“ปตท.-กฟผ.” บูสต์เศรษฐกิจ เทงบฯลงทุน 2.5 แสนล้าน ปี’66

ปตท กฟผ

“ภาคการลงทุน” หนึ่งในเครื่องจักรสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีกระต่าย ซึ่งไม่ใช่เพียงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังมาจากการลงทุนด้วยหน่วยงานภายใน โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ต่าง ๆ มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมาก

โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน อย่าง ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เฉพาะ 2 หน่วยงานนี้มีแผนลงทุนขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 แล้วเกือบ 250,000 ล้านบาท

แนวโน้มใช้พลังงานพุ่ง

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า แนวโน้มการใช้พลังงานขั้นต้นในปี 2566 มีปริมาณ 2,111 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้น 2.7% จากปี 2565 ที่มีปริมาณ 2,056 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทุกหมวด อาทิ น้ำมัน เพิ่มขึ้น 4.2% ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 1.8% ถ่านหิน เพิ่มขึ้น 1.1% และไฟฟ้าพลังงานน้ำเพิ่มขึ้น 4.4%

ซึ่งเป็นไปตามสมมุติฐานที่คาดการณ์ว่าจีดีพีไทยจะขยายตัว 3-4% เศรษฐกิจโลกขยายตัว 2.6% อัตราแลกเปลี่ยน 35.5-36.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 85-95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปัจจัยบวกที่สนับสนุนมาจากการผ่อนคลายจากสถานการณ์โควิด ทำให้เกิดการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยว แนวโน้มการขยายตัวภาคเกษตรส่งผลต่อการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงานกล่าวว่า ผลงานในส่วนของช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ประชาชนรวมกว่า 280,000 ล้านบาท และที่สำคัญยังกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านพลังงานอีกราว 260,000 ล้านบาท

ส่วนแนวนโยบาย ปี 2566 จะมุ่งเดินหน้าแผนงานด้านพลังงานใน 4 มิติ ทั้งสร้างความมั่นคงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เสริมสร้างเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาองค์กรเพื่อให้บริการ ทั้งนี้เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net zero) ในปี ค.ศ. 2065

ปตท.อัด 2 แสนล้าน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ฉายภาพว่า ได้เตรียมแผนการลงทุนในปี 2566 ของ ปตท.และบริษัทในกลุ่ม ปตท. รวม 200,292 ล้านบาท โดยจะแบ่งเป็นการลงทุนของบริษัทใหญ่ในกลุ่ม ปตท.

ซึ่งประกอบด้วย บมจ.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR), บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (GC), บมจ.GPSC บมจ.ไทยออยล์ (TOP) บมจ.IRPC คิดเป็นสัดส่วน 84% หรือ 168,431 ล้านบาท มุ่งเน้นไปที่การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ปรับปรุงประสิทธิภาพธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น การลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ พลังงานลม และการพัฒนาต่อยอดธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์

ส่วนการลงทุนโดย ปตท.เอง 10% คิดเป็นเงิน 20,401 ล้านบาท จะลงทุนเกี่ยวกับโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 7 เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ซึ่งจะเสร็จในปีหน้า และท่อส่งก๊าซ บางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ จะเสร็จปี 2568 และท่อส่งก๊าซเส้นที่ 5 เหลือช่วงสุดท้ายคาดว่าจะเสร็จในปีหน้า และบริษัท ปตท.ถือหุ้น 100% อีกคิดเป็นสัดส่วน 6% มูลค่า 11,460 ล้านบาท

ในส่วนของ PTTLNG จะลงทุน LNG Receiving Terminal จ.ระยอง และมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน คือ แหลมฉบังแห่งที่ 3 จะเริ่มในปี 2568 และมาบตาพุดระยะที่ 3 จะเริ่มได้ในปี 2569 และการลงทุนที่สนับสนุนโครงการยานยนต์ไฟฟ้า อรุณ Plus เริ่มก่อสร้างโรงงานจะเสร็จในปี 2567

