ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ฟื้น 4 เดือนติด ชงแบงก์พักหนี้-Soft Loan จากน้ำท่วม

อุตสาหกรรม ส่งออก
Photo by CHUTTERSNAP on Unsplash

ส.อ.ท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. ฟื้นเป็นเดือนที่ 4 สัญญาณชัดการท่องเที่ยวดี เศรษฐกิจฟื้น แม้ห่วงต้นทุนพลังงานยังสูง ชงรัฐออกมาตรการลดผลกระทบด้านต้นทุนการผลิต พักชำระหนี้-Soft Loan ช่วยผู้ประกอบการจากปัญหาน้ำท่วม

วันที่ 12 ตุลาคม 2565 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จึงอยากให้รัฐบาลและสถาบันการเงินออกมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ประกอบการ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย อาทิ โครงการพักชำระหนี้กับสถาบันทางการเงินต่าง ๆ รวมทั้งสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อการฟื้นฟูกิจการหลังน้ำท่วม

เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือน ก.ย. 2565 อยู่ที่ระดับ 91.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 90.5 ในเดือน ส.ค. โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ทั้งนี้ องค์ประกอบดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการ ยกเว้นต้นทุนประกอบการ แต่อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนียังต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนความเชื่อมั่นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับที่ไม่ดี

ปัจจัยที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนี ได้แก่ การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ทำให้ภาครัฐยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร และยุติศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว

ขณะที่การบริโภคในประเทศมีทิศทางดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่งเฟส 5 มาตรการดูแลราคาพลังงาน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน

ส่วนภาคการผลิต มีทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องจักรกล วัสดุก่อสร้าง นอกจากนี้ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว

แต่อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับราคาพลังงาน ทั้งราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซธรรมชาติ และค่าไฟฟ้า รวมทั้งราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อคมนาคมและขนส่งสินค้า

ด้านการส่งออกอุปสงค์ในตลาดโลกเริ่มชะลอลง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐ จีน ยุโรป ตลอดจนปัญหาเงินเฟ้อที่มีผลกระทบจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่จีนยังคงดำเนินนโยบาย Zero COVID อย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัญหา Supply Shortage ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตทั่วโลก

สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 99.5 ในเดือน ส.ค. ทั้งนี้ ผู้ประกอบการคาดว่าเศรษฐกิจในประเทศจะมีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศเป็นสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะการปรับขึ้นอัตราจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งราคาน้ำมันที่ยังผันผวน ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูงซึ่งอาจกระทบการส่งออก และเป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565

นอกจากนี้ ยังขอให้รัฐออกมาตรการบรรเทาผลกระทบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการ อาทิ การดูแลราคาพลังงาน ค่าขนส่ง ค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ตลอดจนเร่งแก้ไขปัญหาราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นและการขาดแคลนวัตถุดิบ ควบคู่ไปกับการดูแลค่าเงินบาทให้มีความสมดุลมากขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออก ออกมาตรการรณรงค์ประหยัดการใช้ไฟฟ้าและพลังงาน อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม

พร้อมทั้งเร่งยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย (Competitiveness) เช่น การปฏิรูปกฎหมาย (Regulatory Guillotine) การปรับปรุงขั้นตอนการอนุมัติอนุญาตของราชการ การนำระบบ Digital มาใช้ และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นต้น