“ปตท.-เอสซีจี” หัวหอกบุกธุรกิจรีไซเคิล

เทรนด์ใหม่รับกระแสอนุรักษ์ ยักษ์ใหญ่ปิโตรเคมี PTTGC หัวหอกพลิกโมเดลปั้นธุรกิจรีไซเคิล นำขยะพลาสติกใต้ทะเลมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเสื้อผ้า-รองเท้า “เอสซีจี” ไม่น้อยหน้า ทุ่มพัฒนาสินค้าและบริการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมปีละ 2.6 พันล้าน บีโอไอแจกสิทธิประโยชน์หนุนยกเว้นอากรเครื่องจักร-วัตถุดิบ-ภาษีรายได้ นิติบุคคล 3 ปี

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ในเครือ บมจ.ปตท. กล่าวถึงทิศทางการลงทุนในปี 2561 ว่า ในฐานะเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่ของประเทศ นอกจากมุ่งเน้นที่การผลิตพลาสติกคุณภาพสูงแล้ว ยังเตรียมศึกษาเพื่อนำขยะพลาสติกให้นำกลับมาใช้ใหม่ พร้อมทั้ง “สร้างมูลค่าเพิ่ม” อย่างเช่น การนำพลาสติกมารีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นสินค้าแฟชั่น และอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตสินค้าอื่น ๆ ด้วย

นางสาววราพรรณ ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กร PTTGC เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทถือเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรายใหญ่ และปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้พลาสติกเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โลกร้อน หากใช้ไม่คุ้มค่า ไม่ถูกวิธี ดังนั้นเพื่อแสดงความ “รับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์” ขณะนี้ได้เริ่มศึกษาธุรกิจรีไซเคิล 2 ส่วน คือ 1) นำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ด้วยการใช้ “นวัตกรรม” สร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ผลิตเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ 2) การรีไซเคิลจะสามารถพัฒนาเป็นธุรกิจในอนาคตได้หรือไม่

เสื้อผ้า-รองเท้าจากขยะพลาสติก

PTTGC ได้เริ่มในส่วนแรกแล้ว คือโครงการ Upcycling The Oceans นำขยะพลาสติกจากใต้ทะเลมาผลิตเป็นเสื้อผ้า รองเท้า และอื่น ๆ โดยร่วมมือกับพันธมิตรอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และอีโคอัลฟ์ (ECOALF) บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าแฟชั่นที่ยั่งยืนของโลกจากสเปน ตั้งแต่ปี 2560 โดยได้นำร่องการเก็บขยะพลาสติกจากใต้ทะเลเกาะเสม็ด จ.ระยอง พบว่ามีสูงถึง 10 ตัน ปีนี้จะขยายจัดเก็บขยะใต้ทะเลใน จ.ภูเก็ต เพิ่มเติม

นอกจากนี้ได้รณรงค์ให้ประชาชนให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง โดยเฉพาะขวดพลาสติก (PET) ที่มีโพลีเอสเตอร์เป็นส่วนประกอบ นำมาเข้าโรงงานเพื่อผลิตเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้พลาสติกเพิ่มขึ้นทุกปี จึงควรตัดวงจรพลาสติกให้ไม่เป็นขยะ หรือนำกลับมาใช้ใหม่

ผนึกบริษัทในเครือต่อยอดธุรกิจ

หากโครงการดังกล่าวสำเร็จ ทำให้ประชาชนตื่นตัวในการใช้พลาสติกอย่างถูกต้องคุ้มค่า อาจร่วมมือระหว่างบริษัทในเครืออย่างเช่น บมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC รวมถึงพันธมิตรอื่น ๆ จัดการขยะนอกเหนือจากพลาสติก ส่วนจะพัฒนาไปสู่การลงทุนสร้างโรงงานรีไซเคิลหรือไม่นั้น ต้องมองหลายปัจจัย เช่น เทคโนโลยี เครือข่ายรวบรวมขยะ และมองไปถึงการพัฒนาสินค้ารีไซเคิลไปสู่พลาสติกสำหรับบรรจุอาหารด้วย

ด้านนายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC กล่าวว่า สนใจเรื่องการรีไซเคิลเช่นกัน ซึ่งกรณีโครงการของ PTTGC ถือว่ามีประโยชน์มาก อาจร่วมมือกันในอนาคต

