เขตเศรษฐกิจพิเศษ GBA “ฮ่องกง” ประตูการค้าไทยสู่จีน

ฮ่องกง
สตีเฟ่น ฟิลิปส์

หลังการแพร่ระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกคลี่คลายลง เขตบริหารงานพิเศษฮ่องกง ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ระบาดสูงแห่งหนึ่งของโลก เริ่มกลับมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการเปิดประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสตาร์ตนโยบายที่จะดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้กลับเข้ามาฮ่องกงในสาขาธุรกิจไฟแนนเชียล ฟินเทค ธุรกิจดิจิทัล ธุรกิจที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง และยังรวมไปถึงธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมและการวิจัย (R&D) SMEs หรือแม้แต่ startup ด้วย

ให้คำปรึกษานักลงทุน 4 ปีในไทย

นายสตีเฟ่น ฟิลิปส์ อธิบดีสำนักงานส่งเสริมการลงทุนฮ่องกง (Invest Hong Kong) กระทรวงพาณิชย์และการพัฒนาฮ่องกง กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงประจำกรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดเป็นหนึ่งใน 14 หน่วยงานตัวแทนอย่างเป็นทางการของรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ที่จะดูแลประเทศไทย-กัมพูชา-เมียนมา-บังกลาเทศ

โดยสำนักงานในกรุงเทพฯแห่งนี้ถือเป็นสำนักงานแห่งที่ 3 ที่จัดตั้งขึ้นโดยหน่วยงานรัฐบาลเขตปกครองพิเศษฮ่องกงในภูมิภาคของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ตั้งขึ้นมาเป็นเวลา 4 ปี มีหน้าที่ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างฮ่องกงและทั้ง 4 ประเทศ โดยบทบาทสำคัญนี้จะคล้ายกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของไทยนั่นเอง

เตรียมออกแพ็กเกจดึงการลงทุน

ในช่วงที่หลายประเทศต่างงัดกลยุทธ์เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศมากที่สุด ทางรัฐบาลฮ่องกงเตรียมที่จะออก “แพ็กเกจ” ให้เหมาะสมกับรายเซ็กเตอร์ โดยการออกนโยบายซัพพอร์ตพิเศษนี้จะสร้างอิมแพ็กต์อย่างมากให้กับเศรษฐกิจฮ่องกง โดยเฉพาะการมุ่งที่จะดึงกลุ่มธุรกิจทางด้านไฟแนนเชียล ฟินเทค กลุ่มธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและที่สำคัญต้องการดึงธุรกิจที่มีนวัตกรรม งานวิจัย (R&D)

R&D กลุ่มนี้จะได้สิทธิประโยชน์ที่ค่อนข้างสูง เช่น ลงทุน 100,000 เหรียญสหรัฐ สามารถลดหย่อนภาษีได้ 3 แสนเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ยังมีสิทธิพิเศษสำหรับกลุ่มธุรกิจ startup ที่รัฐบาลจะคิดอัตราภาษีเพียง 8.25% เท่านั้น ทำให้ startup มีการเติบโตถึง 13% ในปี 2565

ข้อดีอีกส่วนหนึ่งของการลงทุนในฮ่องกงก็คือ การที่ธุรกิจไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)ภาษีสินค้าและบริการ (GST) หรือคิดภาษีเป็น 0% ขณะเดียวกันยังมีความพิเศษในเรื่องของเงินที่จะเข้ามาซัพพอร์ตสำหรับในบางธุรกิจเช่นกัน

เขตเศรษฐกิจพิเศษ GBA

ยุทธศาสตร์เขตเศรษฐกิจพิเศษ (GBA) ที่ฮ่องกงมีกับทางจีนจะส่งผลให้เมืองต่าง ๆ ในบริเวณลุ่มแม่น้ำไข่มุกเชื่อมต่อกันเสมือนเป็นเมืองเดียวกัน ด้วยรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมแต่ละเมืองเข้าด้วยกัน จึงบ่งชี้ได้ว่า “ฮ่องกงคือประตูสู่การค้าจีน” จะเห็นว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีนักลงทุนหลายอุตสาหกรรมและหลากธุรกิจใช้ฮ่องกงเป็นฐานเพื่อกระจายสินค้าออกไปจีน เชื่อมไปยังยุโรป อาเซียน และอินเดีย

ขณะเดียวกันจีนเองยังสร้างความได้เปรียบทางด้านการค้า โดยการมีพันธมิตรทางเศรษฐกิจ (closer economic partnership : CEP) ที่ใช้ฮ่องกงเป็นฐานการลงทุนเช่นกัน เพื่อเปิดไปสู่ตลาดโลก

