เปิดเหตุผลเกษตรกร ขอรัฐบาลใหม่ “หยุด” ประกันรายได้

สินค้าเกษตร

หลายฝ่ายคงจับตามองนโยบายเศรษฐกิจ ของพรรคการเมืองที่ลงสู้ศึกเลือกตั้งครั้งใหม่ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ ว่าแต่ละพรรคจะหยิบยกอะไรมาหาเสียงซื้อใจเกษตรกรที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ จุดแข็งจุดขายนโยบายดูแลสินค้าเกษตรกรจะ “ฉีกแนว” จากวิถีการประกันรายได้ที่ใช้มา 4 ปี ไปได้หรือไม่

ความคาดหวังเกษตรกร

นายรังษี ไผ่สอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า นโยบายในการดูแลสินค้าเกษตรของรัฐบาลชุดใหม่ สิ่งที่ต้องการให้ยกเลิกเลย คือโครงการจำนำและโครงการประกันรายได้ เพราะมองว่า ไม่ได้ส่งเสริมผลผลิตและผลักดันราคาสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน

“สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแล คือ การส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ซึ่งชาวไร่มีเป้าหมายว่าภายในปี 2568 ยกระดับผลผลิต 5 ตันต่อไร่ให้ได้ จากปัจจุบัน 3.3 ตันต่อไร่ รัฐจะต้องเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนการช่วยลดต้นทุนปัจจัยการผลิต การส่งเสริมเครื่องมือเครื่องจักร โดยให้มีการเข้าถึงและลดภาษีมากขึ้น สนับสนุนแหล่งเงินทุน พร้อมทั้งผลักดัน พ.ร.บ.มันสำปะหลัง และจัดตั้งกองทุนเพื่อชาวไร่มัน”

สำหรับราคามันสำปะหลังปัจจุบันเฉลี่ย 3.90 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับเชื้อแป้ง 25% ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรขายได้ราคา เนื่องจากผลผลิตออกน้อยจากปัญหาโรคใบด่างและน้ำท่วมในปีที่ผ่านมา โดยผลผลิตในปีนี้คาดการณ์ว่าจะต่ำกว่า 30 ล้านตัน จากปัจจัยสภาพอากาศ น้ำและโรคใบด่างที่ต้องการให้หน่วยงานเข้ามา ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด

“น้ำ” ปัญหาใหญ่

ขณะที่ นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า เมื่อได้รัฐบาลชุดใหม่ สิ่งที่ชาวนาต้องการให้รัฐช่วยเหลือ มีนโยบาย มาตรการดูแล คือ เรื่องของการหาแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของภาคเกษตร หากไม่เพียงพอจะเป็นปัญหา และปัจจุบันการขุดเจาะบาดาลหรือทำแหล่งน้ำยังน้อยมาก ต้องการให้ทำให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะภาคอีสาน 20 จังหวัด ส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด การส่งออก ช่วยลดต้นทุนในเรื่องของปุ๋ย

ปัจจุบันราคาข้าวมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ข้าวขาว 5% เฉลี่ยอยู่ที่ 9,500-9,800 บาทต่อตันข้าวหอมมะลิเฉลี่ยอยู่กว่า 10,000 บาทต่อตัน ข้าวพันธุ์พื้นนุ่มเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 9,000 บาทต่อตัน ยัง “ต่ำกว่าราคาประกัน” ชาวนาคาดว่าผลผลิตปีนี้จะมีปริมาณ 30 ล้านตันข้าวเปลือก ปัจจุบันเกษตรกรเริ่มลงปลูกข้าวนาปรังแล้ว

นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้โครงการรัฐบาลที่ผ่านมาดี แต่สิ่งที่ต้องการให้เห็นถึงความยั่งยืนโดยต้องการให้มีการสนับสนุนดูแลเรื่องโครงสร้างราคาสินค้าเกษตร มี พ.ร.บ.พืชเศรษฐกิจที่ดูแลทั้งระบบ การจัดโซนนิ่งสำหรับสินค้าเกษตร การนำเทคโนโลยีและให้ความรู้แก่เกษตรกร ไม่ใช่แค่เพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนเพียงอย่างเดียว

