บัณฑิต ธรรมประจำจิต ซีอีโอใหม่ “ไทยออยล์” เปิดแผน 3 ปี

บัณฑิต ธรรมประจำจิต
สัมภาษณ์

เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566 “บัณฑิต ธรรมประจำจิต” เข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือซีอีโอของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP แต่ในวงการพลังงานต่างรู้จักเขาเป็นอย่างดีในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้คร่ำหวอดในวงการมานาน และยังเป็นลูกหม้อในไทยออยล์มา 32 ปี ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ทิศทางการทำงานของ “บัณฑิต” ที่มุ่งขับเคลื่อนไทยออยล์สู่องค์กร 100 ปี โดยชูแนวทาง TOP For the Great Future และวางกลยุทธ์ 3V สานต่อจากแนวคิดการทำงานของ “วิรัตน์ เอื้อนฤมิต” ซีอีโอคนก่อนได้วางไว้ก่อนหน้านี้ เป็น The lastman standing

ฝ่าความท้าทายพลังงาน

แนวโน้มจากการที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับเมกะเทรนด์ การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัยที่มีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีมากขึ้น ทุกองค์กรต่างปรับตัว

ไทยออยล์ก็มีแผนที่จะก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และเป็น Net zero ในปี 2060 โดยได้มีการปรับแผนเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งขณะนี้เข้าสู่ช่วงที่ 2 ตามแผนของปี 2022-2025 จึงได้วางแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า TOP For the Great Future

โดย T ตัวแรก ย่อมาจาก Transformation หมายถึงการทรานส์ฟอร์มองค์กรในทุกมิติ O คือ Operational to Business Excellence คือ การยกระดับการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างผลกำไรสูงสุด และ P คือ Partnership & Platform หมายถึง การเติบโตไปพร้อมกับพันธมิตร สร้างแพลตฟอร์มธุรกิจใหม่

การดำเนินการผ่านกลยุทธ์ 3V ประกอบด้วย Value Maximization คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง (HPVs) ต่อยอดปิโตรเลียมสู่ปิโตรเคมี กลยุทธ์ Value Enhancement คือการมุ่งขยายตลาดไปต่างประเทศ เพื่อรองรับการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ในอนาคตโดยจะโฟกัสไปที่ 3 ประเทศคือ อินโดนีเซีย เวียดนาม และอินเดีย และกลยุทธ์ที่ 3 คือ Value Diversification ซึ่งทางไทยออยล์ได้มีการวางแผนที่จะทรานส์ฟอร์มธุรกิจไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงและธุรกิจใหม่ ๆ สู่การพัฒนารูปแบบสินค้าและเทคโนโลยี (New S-Curve) เพื่อสอดคล้องกับการทำงานของโลก

แผนอนาคตไทยออยล์

3 ปี ปรับพอร์ตเพิ่มธุรกิจใหม่

เป้าหมายของการดำเนินการตามแผนนี้จะทำให้ portfolio ของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันที่มีการทำกำไรสุทธิจากปิโตรเลียมมากกว่า 70-80% ก็จะลดลงเหลือ 40% ในปี 2530 และจะมีรายได้ในส่วนของปิโตรเคมี 30% และจะมีกลุ่มธุรกิจใหม่รวมทางกลุ่ม New S Curve 25% ขณะที่กลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าจะลดลงจาก 10% เหลือ 5% เพราะบริษัทมีขนาดใหญ่ขึ้น

อัดงบฯลงทุน 1 พันล้านเหรียญ

ในช่วง 3 ปีนี้ (2023-2025) ไทยออยล์มีแผนที่จะใช้งบประมาณในการลงทุน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 33,000-34,000 ล้านบาท เฉพาะในปีนี้จะมีการใช้งบประมาณการลงทุน 20,000 ล้านบาท

สำหรับการลงทุน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งสัดส่วน 50% อยู่ที่ธุรกิจพลังงานสะอาดในโครงการ Clean Fuel Project (CFP) ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องขนาดใหญ่ที่ใช้งบฯลงทุน 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะนี้แล้วเสร็จไป 90%

ส่วนที่เหลือ 50 ล้านเหรียญสหรัฐจะมีการใช้ในการลงทุนโรงไฟฟ้า SPP ซึ่งเตรียมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในเดือนเมษายนนี้ เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอีก 120 เมกะวัตต์ จาก 240 เมกะวัตต์ รวมเป็น 360 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นการผลิตเพื่อขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) 180 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งจะใช้เองภายในโรงงาน