สำหรับนักลงทุนไทยเอง นายสตีเฟ่นกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักที่รัฐบาลฮ่องกงหวังที่จะดึงดูดการลงทุนเข้าไป ด้วยศักยภาพ การมีธุรกิจที่หลากหลาย ความโดดเด่นของทักษะเฉพาะ เช่น ธุรกิจสปา ธุรกิจที่เป็นไลฟ์สไตล์ wellness หรืออุตสาหกรรมความงามและการดูแลสุขภาพ

และแน่นอนคือ ธุรกิจอาหาร อย่าง AFTER YOU คือหนึ่งในร้านอาหารที่ลงทุนในฮ่องกงและประสบความสำเร็จอย่างมาก ภายในเวลาไม่กี่ปี โดยปัจจุบันธุรกิจอาหารไทยที่เกิดขึ้นในฮ่องกงมีราว 400 ร้าน และทุกแบรนด์ต่างเติบโตอย่างมากปีละ 2.5%

แต่การจะตัดสินใจของนักลงทุนเพื่อลงทุนในประเทศใด ๆ นั้น ไม่ใช่เรื่องงานอย่างเดียว จากการให้คำปรึกษาแก่นักธุรกิจของไทยพบว่า สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนต้องการเห็นก็คือ ความชัดเจนของนโยบาย ขณะที่ฮ่องกงได้ถูกการันตีจากนักลงทุนเองว่า

ฮ่องกงมีความโปร่งใสในเรื่องของกฎหมายและกฎระเบียบมากที่สุด เนื่องจากการใช้นโยบาย “หนึ่งประเทศสองระบบ (One Country Two Systems)” บวกกับการมีโครงสร้างพื้นฐาน โครงการก่อสร้างที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงคาดการณ์ว่าในปี 2573 เศรษฐกิจของฮ่องกงจะมี GDP เติบโตเป็นอันดับ 5-6 ของโลก

หวนคืนสู่ศูนย์กลางการเงิน

นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์เขตเศรษฐกิจพิเศษ (GBA) ยังส่งผลให้ฮ่องกงกลายเป็นแพลตฟอร์มสำคัญสำหรับธุรกิจการค้าปลีกที่มีมูลค่าสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาท หรือโตกว่า 8.1% ในปี 2564 เป็นโอกาสของนักลงทุนและผู้ประกอบการธุรกิจชาวไทย ที่ต้องการขยายแบรนด์สินค้าสู่ตลาดนานาชาติ

นอกจากนี้ด้วยทำเลที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ใจกลางเอเชีย-แปซิฟิก ยังส่งผลให้ฮ่องกงมีบทบาทสำคัญต่อผู้ประกอบการจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่และบริษัทข้ามชาติในเอเชียไปฮ่องกง

จากสถิติยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของฮ่องกงพบว่า เพิ่มขึ้น 6.2% หรือมีมูลค่า 9.26 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐและจีน

ดังนั้นฮ่องกงจึงกลายเป็นศูนย์กลางด้านการเงินชั้นนำของโลกและเป็นตลาดที่มีสภาพคล่องสูง เงินสกุลฮ่องกงดอลลาร์เป็นที่ยอมรับและสามารถแลกเปลี่ยนได้อย่างเสรี และฮ่องกงเปิดอิสรภาพในการเคลื่อนไหวเข้าออกของสินค้า ข้อมูล และเงินทุน ซึ่งปัจจุบันมีธนาคารชั้นนำท็อป 100 ของโลก จำนวนมากถึง 77 แห่งตั้งสำนักงานและปฏิบัติการอยู่ในฮ่องกง

นอกจากนี้ยังมีสถิติที่ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2563 อาเซียนเป็นผู้ส่งออกสินค้าไปยังฮ่องกงรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากจีน มูลค่าการค้าระหว่างฮ่องกงและอาเซียนสูงถึง 4.65 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 3% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของฮ่องกง โดยระหว่างปี 2559-2563 มูลค่าการค้าระหว่างฮ่องกงและอาเซียนเติบโตปีละ 6% เป็นการโตที่ไม่น้อย

รัฐบาลฮ่องกงมีแผนการลงทุนมากกว่า 4 แสนล้านบาทในโครงการ Express Rail Link และโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง เพื่อรองรับการเติบโตของเมือง รวมถึงการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในการเป็นศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์ที่มีเครือข่ายเชื่อมต่อกับเอเชีย ยุโรป และทั่วโลก

ไม่เพียงเท่านั้นรัฐบาลฮ่องกงยังจัดทำโครงการสนับสนุนเงินทุนแก่ผู้ประกอบการมากกว่า 40 โครงการ บริษัทที่เข้าไปลงทุนสามารถขอสนับสนุนเงินทุน เพื่อพัฒนาธุรกิจในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการทำแบรนดิ้ง การส่งเสริมการขาย การปรับปรุงบริการเชิงเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และการขออนุญาตจัดตั้งธุรกิจ