“ส.ป.ก.”จี้เอกชนจ่ายค่าเช่าที่ 4 สัมปทานปิโตรเลียม-เดดไลน์ 26 ก.พ.

ส.ป.ก.ขีดเส้น 26 กุมภาพันธ์ ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมบนบกในที่ดิน ส.ป.ก.ทั้ง 4 รายจะต้องยื่นเสียค่าปรับจากกรณีเข้าใช้ที่ดิน ส.ป.ก.และขออนุญาตใช้พื้นที่ตามหลักเกณฑ์ใหม่ โดย ปตท.สผ.จ่อต้องจ่าย 2 เด้ง ทั้งค่าปรับ-ค่าเช่าไม่ต่ำกว่า 35 ล้านบาท พร้อมยื่นหนังสือถึงกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติขอต่ออายุสัญญาสัมปทานแหล่งสิริกิติ์ต่ออีก 10 ปี

 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานหลังจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอ และการพิจารณาให้ความยินยอม หรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2560 โดยในรายละเอียดสำคัญของกฎกระทรวงฉบับนี้ ได้กำหนดให้ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมที่ใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่ไม่ได้ขออนุญาตเข้าใช้ที่ดินนั้น จะต้องดำเนินการยื่นเสียค่าปรับตามขนาดและระยะเวลาการเข้าใช้พื้นที่ตามที่กำหนดไว้ภายใน 60 วัน นับจากวันที่กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ มีผลบังคับใช้ (29 ธ.ค. 2560) หรือจะต้องยื่นเอกสารภายในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ และหากไม่ดำเนินการจะถือว่าผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมทำผิดกฎหมายและอาจจะไม่ได้รับสิทธิ์ในการเข้าใช้พื้นที่ต่อไปอีก

ทั้งนี้ มีผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมในพื้นที่ ส.ป.ก.รวม 4 ราย ได้แก่ 1) บริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด ในเครือบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานแหล่งสิริกิติ์ (พิษณุโลก-กำแพงเพชร) 2) บริษัท ซีเอ็นพีซีเอชเค (ไทยแลนด์) ผู้รับสัมปทานแหล่งบึงหญ้า-บึงม่วง (สุโขทัย) 3) บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) ผู้รับสัมปทานแหล่งวิเชียรบุรี และ 4) กลุ่มบริษัทอพิโก้ ผู้รับสัมปทานแหล่งดงมูล (อุดรธานี) ทั้งหมดนี้กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการจัดทำเอกสารเพื่อยื่นต่อ ส.ป.ก.และคาดว่าจะดำเนินการได้ทันเวลาที่กำหนดไว้

แหล่งข่าวจากผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมคาดว่า ในการประเมินเบื้องต้นจากราคาประเมิน-จำนวนปี และขนาดของพื้นที่แหล่งแล้ว คาดว่าบริษัท ปตท.สผ.สยาม จะต้องจ่ายค่าปรับที่ประมาณ 15 ล้านบาท รวมถึงค่าเช่าที่ดิน (ตามเงื่อนไขใหม่) อีกประมาณ 20 ล้านบาท

รวมทั้งสิ้นประมาณ 35 ล้านบาท โดยผู้รับสัมปทานทุกรายที่ใช้ที่ดิน ส.ป.ก.จะต้องดำเนินการยื่นขออนุญาตเพื่อทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะนี้ผู้รับสัมปทานทั้ง 4 รายได้เตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว และคาดว่าจะดำเนินการได้ทันตามที่ ส.ป.ก.กำหนดนี้

ล่าสุดมีรายงานข่าวเพิ่มเติมเข้ามาว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เรียกบริษัทผู้รับสัมปทานบนบกทั้งหมดเข้ามาเพื่อซักซ้อมและจัดเตรียมเอกสารเพื่อยื่นต่อ ส.ป.ก.ในแต่ละจังหวัด ส่งผลให้ทุกบริษัทสามารถยื่นเรื่องขออนุญาตได้ถูกต้องและรวดเร็วขึ้น โดยบริษัท ปตท.สผ.สยาม ได้ยื่นขอต่ออายุสัญญาสัมปทาน “แหล่งสิริกิติ์” ที่จะหมดอายุในปี 2564 นี้แล้ว โดยสามารถต่ออายุได้อีก 10 ปีตามที่กฎหมายกำหนด

แหล่งดังกล่าวเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2524 ซึ่งปัจจุบันยังคงมีการผลิตน้ำมันอย่างต่อเนื่อง โดยตามรายงานปริมาณการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งสิริกิติ์ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติระบุว่า ในเดือนธันวาคม 2560 สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 37.71 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ผลิตน้ำมันดิบที่ 24,533 บาร์เรล/วัน มีจำนวนหลุมเปิดผลิตอยู่ที่ 368 หลุม จากที่มีหลุมทั้งสิ้น 863 หลุม

ด้านนายสุรจิตต์ อินทรชิต เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวถึงหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าเช่าที่ดินและการดำเนินการทั้งหมดอยู่ในกรอบเวลาตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและการพิจารณาให้ความยินยอม หรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยมีกรอบระยะเวลาพิจารณาภายใน 60 วันนับจากวันที่ 29 ธันวาคม 2560 ที่มีประกาศใช้กฎกระทรวงบังคับใช้เท่านั้น “ส.ป.ก.จึงไม่มีอำนาจขยายระยะเวลาได้เพราะเมื่ออยู่ในระเบียบแล้ว ส.ป.ก.ก็ไม่มีสิทธิหรืออำนาจทำอะไรได้เช่นกัน ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและกฎระเบียบตามระยะเวลาที่กำหนด” ที่มาของกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและการพิจารณาให้ความยินยอม หรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2560 เกิดจากศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเพิกถอนระเบียบการใช้ที่ดินปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรมหรือที่ดิน ส.ป.ก.ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรมหรือที่ดิน ส.ป.ก.ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรมตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560

โดยคำพิพากษาของศาลดังกล่าวครอบคลุมถึงกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เหมืองแร่ จนถึงสัมปทานปิโตรเลียม 4 แหล่งบนบกที่ต้องหยุดเดินเครื่องผลิต

หลังจากนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ได้ออกประกาศใช้มาตรา 44 เรื่องการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและประโยชน์สาธารณะของประเทศระบุ ให้ใช้พื้นที่ ส.ป.ก.ได้ร้อยละ 1 ที่นอกเหนือจากการเกษตรได้ และให้ ส.ป.ก.

กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและพิจารณาการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขอและพิจารณาให้ใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน แต่ก็ยังมีข้อกังวลในกรณีการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมบนบกในอนาคต เนื่องจากคำสั่งของมาตรา 44 ฉบับดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงและท้ายที่สุดปัญหาก็จะเกิดขึ้นคล้าย ๆ กัน ซึ่งประเด็นนี้กรมเชื้อเพลิงฯอยู่ในระหว่างดำเนินการแก้ไขเร่งด่วน