GC เปิด ENVICCO รีไซเคิลพลาสติกเบอร์ 1 อาเซียน

ENVICCO

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC นำสื่อมวลชนเดินทางเยี่ยมชมโรงงาน ENVICCO บนพื้นที่ 60 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง หลังจากเปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ เมื่อ 16 ต.ค. 2565

ENVICCO เป็นโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง สามารถนำไปใช้บรรจุอาหารได้ (food grade) ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยาสหรัฐ (US FDA) แห่งแรกในประเทศไทย และใหญ่ที่สุดในอาเซียน

ENVICCO ดำเนินการภายใต้ บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด (ENVICCO Limited) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง GC และ ALPLA ผู้นำระดับโลกในธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก และพลาสติกรีไซเคิล โดยการดำเนินการของ ENVICCO จะช่วยลดขยะพลาสติกในประเทศไทย ได้ถึง 60,000 ตันต่อปี ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 75,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เทียบเท่าการปลูกป่าประมาณ 78,000 ไร่

หรือปลูกต้นไม้ใหญ่กว่า 8.32 ล้านต้น เป็นหนึ่งในแผนกลยุทธ์การขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่จะทำให้ห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ครบสมบูรณ์ และยังช่วยให้เกิดการสร้างงานในชุมชน ตอบโจทย์ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy Model) ของประเทศไทย

อย.ไฟเขียวใช้บรรจุอาหาร

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัท ENVICCO อยู่ระหว่างรอการอนุมัติใบอนุญาตจากองค์การอาหารและยา (อย.)

คงกระพัน อินทรแจ้ง
คงกระพัน อินทรแจ้ง

สำหรับรับรองมาตรฐานความปลอดภัยการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด rPET และ rHDPE เพื่อขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม คาดว่าหากได้รับอนุมัติช่วงไตรมาส 1 ของปี 2566 จะช่วยให้บริษัทสามารถใช้กำลังการผลิตได้เพิ่มขึ้นเป็น 60% ในปีหน้า

“ปี 2566 จะเป็นธุรกิจพลาสติกรีไซเคิลครบวงจรมากขึ้น และให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมสร้างนิสัยคัดแยกขยะช่วยเหลือเรื่องสิ่งแวดล้อมและช่วยสร้างเศรษฐกิจระดับชุมชนทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน”

ขยายเฟส 2 ใน 3 ปี

นายณัฐนันท์ ศิริรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด เปิดเผยว่า โรงงาน ENVICCO มีกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสูงถึง 45,000 ตันต่อปี แบ่งเป็นเม็ดพลาสติก ชนิด rPET จำนวน 30,000 ตันต่อปี และเม็ดพลาสติก ชนิด rHDPE จำนวน 15,000 ตันต่อปี ภายใต้เครื่องหมายการค้า InnoEco

ณัฐนันท์ ศิริรักษ์
ณัฐนันท์ ศิริรักษ์

โดยใช้วัตถุดิบทั้งหมด 100% เป็นพลาสติกใช้แล้วในประเทศ ผ่านเทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำสมัย 6 ขั้นตอนแบบที่ยุโรปใช้มานานกว่า 20 ปีแล้ว เพื่อคืนคุณค่าให้กับพลาสติกใช้แล้วให้มีคุณสมบัติเทียบเท่าพลาสติกใหม่

“ขณะนี้บริษัทผลิตสินค้าเพื่อส่งออกสัดส่วน 70% และจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการในประเทศ 30% อยู่ระหว่างเจรจาหาลูกค้ารองรับการใช้พลาสติกรีไซเคิลเพิ่มขึ้นกว่า 10 รายแล้ว เพื่อรองรับกำลังการผลิตพลาสติกรีไซเคิลที่จะเพิ่มขึ้นในปี 2566

ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้จากหลักร้อยล้านเป็นหลักพันล้านบาท และมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตจาก 60% เป็น 80% ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะต้องมีการขยายการผลิตเฟสที่ 2 ในพื้นที่บริเวณเดียวกันอีกประมาณ 30,000 ตัน”

ช่วยชุมชนสร้างรายได้

ปัจจุบันบริษัทมีการทำสัญญารับซื้อวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์เป็นสัญญาระยะยาว โดยให้ราคารับซื้อระดับราคาตลาด ทั้งยังเปิดโอกาสชุมชนต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมในการรวบรวมและส่งวัตถุดิบขวด PET ให้เรามากกว่า 190 ตัน มูลค่า 4.1 ล้านบาท มีชุมชนเข้าร่วมแล้ว 30 กลุ่ม

โดยบริษัทได้ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมจัดหาวัตถุดิบ ซึ่งหากรายใดดึงฉลากขวดออกจะได้ราคาเพิ่มเป็น กก.ละ 18.50 บาท จากราคาตลาด กก.ละ 13.50 บาท ส่วนขวดพลาสติกขุ่น เช่น ขวดนมราคา กก.ละ 27 บาท ทำให้เกิดรายได้เพิ่ม และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้ชุมชน

ขั้นตอนการรีไซเคิล

โอกาส-ความท้าทาย

อย่างไรก็ตาม เรายังพบข้อจำกัดจากปัญหาการท่องเที่ยวชะงักในช่วงโควิดทำให้วัตถุดิบขวดพลาสติกลดลงอย่างมาก นอกจากนี้อุปสรรคสำคัญจากเรื่องโลจิสติกส์ในการขนย้ายพลาสติกที่รวบรวมซื้อปริมาณมากต้องใช้รถขนส่งขนาดใหญ่ซึ่งไม่คุ้มค่าเทียบกับราคาพลาสติก

เราช่วยแก้ปัญหาด้วยการเสริมเครื่องอัดแท่งให้กับชุมชน ซึ่งการลงทุนเครื่องอัดแท่งขนาดเล็กต้องใช้งบฯลงทุน 2-3 แสนบาท สำหรับเครื่องอัดแท่งพลาสติกขนาด 150 กก.

“ตลาดพลาสติกรีไซเคิลยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เพราะมีข้อมูลว่าแต่ละปีตลาดพลาสติกรีไซเคิลโตกว่าพลาสติกทั่วไปเฉลี่ย 2-3 เท่า เพราะถึงแม้ว่าพลาสติกรีไซเคิลมีต้นทุนสูงกว่าทำให้ต้องจำหน่ายในราคาสูงกว่าพลาสติกทั่วไป 20-30% แต่ลูกค้าโดยเฉพาะผู้ส่งออกไปยังตลาดยุโรป จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมจึงต้องหันมาใช้พลาสติกรีไซเคิล

เพราะถึงราคาสูงกว่าแต่ก็คุ้มค่ากว่ากรณีที่ไม่ใช้ อาจจะถูกรัฐเก็บภาษีถึง 800 ยูโรตัน ในปี 2566 และการใช้ภาษีคาร์บอน เพื่อให้ผู้ประกอบการหันไปใช้พลาสติกรีไซเคิลช่วยลดภาวะโลกร้อน”

สำหรับการส่งเสริมใช้พลาสติกรีไซเคิลในประเทศไทยนั้น ภาครัฐควรออกมาตรการทางด้านภาษี วางมาตรฐานและการตรวจสอบ ตลอดจนเพิ่มการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นส่วนผสมในบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มและอาหาร และจูงใจการคัดแยกขยะรีไซเคิล อย่างถูกต้องเพื่อสร้างรากฐานที่ยั่งยืนในประเทศต่อไป

ภายใน ENVICCO

GC จ่อปิดดีลใหม่ในสหรัฐ

ภาพรวมธุรกิจ GC ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ไม่สดใสมากนัก “คงกระพัน อินทรแจ้ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC มองว่า 5 ธุรกิจของ GC จะเติบโตได้ดีในปี 2566 ทั้ง 5 กลุ่ม คือ

1) กลุ่มเบสเคมิคอล ทั้งโรงกลั่น โรงงานอะโรมาติก โอเลฟิน 2) กลุ่มขั้นกลาง เช่น ฟีนอล 3) กลุ่มโพลิเมอร์ต่าง ๆ จะต้องใกลชิดกับลูกค้ามากขึ้น 4) Bio and Circularlity และ 5) กลุ่ม Performance ซึ่งจะทำให้วอลุ่มเพิ่มขึ้นจากปีนี้ประมาณ 5%

ขั้นตอนการรีไซเคิล

“3 ไตรมาสปีนี้ ประสบปัญหาทั้งเศรษฐกิจโลกไม่ดี ซัพพลายในตลาดมีมาก แต่ในไตรมาส 4 ดีกว่าไตรมาส 3 ส่วนปีหน้าน่าจะดีขึ้น จีซีมีฐานผลิตทั่วโลก โรงงานจะรันเต็มที่ โดยเฉพาะ Allnex ที่สหรัฐจะเห็นรายได้เต็มปี และยังมีบริษัท คุราเร่ จีซี แอดวานซ์ แมททีเรียลส์ จำกัด และบริษัท คุราเร่ แอดวานซ์ เคมิคอลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษในพื้นที่อีอีซีด้วย”

“แผนการลงทุนในปีหน้าจีซีมองโอกาสการขยายลงทุนธุรกิจพลาสติกรีไซเคิลในสหรัฐ โดยอยู่ระหว่างเจรจาคาดว่าจะมีการปิดดีลได้ในเร็ว ๆ นี้ น่าจะอยู่ในพื้นที่ด้านตะวันออกของสหรัฐ เป็นโครงการขนาดไม่ใหญ่เท่ากับโครงการลงทุนปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในรัฐโอไฮโอ แต่การลงทุนนี้จะเป็นโอกาสที่ดีเพราะสหรัฐจะมีการใช้กฎหมายส่งเสริมการลงทุนให้กับธุรกิจที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยการให้อินเซนทีฟต่าง ๆ”

สำหรับการลงทุนพลาสติกรีไซเคิล ถือเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 50% ในปี 2050 ต่อไปจีซีมีทั้งพลาสติก พลาสติกรีไซเคิล และไบโอ ซึ่งจีซีจะเป็นผู้นำในธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจร เป็นไปตามไทม์ไลน์ที่จีซีอยู่ระหว่างการปรับพอร์ตธุรกิจโดยเพิ่มสัดส่วนธุรกิจด้าน Bio and Circularlity และ Performance จาก 20% ให้เป็น 35% ในปี 2030