นอกจากนี้บริษัทยังเตรียมใช้เม็ดเงินลงทุนอีก 270 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการขยายโรงงานปิโตรเคมีที่ประเทศอินโดนีเซีย Chandra Asri เป็นแห่งที่ 2 เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตจากปัจจุบัน 1 ล้านตันต่อปี เป็น 2 ล้านตันต่อปี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาถึงโอกาสและความเหมาะสมในการลงทุนโรงงานแห่งที่ 2 ว่าควรจะขยายทันทีหรือไม่ เพราะในช่วงที่ผ่านมาสินค้ากลุ่มปิโตรเคมีอยู่ในช่วงขาลง จากการที่มีซัพพลายของโรงงานปิโตรฯใหม่ ๆ โดยเฉพาะจากจีนเพิ่มมากขึ้น และตอนนี้ผลิตภัณฑ์ปิโตรฯเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัว ดังนั้นการลงทุนจะต้องมีดูจังหวะเวลาและความเหมาะสม

สุดท้ายวงเงินอีก 120 ล้านเหรียญสหรัฐ จะใช้ในการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตพร้อมทั้งลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ startup ซึ่งที่ผ่านมาไทยออยล์ได้มีการลงทุนในเวนเจอร์แคปิตอล 3 กองทุน มีการสร้างสตาร์ตอัพทั้งหมด 6 รายแล้ว

โฟกัส 3 ประเทศเป้าหมาย

แผนการขยายตลาดเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง หรือ IVCM ตอนนี้จะโฟกัสไปใน 3 ประเทศนี้ คือ อินโดนีเซีย ซึ่งเรามีโรงงานร่วมกับ Chandra Asri และกำลังจะต่อยอดโรงงานแห่งที่ 2 ประเทศส่วนประเทศเวียดนาม เรามีบริษัท TOP Solven เป็นผู้ผลิตและจำหน่าย solvent ที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ซึ่งได้แปลงให้กลายเป็นบริษัท TOP Next เพื่อจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เรายังมีการร่วมกับพันธมิตรมีการลงทุนในประเทศอินเดียด้วย

ต่อยอดธุรกิจใหม่

จากแผนจะเห็นว่า ไทยออยล์มุ่งจะเพิ่มสัดส่วนธุรกิจใหม่เป็น 25% ซึ่งเราจะดำเนินธุรกิจที่เรียกว่า D&S ย่อมาจาก Disinfectant and Surfactant ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับสารเคมีสำหรับใช้ในผลิตภัณฑ์ซักล้างทำความสะอาด ช่วยลดแรงตึงผิว หรือกลุ่มโฮมแคร์ นับว่าเป็นอนาคตเพราะตลาดมีการเติบโตมูลค่าถึง 50 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และมีอัตราการเติบโต 5-6% สูงกว่าอัตราการเติบโตของจีดีพีเสียอีก ทั้งยังมีความสามารถในการทำกำไร EBITDA 12-18% ขึ้น สูงกว่าอัตราการทำกำไร EBITDA ไทยออยล์ที่อยู่เพียงระดับไม่ถึง 2 หลักในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังต้องเป็นธุรกิจที่ใช้การขับเคลื่อนเทคโนโลยีเข้ามาช่วย

“เราอยากจะร่วมกับพันธมิตรเพื่อที่จะพัฒนาสินค้าในอนาคตมุ่งไปที่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคและเป็นไปตามแนวทางเป้าหมายของเรา ไม่เน้นผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ ตอนนี้อยากให้มีโนว์ฮาวเป็นของตัวเอง กำลังดูว่าจะมีใครที่น่าสนใจจะแอปโพรชเข้าไปคุยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในปีนี้”

แผนหลัง CFP เสร็จ

สำหรับแผนในปี 2026-2030 หลังจากที่เสร็จสิ้นโครงการ Clean Fuel Project หรือ Post CFP ขณะนี้โครงการมีความคืบหน้าไปแล้ว 90% ในปีนี้จะมีการก่อสร้างเพิ่มเติมและมีคนงานลงไปทำงานมากกว่า 15,000 คน คาดว่าจะเริ่มทยอยผลิตน้ำมันยูโร 5 ได้ก่อนในไตรมาส 1 ของปี’67 เร็วกว่าแผนที่วางไว้ว่าจะเสร็จทั้งหมดในปี’68 เพราะรัฐบาลจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายให้เป็นยูโร 5 ในวันที่ 1 มกราคม 2567 และจากนั้นจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันหนักคุณภาพสูง

