ 17 บาท/กก. และราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์อยู่ที่ 18 บาท/กก. เพื่อนำมาคำนวณราคาภายใน ซึ่งการลอยตัวส่งผลให้ราคาน้ำตาลลดลงมาประมาณ 2 บาท/กก.

“ต้องบอกตรง ๆ ว่า ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ดี ไม่เหมือนสินค้าเกษตรอย่างอื่น เราต้องมาเจรจากันระหว่างชาวไร่และโรงงาน มีส่วนที่ต้องเก็บเงินเข้ากองทุนรักษาเสถียรภาพราคาเท่าไหร่ ตอนนี้กำลังเจรจาดำเนินการกันอยู่ เพื่อไม่ให้ชาวไร่อ้อยถูกเอารัดเอาเปรียบ” นายกำธรกล่าว

ตลาดโลกดิ่ง 12 เซนต์/ปอนด์

แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาลกล่าวว่า ขณะนี้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกลงมา 12 เซนต์/ปอนด์ หากบวกด้วยราคาไทยพรีเมี่ยมประมาณ 20 เหรียญ/ตัน ตามสูตรเฉลี่ยออกมาเป็นกิโลกรัมจะตกราคาน้ำตาลประมาณ 12.495 บาท หรือประมาณ 12.50 บาท ดังนั้นเมื่อนำมาหักลบส่วนต่างราคาขายหน้าโรงงานเท่ากับมีส่วนต่างประมาณ 4.50-5 บาท เข้ากองทุนรักษาเสถียรภาพราคา ซึ่งไม่ต่างกับการที่เคยบวกราคา 5 บาทเพื่อหักเงินเข้ากองทุน

ตามระเบียบส่วนต่างของราคาน้ำตาลตลาดลอนดอน No.5 บวกไทยพรีเมี่ยมห่างกันมาก 4-5 บาท ซึ่งส่วนของชาวไร่อ้อยและกองทุนอาจจะพอใจ แต่ถ้าในอนาคตราคาน้ำตาลในตลาดโลกพลิกกลับมาราคาสูงและมีส่วนต่างน้อย ชาวไร่อ้อยควรต้องยอมรับระบบที่เกิดขึ้นด้วย

“ตอนนี้โรงงานกลัวว่า หากราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกลงไปเรื่อย ๆ แล้วราคากลางยังยืนอยู่สูง โรงงานต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนอาจจะมากกว่า 5 บาทต่อ กก.ที่เคยเก็บ ซึ่งไม่ต่างจากรูปแบบเดิมที่บวกแฝง 5 บาทให้ผู้บริโภคแบกรับภาระ”

นอกจากนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ อาจจะเกิดปัญหาเรื่องการลักลอบขนน้ำตาลไปขายประเทศเพื่อนบ้าน ที่บริโภคน้ำตาลในราคาสูงกว่าไทยที่เกือบ 30 บาท/กก. อาจจะทำให้น้ำตาลขาดตลาดได้ ดังนั้นเท่าที่ทราบกระทรวงพาณิชย์กำลังพิจารณานำพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอก และการนําเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 มาควบคุมด้วย


ล่าสุดยังมีน้ำตาลทรายจากการจำหน่ายตามระบบเก่าคือ โควตา ก.ที่ได้ทำใบขนย้ายออกไปเรียบร้อยประมาณ 300,000 ตัน ส่งผลให้ร้านค้าปลายทาง ห้างสรรพสินค้ายังคงยืนราคาขายคงเดิมโดยน้ำตาลลอตนี้จะจำหน่ายหมดไปในอีก 2 เดือนข้างหน้าจึงจะสามารถใช้ราคาลอยตัวใหม่ได้