ปัจจุบันราคาปาล์มน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 5-7 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 34-35 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบอยู่ประมาณ 3 แสนตัน คาดว่าผลผลิตปีนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 18-20 ล้านตัน สำหรับปาล์มทะลาย และผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป

ยางไร้การแทรกแซง

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การดูแลยางพารามองว่าไม่ต้องการให้มีการเมืองเข้ามาแทรกแซง โดยเฉพาะคณะกรรมการการดูแลยางพารา เนื่องจากเห็นว่าผู้ที่เข้ามาไม่ได้มีความเข้าใจปัญหาในสินค้ายางพารามากนัก ทั้งนี้ ยังต้องการให้รัฐบาลที่เข้ามาช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมยางพารา และเพิ่มมูลค่าสินค้ายางพาราให้มากขึ้น ส่งเสริมการวิจัย ลดนโยบายประชานิยมเนื่องจากไม่ได้ช่วยส่งเสริมอย่างแท้จริง

ปัจจุบันราคายางพารา เช่น น้ำยางข้นอยู่ที่ 44 บาทต่อกิโลกรัม ยางแผ่นดิบอยู่ที่ 45 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนต้นทุนของเกษตรกรอยู่ที่ 63 บาทต่อกิโลกรัม

ย้อนประกันรายได้ 3 ปี

เป็นที่น่าสังเกตว่า ชาวไร่ชาวนาแกนนำหลักแต่ละสมาคมต่างเห็นตรงกัน ถึงประเด็นหลักที่โครงการประกันรายได้ยังไม่ตอบโจทย์เกษตรกรเท่าที่ควร เพราะไมได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว

ซึ่งหากย้อนไปโครงการประกันรายได้พืช 5 ชนิด ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดเจนว่าการตั้งวงงบประมาณในโครงการประกันรายได้ “ทะยาน” สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปีแรกใช้งบประมาณรวม 71,204 ล้าน เพิ่มเป็น 75,166 ล้านบาทในปีที่ 2 และ 113,315 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา ทั้งที่มาตรการเหล่านี้ควรจะเป็นเครื่องมือชั่วคราวที่เข้ามาช่วยให้เกษตรกรปรับตัว และเข้มแข็ง สามารถยืนหยัดอยู่ด้วยขาของตัวเอง แต่การตั้งวงเงินงบประมาณเพิ่มขึ้น (แม้ว่าจะใช้ไม่เต็มวงเงิน) แต่นั่นสะท้อนว่า 3 ปีที่ผ่านมา ราคาสินค้าเกษตรในตลาดจริงต่ำ เมื่อเทียบกับราคาประกัน ทำให้รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลือ “ชดเชยรายได้” ให้เกษตรกรเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนหาที่สิ้นสุดไม่ได้

แต่หากวิเคราะห์ ประกันรายได้แบบรายปี-รายพืช จะพบว่า ข้าวเป็นสินค้าที่น่าห่วงมากที่สุด เพราะ “ประกันรายข้าว” ปีแรกจ่ายเงินชดเชย 19,413.14 ล้านบาท จากงบประมาณ 20,940 ล้านบาท ขยับมาปีที่ 2 จ่ายเงินเพิ่มขึ้นเป็น 48,178.36 ล้านบาท จากงบประมาณ 49,509 ล้านบาท และปีที่ 3 จ่ายแล้ว 28 งวดจากทั้งหมด 33 งวด เป็นเงิน 86,114 ล้านบาท กำลังจะจบโครงการ พ.ค. 65 ยังรอการจ่ายอีก 4 งวด “จ่ายเพิ่มขึ้น 3 เท่า ใน 3 ปี”

“ประกันรายได้ยางพารา” ปีแรก จ่ายเงินชดเชย 24,172.44 ล้านบาท จากงบประมาณ 25,819 ล้านบาท คงเหลือ 1,647 ล้านบาท ปีที่ 2 จ่ายเงิน 7,553.75 ล้านบาท จากงบประมาณ 9,718 ล้านบาท คงเหลือ 2,164 ล้านบาท และปีที่ 3 จ่ายแล้ว 6 งวด เป็นเงิน 2,271.24 ล้านบาท จบโครงการในเดือนกันยายน 2566 แต่จ่ายครบแล้วกับผู้ขึ้นทะเบียนทั้งหมดจากเป้าหมาย 9,783 ล้านบาท ส่งผลให้คงเหลือ 7,512 ล้านบาท สรุปว่า “จ่ายเงินลดลง”

