พายุโนรูสลายตัว อุบลฯ สู่ภาวะปกติปลาย ต.ค. เจ้าพระยาเฝ้าระวังน้ำเหนือ

น้ำท่วม

สทนช.รุดลงพื้นที่ จ.อุบลฯ บูรณาการหน่วยงานเร่งจัดการน้ำท่วมลุ่มน้ำชี-มูล ช่วยเหลือประชาชน หลังประเมินระดับน้ำผ่านสถานี M.7 สูงสุด 6 ต.ค.นี้ ก่อนลดระดับลงคาด 28 ต.ค. เข้าสู่ภาวะปกติ หลังพายุโนรูเริ่มสลายตัว กรมชลฯ ย้ำฝนยังตกหนักทางตอนบน ส่งผลน้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น

วันที่ 2 ตุลาคม 2565 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้ กอนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (Gistda) ที่สำนักงานชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี

พร้อมลงพื้นที่ประสบอุทกภัย บริเวณชุมชนวัดหลวง 2 ชุมชนเกตุแก้ว เทศบาลเมืองวารินชำราบ และจุดติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำบริเวณแก่งสะพือ ว่า แม้ว่าพายุโนรูจะอ่อนกำลังและสลายตัวแล้ว แต่ก็ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง

สุรสีห์ กิตติมณฑล
สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)

โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งลำน้ำชีและมูลที่ยังคงสูงเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศในระยะนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูฝน ซึ่งถือว่ายังมีความเสี่ยงจากฝนที่ตกลงมาต่อเนื่อง จึงต้องบริหารจัดการน้ำอย่างระมัดระวัง

โดยคำนึงผลกระทบกับประชาชนส่วนใหญ่และพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ รวมถึงเร่งสำรวจโครงสร้างระบบชลประทาน คันกั้นน้ำ อุปกรณ์เครื่องจักรเครื่องมือให้พร้อมใช้งาน เพื่อเร่งสูบน้ำและระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขังให้กลับเข้าสู่ลำน้ำและระบายลงสู่แม่น้ำโขงโดยเร็วที่สุด โดยปัจจุบันระดับน้ำมูลสถานี M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตยสูงกว่าระดับตลิ่ง 2.83 เมตร และระดับน้ำจะสูงสุดวันที่ 6 ต.ค.นี้ จะไหลผ่าน M.7 อยู่ที่ 4,785 ลบ.ม./วินาที (+115.65 ม.รทก.)

น้ำท่วม

จากการวิเคราะห์ของศูนย์ส่วนหน้าฯ ปริมาณฝนภาคอีสานยังคงมีอยู่แต่ไม่มากนัก จึงคาดว่าระดับน้ำที่ M.7 ประมาณวันที่ 28 ต.ค.จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ยังต้องติดตามต่อเนื่องเพื่อปรับแผนจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกลงมาตอนบน ควบคู่กับการเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนให้สามารถกลับเข้าสู่บ้านเรือนเพื่อสำรวจความเสียหายทรัพย์สิน และรับชดเชยเยียวยาตามหลักเกณฑ์ต่อไป

“แม้ว่าพายุโนรู ทำให้เกิดฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ซึ่งเบื้องต้นศูนย์ส่วนหน้าฯ พบว่า ปริมาณฝนจากพายุโนรูลูกเดียวมากกว่าปริมาณฝนจากพายุโพดุล และคาจิกิเมื่อปี 2562 แต่ปีนี้เรามีการบริหารจัดการน้ำที่ดีขึ้น รวมถึงมีการบูรณาการหน่วยงานภายใต้ศูนย์ส่วนหน้าฯ กอนช. เพื่อเตรียมการป้องกันผลกระทบให้ประชาชนไว้ล่วงหน้า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงน้อยกว่ามีการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่าง ๆ

โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ได้ช่วยเก็บกักน้ำ เพื่อหน่วงน้ำไว้ไม่ให้หลากลงท่วมในพื้นที่ท้ายน้ำด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่ง สทนช.ได้ประเมินน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง จากอิทธิพลของพายุโนรู มีปริมาณน้ำลงเขื่อนเพิ่มขึ้นประมาณ 11,502 ล้าน ลบ.ม. (ช่วง 22 ก.ย.-10 ต.ค. 2565) โดยแม่น้ำชี-มูลคาดว่าน่าจะเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในสิ้นเดือน แต่ภาคกลางยังมีฝนลงมาต่อเนื่อง การประเมินต้องดูฝนอีกครั้ง” นายสุรสีห์กล่าว

พายุโนรู

ทั้งนี้ เมื่อพายุสลายตัวแล้ว สทนช.จะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกรมทรัพยากรน้ำ วางแผนการบริหารจัดการน้ำในการเก็บกักน้ำ รวมถึงพิจารณาการเพิ่มอัตราการระบายน้ำ โดยวิเคราะห์จากปริมาณฝนในช่วงเดือน ต.ค.นี้ อย่างต่อเนื่องด้วย

นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ทุกหน่วยงานเร่งแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบน้ำจากพายุโนรูในพื้นที่ภาคอีสานแล้ว ยังมีพื้นที่ภาคกลางที่พบว่าสถานการณ์น้ำเหนือที่เพิ่มขึ้น

ประวิตรลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 3 ต.ค.นี้

โดยในวันจันทร์นี้ ( 3 ต.ค. 2565) รองนายกฯมีกำหนดลงพื้นที่ประชุมร่วมกับศูนย์ส่วนหน้าฯ ภาคกลาง เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มเจ้าพระยาและการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัย ณ เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ก่อนลงพื้นที่ให้กำลังใจประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา อีกด้วย

สำหรับ ภาคกลาง กรมชลประทาน โดยศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) รายงานสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยาปัจจุบัน (2 ตุลาคม 2565) เมื่อเวลา 12.00 น. ตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,713 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาทีระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง 1.11 เมตร

เนื่องจากมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ได้ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 2,606 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 0.30-0.60 เมตร บริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำ นอกคันกั้นน้ำ

กรมชลประทานได้ใช้ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ที่อยู่ทางตอนบนของเขื่อนเจ้าพระยา ในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนให้มากที่สุด รวมทั้งควบคุมการระบายน้ำสอดคล้องกับปริมาณน้ำท่าและฝนที่ตกทางตอนบน

จึงขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ หรือโทร.สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

แผนที่แหล่งน้ำขนาดใหญ่