ส.อ.ท. ชงรัฐตรึงค่า Ft เดือน ม.ค.-เม.ย. 66 ประคองภาคอุตสาหกรรม

เสาไฟฟ้าแรงสูง

สภาอุตสาหกรรมฯ เปิดผลสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 23 มุมมองภาคเอกชน ขอรัฐคงค่า FT เดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 ให้ภาคอุตสาหกรรม อัตรา 93.43 สตางค์ต่อหน่วย หวังให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วยเช่นเดิม หลังราคาเชื้อเพลิงแนวโน้มปรับตัวลดลง

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 23 ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ภายใต้หัวข้อ “มุมมองภาคอุตสาหกรรมต่อการปรับค่า Ft งวดใหม่” พบว่าจากการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) สำหรับงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 นั้น ส.อ.ท.ได้มีการสำรวจความเห็นจากผู้บริหาร ส.อ.ท. ในเรื่องดังกล่าว

มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์
มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์

พบว่าส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐคงค่า Ft งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ที่อัตรา 93.43 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย เนื่องจากมองว่าราคาเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง และจะส่งผลทำให้ภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทยอยปรับลดลงตามไปด้วย

ประกอบกับที่ผ่านมาผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าแรง ราคาวัตถุดิบ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยทั้งสิ้น

ในส่วนการบริหารจัดการหนี้ที่ต้องทยอยคืน กฟผ. จากภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจำนวน 83,010 ล้านบาท ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่เสนอว่า กฟผ.ควรมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้สามารถรับภาระหนี้ได้มากขึ้นและยาวนานมากกว่า 2 ปี เช่น การเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ การจัดสรรวงเงินให้ยืม การชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลัง เป็นต้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการบริหารจัดการหนี้และลดผลกระทบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าจะได้รับจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงเกินไป

ทั้งนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท.ยังเสนอว่า ภาครัฐควรมีการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานหมุนเวียน รวมทั้งเร่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการลงทุนใช้พลังงานหมุนเวียนภายในโรงงาน เพื่อลดค่าไฟฟ้าในช่วง On Peak อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การอำนวยความสะดวกในการขออนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากเอกชน การกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าคืนที่จูงใจต่อการลงทุน เป็นต้น

ส่วนด้านการบริหารจัดการไฟฟ้าของประเทศในอนาคต ผู้บริหาร ส.อ.ท. มีการเสนอให้ภาครัฐมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบจากการทำนโยบายด้านพลังงานไฟฟ้าให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการภาคผลิตและบริการ รวมถึงผู้ลงทุน รวมทั้งปรับสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศและลดภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้า