ในส่วนของ Hirizon Plus และแพลตฟอร์ม EV Me เช่ารถซึ่งจะลงทุนในเรื่อง EV Feet ต่าง ๆ จะเพิ่มจากจำนวน 400 คัน เป็น 2,000 คันในปีหน้า

“การลงทุน ปตท. 2 แสนล้านสัดส่วนหลักจะเน้นการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ ทั้งโรงแยกก๊าซ ท่อก๊าซเส้นที่ 5 ต่าง ๆ ทำตามแผนเพื่อสร้างโครงข่ายพลังงาน และสนับสนุนอีวีสร้างโรงงานรถไฟฟ้า จะเสร็จปี 2567 และสร้าง new S-curve ให้กับประเทศ ด้านสุขภาพต่าง ๆ”

“ปตท.สผ.จะมุ่งสำรวจผลิตเสริมความมั่นคง และจะเร่งผลิตก๊าซธรรมชาติในเอราวัณให้ได้ตามแผนหลังจากได้เข้าพื้นที่ จีพีเอสซีก็ขยายการลงทุนพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นตามนโยบายพลังงานที่ประกาศออกมา ส่วนโออาร์ก็เร่งปรับพื้นที่สถานีบริการน้ำมันให้เป็นพื้นที่ที่ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์

ทำกิจกรรมได้มากขึ้น ปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นไทยออยล์ CFP และไออาร์พีซี คือ UCF ให้ผลิตตามนโยบายส่งเสริมพลังงานสะอาด GC ก็ปรับสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงมากขึ้น”

ทั้งนี้ ในงบฯ 2 แสนล้านนี้ เป็นการลงทุนธุรกิจใหม่ที่ ปตท.มุ่งไป ประมาณไม่ถึง 10% ซึ่งจะเป็นการลงทุนต่อยอด ถ้าไปได้ดีก็จะมีการเพิ่มการลงทุน เพราะเรายังมีงบฯลงทุนเผื่อไว้อีกส่วนหนึ่งสามารถเพิ่มได้ ถ้ามีโครงการดี ๆ และในส่วนโครงการอีวียังอยู่ระหว่างการหารือกับลูกค้าหลายราย

กฟผ.ลงทุน 3 ด้าน

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ในปี 2566 แผนการลงทุนของ กฟผ. มีมูลค่า 31,552 ล้านบาท และบริษัทในเครืออีก 3,478 ล้านบาท โดยจะเน้นใน 3 เรื่อง คือ แผนการขยายระบบส่ง

เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในแต่ละภูมิภาค 20,386 ล้านบาท เป็นการลงทุนขยายระบบส่งเดิมให้มั่นคงแข็งแรงมากขึ้น 3,350 ล้านบาท ที่เหลือ 16,830 ล้านบาท จะเป็นเรื่องการปรับปรุงระบบส่ง

บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร
บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร

ส่วนที่ 2 คือ ระบบผลิต 11,166 ล้านบาท คือ โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนที่ 8-9 ประมาณ 5,000 ล้าน ที่เหลือเป็นการบำรุงรักษาตามวาระ การจ้าง การซื้ออะไหล่ และการปรับปรุงอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ระยะ 4 อีก 400 กว่าล้านบาท

ส่วนที่ 3 แผนลงทุนด้านพลังงานของบริษัทในเครือ กฟผ. 3,478 ล้านบาท ซึ่งจะมีทั้งบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO บริษัท ราชกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด (มหาชน) หรือ DCAP และบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด

ภาพการลงทุนด้านพลังงานที่กำลังเกิดขึ้นมากกว่า 250,000 ล้านบาทไม่เพียงจะเป็นหนึ่งพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2566 ให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย สร้างงานสร้างอาชีพให้คนไทย ยังจะเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมความแข็งแกร่งความมั่นคงด้านพลังงานของไทยในอนาคตด้วย