อธิบดีกรมชลประทาน เร่งระบายน้ำมูลลงแม่น้ำโขง จ.อุบลฯอ่วม แนวโน้มน้ำยังเพิ่ม

เร่งระบายน้ำมูลลงแม่น้ำโขง

อธิบดีกรมชลประทาน เร่งระดมทีม เครื่องมือระบายน้ำมูลลงแม่น้ำโขง หลัง จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่านลำน้ำชี-มูลยังมีอัตราสูง 3,737 ลบ.ม./วินาที ชี้แนวโน้มระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้น ขณะที่ลุ่มเจ้าพระยา กอนช.จะเริ่มเพิ่มปรับระบายเกณฑ์ 2,300–2,500 ลบ.ม./วินาที ช่วงวันที่ 1-7 ต.ค. 65 พร้อมเฝ้าระวัง 17 อ่างเก็บน้ำปริมาณมากเกินความจุ

วันที่ 29 กันยายน 2565 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำ หลังพายุ “โนรู” เคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศไทยที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อคืนนี้ที่ผ่านมา ก่อนจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงและภาคเหนือตอนล่าง ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนตกกระจายตัวทั่วประเทศ

ปัจจุบัน (29 ก.ย. 65) สถานการณ์ลุ่มน้ำชี-มูล ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่สถานีวัดน้ำ M7 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 3,737 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้น กรมชลประทาน

ประพิศ จันทร์มา
ประพิศ จันทร์มา

สำนักเครื่องจักรกล และสำนักงานชลประทานที่ 7 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบไฮโดรโฟล์เพิ่มเติมที่บริเวณแก่งสะพือ อ.พิบูลมังสาหาร จำนวน 9 เครื่อง และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ อีก 200 เครื่อง ที่บริเวณสะพานโขงเจียม หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำไปแล้วที่บริเวณสะพานพิบูลมังสาหาร 140 เครื่อง เร่งผลักดันน้ำในลำน้ำมูลให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วที่สุด ส่วนในพื้นที่ตอนบน ได้ยกบานประตูระบายน้ำทุกบานตลอดแนวแม่น้ำชี-มูล เพื่อเร่งระบายน้ำให้เร็วยิ่งขึ้น

“พื้นที่จังหวัดที่ได้รับผลกระทบไม่มากนัก กรมชลประทาน ยังคงให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ เร่งสูบระบายออกจากพื้นที่จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ ได้กำชับให้นำบทเรียนจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2562 มาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำและการช่วยเหลือประชาชน เพื่อลดผลกระทบโดยเร็วที่สุด” นายประพิศกล่าว

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งเดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด

ขณะที่ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ระบุ ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 58,455 ลบ.ม. (72%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 51,926 ล้าน ลบ.ม. (73%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 2 แห่ง บริเวณภาคเหนือ และภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 17 แห่ง

ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา แม่มอก ทับเสลา กระเสียว ห้วยหลวง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ขุนด่านฯ คลองสียัด บางพระ หนองปลาไหล นฤบดินทรจินดา และบึงบอระเพ็ด

ส่วนการเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา กอนช. ได้ประเมินสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา คาดการณ์ว่าจะมีน้ำไหลผ่านบริเวณ จ.นครสวรรค์ (สถานี C.2) อยู่ในเกณฑ์ 2,500-2,800 ลบ.ม./วินาที โดยปริมาณน้ำจะไหลมารวมกับแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขาไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 2,300-2,500 ลบ.ม./วินาที ในช่วงวันที่ 1-7 ต.ค. 65

โดยจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.30-0.60 เมตร บริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ

โดย กอนช.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ ระบบชลประทาน เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สำหรับเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ขอให้บริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบชลประทานในการนำเข้าคลองต่าง ๆ ทั้งด้านฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุดตามศักยภาพคลองชลประทาน ในแต่ละช่วงเวลาที่สามารถรองรับได้