ดีลควบรวม “บางจาก-เอสโซ่” “กขค.” เคาะ 3 แนวทางประกาศผล 90 วัน

ควบรวมบางจาก-เอสโซ่

บอร์ดแข่งขัน ตั้งสุดยอดอรหันต์ “ไมตรี สุเทพากุล” อดีตประธานศาลอุทธรณ์ ชำนาญพิเศษ เป็นประธานอนุกรรมการศึกษาดีลควบรวมบางจาก-เอสโซ่ ขีดเส้น 105 วันจบ แง้ม 3 แนวทางพิจารณาดีลควบรวมกิจการบางจาก-เอสโซ่ ลุ้นคล้ายดีลแม็คโคร-เทสโก้ ไฟเขียวควบรวมแบบมีเงื่อนไข แยกตาม Business Unit

นายวิษณุ วงศ์สินศิริกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) เปิดเผยถึงกรณีบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อหุ้น บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (“เอสโซ่”) จาก ExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd. ที่เพิ่งผ่านขั้นตอนการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นบางจาก เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมาว่า บางจากได้ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เพื่อขออนุญาตควบรวมโรงกลั่นน้ำมันระหว่างบางจากและเอสโซ่ เนื่องจากเข้าข่ายที่ต้องขออนุญาตควบรวมกิจการ ในช่วงก่อนสงกรานต์ โดยการควบรวมครั้งนี้เข้าหลักเกณฑ์ต้องขออนุญาตควบรวมกิจการตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มาตรา 51

ล่าสุด สำนักงาน กขค.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาการควบรวมกิจการ และเสนอให้ บอร์ด กขค.พิจารณา โดยตามกฎหมายกำหนดเวลาทำงาน 90 วัน และขยายต่อ 15 วัน รวมไม่เกิน 105 วัน นับตั้งแต่ที่ยื่นหนังสือและเอกสารครบถ้วน

โอกาสเคาะ 3 แนวทาง

นายวิษณุยังกล่าวอีกว่า แนวทางการศึกษาจะพิจารณาเงื่อนไขหลักเกณฑ์การควบรวม เช่น กำไร ขนาดของตลาด รวมทั้งหากจำเป็นต้องใช้ข้อมูลจากผู้ยื่นขอควบรวมก็จะขอข้อมูลเพิ่มเติม โดยอาจทำเป็นหนังสือเรียกข้อมูลหรือเชิญผู้ขออนุญาตมาชี้แจงได้

ส่วนแนวทางการพิจารณาของคณะกรรมการ กขค.นั้น มี 3 กรณี คือ 1.อนุญาตให้มีการควบรวมกิจการ โดยไม่มีเงื่อนไข 2.อนุญาตควบรวมกิจการ โดยมีเงื่อนไข และ 3.ไม่อนุญาตให้มีการควบรวม อย่างไรก็ดี ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการทำการพิจารณาว่าจะออกมาเป็นอย่างไร

สำหรับนิยาม “ผู้มีอำนาจเหนือตลาด” ตามมาตรา 50 ตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 กำหนดเกณฑ์การพิจารณาการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด โดยแบ่งลักษณะการพิจารณาเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 ผู้ประกอบธุรกิจรายเดียว มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาของ สินค้าหรือบริการหนึ่งตั้งแต่ 50% ขึ้นไป และมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป กับกรณีที่ 2 ผู้ประกอบธุรกิจ 3 รายแรกของตลาดสินค้าหรือบริการหนึ่ง มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมารวมกัน 75% และมียอดเงินภายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป แต่ถ้ามีผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งมีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมา ไม่ถึง 10% ก็จะได้รับการ “ยกเว้น” ไม่เข้าเกณฑ์การเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด

ตั้งอรหันต์กฎหมายศึกษาดีล

ด้านแหล่งข่าว กขค.กล่าวว่า ฝ่ายกฎหมายของบางจากได้ขอมาหารือ กขค. ในระดับทีมงานก่อนในช่วงที่มีการประกาศดีลควบรวม จากนั้นทางผู้บริหารระดับสูงนำโดย นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ นำคณะเข้าพบทีม กขค. เพื่อชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าซื้อหุ้นและการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของเอสโซ่ เมื่อวันที่ 12 มกราคม นำมาสู่การยื่นขออนุญาตควบรวมกิจการ กฎหมายนับหนึ่ง ซึ่งเมื่อวันที่ยื่นและเอกสารครบ และได้หารือกันในเรื่องรูปแบบ แบบฟอร์ม และข้อมูลที่ใช้ ได้ข้อยุติแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ก็รับแล้ว คิดว่าครบถ้วนตามฟอร์ม

“กรณีนี้ถือว่าเข้าเกณฑ์ต้องขออนุญาต เพราะมีผลทำให้อำนาจเหนือตลาด ตามที่กฎหมายเขียนไว้ว่า กรณีที่รวมธุรกิจแล้ว คือ 1) มูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งกรณีนี้เกินแน่นอน และ 2) เข้าข่ายผู้มีอำนาจเหนือตลาด ก่อนรวมหรือหลังรวมหรือไม่ ซึ่งก่อนรวมชัด หลังรวมก็อาจจะมีข้อมูลที่อาจจะเห็นต่างกันได้ ซึ่งการมีอำนาจเหนือตลาดมี 2 แบบ แบบแรกคือ ผู้ประกอบการรายเดียวเกิน 50 หรือแบบที่ 2 คือ รวม 3 รายแรกในตลาดมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 75% เบื้องต้นเราคิดว่าเข้าก็จบ เลยให้เขายื่น มีเวลากฎหมาย 90+15 วัน หรือ 105 วัน”

ล่าสุดส่วนกระบวนการพิจารณาเรื่องนี้ กขค.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาการควบรวมกิจการอยู่ โดยต้องใช้เวลาในการรวบรวมศึกษา เพื่อทำความเห็น ทั้งนี้เมื่อแล้วเสร็จก็จะเสนอ คณะกรรมการ การ.พิจารณาต่อไป

แง้มเงื่อนไขราย Business Unit

“ตามหลักการดูอำนาจเหนือตลาดนั้นจะดูทุกตลาด หมายถึงต้องแยกดูธุรกิจเขา เพราะในธุรกิจมีหลาย business unit บางจากมีทั้งโรงกลั่น มีทั้งปั๊ม และอื่น ๆ อีก ซึ่งเขาต้องแจ้งเราว่ามีธุรกิจอะไรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเราดูหมด ไม่ได้ดูที่ใดที่หนึ่ง

เวลาพิจารณาอำนาจเหนือตลาดก็จะแยกเป็นส่วนของธุรกิจ เช่น มีอำนาจเหนือตลาดในส่วนของโรงกลั่นไหม หรือมีอำนาจเหนือตลาดในส่วนของปั๊มหรือไม่ และถ้ามีอำนาจเหนือตลาดในส่วนใด ก็พิจารณาในส่วนนั้น”

แต่อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการก็มีสิทธิจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต เช่น ถ้ากรรมการไม่อนุญาตก็คือจบเลย ควบรวมไม่ได้ ถึงบริษัทจะมีหลายธุรกิจก็ตาม แต่ถ้าอนุญาตแล้ว “อาจจะมีมาตรการเงื่อนไขออกมาในแต่ละส่วนธุรกิจก็ได้” ไม่ใช่หมายความว่า คุณมีอำนาจเหนือตลาดในธุรกิจหนึ่งแล้ว เราจะมีเงื่อนไขไปธุรกิจอื่นไม่ได้ จริง ๆ คือทำได้ ถ้าเกิดว่าเป็นซัพพลายเชนเดียวกัน ที่เกี่ยวข้องกันก็น่าจะได้ ต้องดูในรายละเอียดก่อน เทียบกับกรณีพิจารณาเคสควบรวมเทสโก้กับแม็คโครก็มีส่วนที่แตกต่างกัน อันนี้มีธุรกิจต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เรียกว่า “ยากกันคนละแบบ”