หลังจาก CFP เสร็จไทยออยล์จะสามารถผลิตน้ำมันได้แทบทุกชนิดในโลก แล้วก็จะมีการ generate รายได้กลับคืนมาสู่บริษัท เพราะมีการผลิตสินค้าที่เพิ่มมูลค่าขึ้น ซึ่งรายได้ที่คืนกลับมาก็จะนำไปใช้ในการลงทุนต่อในผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง (HVPs) ธุรกิจที่มีมูลค่าสูง (HVB) เช่น การผลิตน้ำมันอากาศยานชีวภาพ (Bio Jet) การศึกษาโอกาสลงทุนพัฒนาพลังงานจากไฮโดรเจน (H2) การลงทุนพัฒนาระบบกักเก็บคาร์บอน (CCS) และการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับใช้ประโยชน์จากคาร์บอนที่กักเก็บไว้ (CCU) เป็นต้น

“ตามนโยบายรัฐบาล 30@30 จะมีการเพิ่มจำนวนรถอีวีมากขึ้น เราจึงจำเป็นต้องหันไปผลิต HVP พวกสเปเชียลตี้ พอลิเมอร์มากขึ้น ส่วนน้ำมันเตาต้องหยุด และเรากำลังศึกษาที่พัฒนาไปสู่ไบโอเจ็ต ส่วนเทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอนเป็นนโยบายที่ประเทศจะมุ่งไป ปตท.ได้มีการนำร่องศึกษาโดย ปตท.สผ.ที่เริ่มในแม่เมาะ ส่วนเราก็อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ว่าจะมีศักยภาพกักเก็บในแหล่งผลิตของเราหรือไม่ แต่ต้องใช้ระยะเวลาอีกสักระยะ เพราะต้นทุนของเทคโนโลยีนี้ค่อนข้างสูง หากเทียบกับราคาคาร์บอนที่ขายได้ จึงวางเป็นธุรกิจในแผน Post CFP”

น้ำมันเจ็ต โปรดักต์แชมป์ปี’66

ปิดท้ายด้วยภาพรวมธุรกิจปีนี้ ไทยออยล์ตั้งเป้าหมายสร้างรายได้ 4 แสนล้านบาท อาจจะลดลงจากปีก่อนซึ่งเป็นปีที่ธุรกิจน้ำมันเติบโตผิดปกติ สามารถทำได้ถึง 5 แสนล้านบาท โดยปัจจัยสำคัญมาจากแนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานมีดีมานด์เติบโตเพิ่มขึ้น 50-60% จากความต้องการใช้น้ำมันภาพรวมที่คาดจะเติบโต 4-5% ซึ่งเป็นผลมาจากจีนเปิดประเทศและมีการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น คิดเป็นประมาณความต้องการใช้ 15 ล้านลิตรต่อวัน ขยับเข้าใกล้ช่วงก่อนโควิดที่มีความต้องการใช้ 20 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อไทยออยล์เป็นผู้ผลิตเบอร์ 1 ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด

หากตลาดมีแนวโน้มเติบโตขึ้น ไทยออยล์ก็สามารถเพิ่มสัดส่วนการผลิตน้ำมันอากาศยานได้จากสัดส่วนกำลังการผลิต 10% ของกำลังการกลั่นภาพรวม 300,000 บาร์เรล

สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมันในปีนี้ คาดการณ์เฉพาะช่วงครึ่งปีแรก น้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 80-85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งคาดว่าจะต้องมีการปรับประมาณการอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะยังมีความผันผวน จากที่แม้ว่าจีนจะมีการเปิดประเทศแต่ยังมีปัญหาเรื่องความขัดแย้ง Geopolitic ยังไม่นิ่ง ทั้งสหรัฐ-จีน รัสเซีย-ยูเครน ขณะเดียวกันธนาคารกลางสหรัฐยังจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อต่อซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อ รวมถึงส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

ขณะที่ตลาดภายในประเทศของไทยก็ยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งด้วย ซึ่งทางภาคเอกชนต้องการเห็นนโยบายด้านพลังงานที่มีความต่อเนื่องและความชัดเจน เพื่อจะได้ดำเนินธุรกิจต่อไป