ขณะที่ “ประกันรายได้มันสำปะหลัง” ปีแรกจ่ายเงินชดเชย 7,964.49 ล้านบาท จากงบประมาณ 9,890 ล้านบาท ปีที่ 2 จ่ายเงินชดเชย 3,652.15 ล้านบาท จากงบประมาณ 9,570 ล้านบาท คงเหลือ 5,918 ล้านบาท ปีที่ 3 โครงการ พ.ย. 65 ต้องจ่าย 12 งวด ประกาศไปแล้ว 6 งวด ยังไม่ต้องจ่ายชดเชย จึงเหลืองบประมาณ 6,675 ล้านบาทคงเดิม

“ประกันรายได้ข้าวโพด” ปีแรกจ่ายเงินชดเชย 1,052.78 ล้านบาท จากงบประมาณ 1,552 ล้านบาท ประกันรายได้ปีที่ 2 จ่ายเงินชดเชย 1,234.77 ล้านบาท จากงบประมาณ 1,867 ล้านบาท และปีที่ 3 จบโครงการ ต.ค. 65 ประกาศไปแล้ว 6 งวดจากทั้งหมด 12 งวด “ยังไม่ต้องจ่ายชดเชย” จึงเหลืองบประมาณ 1,824 ล้านบาทเท่าเดิม

และ “ประกันรายได้ปาล์ม” ปีแรกจ่ายเป็นเงิน 7,221.23 ล้านบาท จากงบประมาณ 13,000 ล้านบาท ปีที่ 2 ราคาปาล์มในตลาดสูงกว่าราคาประกันจึงไม่ต้องจ่ายชดเชย ทำให้เหลืองบประมาณ 4,500 ล้านบาท และปีที่ 3 จบโครงการ ส.ค. 65 ประกาศราคาอ้างอิงไปแล้ว 8 งวด จากทั้งหมด 12 งวด แต่ราคาสูงยังไม่ต้องจ่ายชดเชย จึงเหลืองบประมาณ 7,500 ล้านบาท เท่าเดิม

ประกันรายได้ปี 4 มีแค่ 3 พืช

อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินโครงการประกันรายได้ปี 4 ที่ได้ยื่นของบประมาณสำหรับใช้ในพืช 5 ชนิดเดิม ที่ 33,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณ เพียง 3 ชนิดพืช คือ ประกันรายได้ข้าวเปลือก 18,000 ล้านบาท ปัจจุบันจ่ายให้เกษตรกรแล้ว 24 งวด จากทั้งหมด 33 งวด

ส่วนโครงการประกันรายได้ยางพารา อนุมัติงบประมาณทั้งสิ้น 7,600 ล้านบาทจ่ายให้ 2 งวด คือ งวดประจำเดือนตุลาคม และงวดประจำเดือนพฤศจิกายน 2565 ปัจจุบันธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. อยู่ระหว่างการดำเนินการจ่ายประกันรายได้ส่วนต่างของยางพารา

โครงการประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้รับอนุมัติงบประมาณ 716 ล้านบาท ประกาศราคาอ้างอิงไปแล้ว 5 งวด จากทั้งหมด 12 งวด แต่ยังไม่ต้องจ่ายชดเชยรายได้ เพราะราคาข้าวโพดเฉลี่ย 11-12 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าราคาประกันที่ 8.50 บาทต่อ กก.

ยังเหลือเพียงโครงการประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน และโครงการประกันรายได้มันสำปะหลัง ที่ ครม.ยังไม่ได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปทบทวนรายละเอียด และเป็นไปได้ที่ 2 พืชนี้จะยังไม่มีโครงการประกันรายได้ เพราะราคามันสำปะหลังและปาล์มน้ำมันสูงกว่าราคาประกัน

แต่ก็ต้องติดตามนโยบายหาเสียงของแต่ละพรรคจะมีทิศทางอย่างไรต่อไป และตอบโจทย์แก้ไขปัญหาเกษตรกรได้หรือไม่