สอดคล้องกับแนวความคิดของ ภาคเอกชนอื่น ๆ อย่างเช่น ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่บรรจุขวดพลาสติกหลายรายต้องการนำขวดกลับมา ใช้ใหม่ แต่ขณะนี้ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 295) พ.ศ. 2548 เรื่องกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะที่ทำจากพลาสติกภายใต้ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้ส่งออกขวดพลาสติกทั้งหมด สำหรับไทยใช้พลาสติกในทุกสาขา ทั้งบรรจุภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ ขนส่งยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ครัวเรือน โดยสัดส่วนการใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์มีมากที่สุด และเป็นการใช้ระยะสั้นก่อให้เกิดขยะมากที่สุด

SCG ลงทุนปีละ 2,600 ล้าน

ด้าน นายนำพล ลิ้มประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การจัดการของเสียอุตสาหกรรม เอสซีจีดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนายั่งยืนภายใต้หลักบรรษัทภิบาล โดยทุ่มเทพัฒนาสินค้าและบริการ ตลอดจนกระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยลงทุนปีละ 2,600 ล้านบาท ซึ่งปี 2561 มี 4 แนวทาง คือ 1.ลดปริมาณของเสียจากแหล่งกำเนิด 2.พัฒนาวิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำวัตถุดิบและของเสียกลับไปใช้ใหม่ รวมทั้งเพิ่มมูลค่า 3.จัดการของเสียอุตสาหกรรมโดยไม่ฝังกลบ เป้าหมายเป็นศูนย์ 4.ลดกำจัดของเสียโดยการเผาทิ้งอย่างไม่ก่อประโยชน์

ตัวอย่างโครงการผลิตเยื่อกระดาษด้วยพลังงานและสารเคมีจากของเสีย ได้ลงทุนติดตั้งเตาเผาปูนขาวแล้วเอาปูนขาวที่เผาไม่สุก, กากปูนขาว และส่วนที่เผาไหม้ไม่หมดจากกระบวนการการนำสารเคมีกลับคืน เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตเยื่อกระดาษมาผลิตเป็นปูนขาว กลับมาใช้ในกระบวนการ chemical recovery นำของเสีย ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านจัดการของเสียและซื้อวัตถุดิบได้ถึงปีละ 42 ล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 2,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์

รวมถึงโครงการเปลี่ยนน้ำเสียจากโรงงานปิโตรเคมีเป็นสารฟอกเยื่อกระดาษ ด้วยแนวคิด waste to value เอสซีจีได้พัฒนาเทคโนโลยีสกัดโซดาไฟใช้แล้วให้เป็นสารประกอบเกลือ ผลิตเป็นสารทดแทนสารฟอกเยื่อกระดาษของกลุ่มธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง

“ประโยชน์ที่ได้คือช่วยลดปริมาณน้ำดิบที่ใช้ปรับคุณภาพน้ำเสียก่อนเข้าระบบบำบัดปีละ 100,000 ลบ.ม. ลดใช้พลังงานและสารเคมีปรับสภาพโซดาไฟใช้แล้ว”

บีโอไอหนุนลงทุน

ขณะที่กรมควบคุมมลพิษ อยู่ระหว่างจัดทำร่างแผนจัดการขยะพลาสติกแบบบูรณาการ โดยระบุว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมพลาสติกในประเทศ 1) กลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตเม็ดพลาสติกและเรซิน 2) กลุ่มที่ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก ช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีปริมาณขยะพลาสติกร้อยละ 12 ของปริมาณขยะทั้งหมด หรือ 2 ล้านตัน นำกลับมาใช้ ประโยชน์เพียง 0.5 ล้านตัน ที่เหลือ 1.5 ล้านตัน เป็นขยะถุงพลาสติกปนเปื้อน ร้อยละ 80 หรือ 1.2 ล้านตันในแง่ของการส่งเสริมธุรกิจรีไซคิล สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กำหนดให้อยู่ในกลุ่ม A4 เป็นกิจการมีระดับเทคโนโลยีสูงมาก แต่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มแก่วัตถุดิบในประเทศ ฯลฯ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ได้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่า ยกเว้นอากรเครื่องจักร ยกเว้นอากรวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก ฯลฯ

ทั้งนี้ ช่วง 9 เดือนแรกปี 2560 มีกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิล เงินลงทุน 48 ล้านบาท ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน จากจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติจะลงทุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อ ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต 76 โครงการ เงินลงทุน 4,716 ล้านบาท