ลานีญา-เศรษฐกิจโลกชะลอ เขย่าจีดีพีเกษตรปี’66

แม้ว่าความต้องการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น แต่ไทยฐานะผู้ผลิตสินค้าเกษตร “ครัวของโลก” กำลังเผชิญความท้าทาย จากสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อการผลิตสินค้าเกษตร โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร (GDP) ไตรมาส 3 ปี 2565 หดตัวถึง 1.8% จากปรากฏการณ์ “ลานีญา” ที่อาจต่อเนื่องไปถึงต้นปี 2566 จะยิ่งกระทบต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นไปอีก

และเป็นที่แน่นอนว่า ในปี 2566 ทุกประเทศต้องเตรียมตัวรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว(recession) และยังไม่สามารถตอบได้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนจะยังคงยืดเยื้อไปถึงเมื่อไร ปัจจัยนี้ล้วนมีผลต่อสินค้าเกษตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไตรมาส 3 จีดีพีหด 1.8%

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จีดีพีภาคเกษตร ในไตรมาส 3 ปี 2565 (เดือนกรกฎาคม-กันยายน) หดตัว 1.8% เป็นการหดตัวครั้งแรก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 หลังจากในไตรมาส 1 ขยายตัว 4.7% และไตรมาส 2 ขยาย 4.4%

ซึ่ง สศก.ยังคาดว่าทั้งปี 2565 จีดีพีเกษตรจะยังขยายตัวในช่วง 2.0-3.0% เมื่อเทียบกับปี 2564

ฉันทานนท์ วรรณเขจร

โดยปัจจัยบวกที่ช่วยหนุนการผลิตภาคเกษตรปีนี้ มาจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีมากกว่าปีที่ผ่านมา เกษตรกรใช้เทคโนโลยีในการผลิต ยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐาน บริหารจัดการการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงการเปิดประเทศ ทำให้มีการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างประเทศได้มากขึ้น ทั้งทางบก รถไฟจีน-ลาว-ไทย ส่งผลให้ความต้องการสินค้าเกษตร ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น

“การเปิดประเทศปลายปี ทำให้มีการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างประเทศได้มากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสินค้าเกษตร ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อราคาเกษตรกร”

จับตาลานีญา-ศก.โลก

อย่างไรก็ตาม จากความท้าทายจากสภาพอากาศแปรปรวน ประกอบกับปรากฏการณ์ลานีญาช่วงปลายปีที่มีกำลังแรงขึ้น อิทธิพลของลมมรสุมและพายุที่เข้ามาหลายระลอก และปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติสะสมอยู่มาก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตสินค้าเกษตร ต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้นตามราคาปัจจัยการผลิตทั้งราคาน้ำมัน ปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช และอาหารสัตว์ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว

หากสแกนสาขาพืช หดตัว 2.8% โดยพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน เนื่องจากการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกอ้อยที่มีราคาดี และน้ำท่วมในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2564 ยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ รวมทั้งหลายพื้นที่ยังต้องเผชิญกับฝนที่ตกหนักและการระบาดของโรคใบด่าง

ขณะเดียวกัน ยางพารา ผลผลิตลดลง เนื่องจากมีฝนตกชุกต่อเนื่อง ทำให้จำนวนวันกรีดยางลดลง และยังมีการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราในบางพื้นที่ของภาคใต้ ส่งผลให้ปริมาณน้ำยางที่กรีดได้ในแต่ละเดือนน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา รวมถึงทุเรียน และมังคุด เงาะผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพอากาศทางภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญในไตรมาสนี้ไม่เอื้ออำนวย มีอากาศร้อนสลับกับฝนตกชุก

ผลผลิตข้าว “ไม่ลด”

สำหรับพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี โดยในช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นฤดูที่ข้าวนาปีออกสู่ตลาด ซึ่งผลผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีมากเพียงพอ เกษตรกรจึงขยายการเพาะปลูกในพื้นที่ว่าง ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรผู้ปลูกข้าว อย่างไรก็ตาม ผลผลิตข้าวนาปีที่เก็บเกี่ยวในช่วงปลายเดือนกันยายน 2565 บางส่วนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่ไม่รุนแรงมากนัก

รวมทั้งข้าวนาปรัง ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากแหล่งผลิตทางภาคใต้เป็นหลัก เนื่องจากปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นและเพียงพอ และเกษตรกรบางส่วนขยายการเพาะปลูกในพื้นที่นาปรังเดิมที่เคยปล่อยว่าง อีกทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2565 ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น และมีการควบคุมโรคและแมลงได้ดี

นอกจากนี้ยังมีปาล์มน้ำมัน ผลผลิตเพิ่มขึ้น ในแหล่งผลิตสำคัญ และมาตรการเร่งการส่งออกของอินโดนีเซีย ส่งผลให้เกษตรกรกังวลว่าราคาจะลดลง จึงเร่งตัดผลผลิต

ปศุสัตว์-ประมงราคาพุ่ง

สาขาปศุสัตว์ แม้ขยายตัว 1.7% หลัก ๆ มาจากสินค้า “ไก่เนื้อ” มีการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องทั้งการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกที่เพิ่มขึ้น

ส่วน “สุกร” มีแนวโน้มการผลิตลดลง จากปริมาณแม่พันธุ์สุกรในระบบลดลงจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ประกอบกับเกษตรกรชะลอการนำสุกรเข้าเลี้ยงเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาด รวมถึงผลกระทบจากต้นทุนราคาพันธุ์สุกรและอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น รวมถึงไข่ไก่ จากการปรับลดจำนวนแม่ไก่ยืนกรง และน้ำนมดิบ ผลผลิตลดลงเนื่องจากแม่โคนมมีอัตราการให้น้ำนมดิบลดลงจากการระบาดของโรคลัมปิสกินในโคนม รวมไปถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เกษตรกรบางรายจึงปลดระวางแม่โคเร็วขึ้น

เช่นเดียวกับสาขาประมง หดตัว 1.5%โดยสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้ลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน มีมรสุมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้มีการออกเรือจับสัตว์น้ำลดลง กุ้งทะเลเพาะเลี้ยงลดลงเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้ผู้เลี้ยงกุ้งประสบปัญหาโรคกุ้ง เช่น โรคตัวแดงดวงขาว และกลุ่มอาการโรคขี้ขาว เป็นต้น ส่งผลให้กุ้งโตช้าและกินอาหารน้อย กุ้งที่จับได้จึงมีขนาดเล็กลง

ส่วนปลานิล และปลาดุก มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเลี้ยงจากปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าปีที่ผ่านมา และความต้องการบริโภคเนื้อปลาเพิ่มขึ้น เกษตรกรจึงเพิ่มอัตราการปล่อยลูกปลา มีการอนุบาลลูกปลาให้ได้ขนาดและแข็งแรงก่อนปล่อยลงบ่อเลี้ยง

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ยังต้องจับตาว่า “แนวโน้มราคาสินค้า ประมงและปศุสัตว์ ซึ่งมีปริมาณการผลิตลดลง ขณะที่แนวโน้มตลาดยังมีการเติบโตดีจะมีการปรับราคาสูงขึ้นหรือไม่ในปี 2566 หากยังทรงตัวสูง ส่งผลต่อจีดีพีภาคเกษตร รวมถึงอาจจะส่งผลต่อภาระค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อของไทยในปีหน้า”