โรงแรม-ร้านอาหาร ธุรกิจบริการที่ยังเปราะบางด้านต้นทุน

โรงแรม-ร้านอาหาร
คอลัมน์ : นอกรอบ
ผู้เขียน : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

จากสถานการณ์ค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ตามการขยับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft มาตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน และปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัว โดยเฉพาะในช่วงสภาวะอากาศร้อนจัด ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของทุกภาคส่วน ทั้งครัวเรือน การผลิต อุตสาหกรรม และธุรกิจบริการ

มองไปข้างหน้า แม้สภาพอากาศที่ร้อนน้อยลงเมื่อผ่านหน้าร้อน และราคาเชื้อเพลิงที่ย่อตัวลง จะช่วยบรรเทาต้นทุนค่าไฟฟ้าในระดับหนึ่ง แต่ภาคธุรกิจเอกชนยังมีแนวโน้มเผชิญโจทย์ด้านต้นทุนที่คาอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องในหลายรายการ ท่ามกลางเส้นทางการฟื้นตัวฝั่งรายได้ที่ยังมีความไม่แน่นอน

นอกจากการผลิตอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกจะได้รับผลกระทบจากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวแล้ว ธุรกิจบริการที่เป็นความหวังต่อการขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 นี้ ก็ยังอยู่ท่ามกลางแรงกดดันไม่น้อย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อประเด็นความเปราะบางของธุรกิจบริการ ดังนี้

ต้นทุนค่าไฟฟ้าของธุรกิจบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2566 จากการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย และความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวต่อเนื่อง แม้อัตราค่าไฟฟ้าของภาคธุรกิจ (ทั้งอุตสาหกรรมและบริการ) ในงวดเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2566 จะลดลงเมื่อเทียบกับงวดแรกของปี และอาจจะลดลงได้อีกในงวดสุดท้ายของปี หากราคาเชื้อเพลิงโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติปรับย่อลงต่อเนื่องในช่วงข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยทั้งปี 2566 ของภาคธุรกิจ จะยังเพิ่มขึ้นราว 12-17% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของปี 2565 และเมื่อประกอบกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าของธุรกิจบริการในปีนี้ที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกับในปี 2565

นำโดยการเร่งตัวต่อเนื่องของปริมาณการใช้ไฟฟ้าในกลุ่มโรงแรม ภัตตาคารและไนต์คลับ อพาร์ตเมนต์และเกสต์เฮาส์ ห้างสรรพสินค้า ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวหลังโควิดคลี่คลาย จึงทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของผู้ประกอบการธุรกิจบริการในปีนี้มีทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้น (ยิ่งใช้ไฟมาก ยิ่งจ่ายเพิ่มตาม progressive rate)

ผู้ประกอบการธุรกิจบริการยังมีความท้าทายจากต้นทุนค่าน้ำและค่าวัตถุดิบอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้นด้วย จากความเสี่ยงภัยแล้งที่อาจรุนแรงกว่าคาด โดยแม้อัตราค่าน้ำประปาน่าจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในระยะอันใกล้นี้ แต่การเคลื่อนเข้าสู่ภาวะซูเปอร์เอลนีโญ หรือภัยแล้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงที่สถานการณ์อาจจะรุนแรงและลากนานกว่า 3 ปีนั้น

ทำให้ธุรกิจบริการอาจเผชิญความท้าทายด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากราคาวัตถุดิบอาหารที่น่าจะยืนตัวในระดับสูง หรืออาจขยับสูงขึ้น เช่น ข้าว ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ต่าง ๆ

เนื่องจากผลผลิตภาคเกษตรมีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากความไม่เพียงพอของปริมาณน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน (แม้ราคาน่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดีสำหรับเกษตรกรก็ตาม) รวมถึงปริมาณความต้องการใช้น้ำก็มีแนวโน้มขยายตัวตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ต้นทุนอื่น ๆ ก็ขยับขึ้น อาทิ ค่าจ้างแรงงาน ส่วนหนึ่งจากการขาดแคลนแรงงานหลัง “แรงงานคืนถิ่น” หรือเปลี่ยนอาชีพไปในช่วงโควิด และการเข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์ ต้นทุนทางการเงิน ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในระบบการเงิน ค่าเช่าพื้นที่ จากการปรับขึ้นของราคาประเมินที่ดินทั่วประเทศ และการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ทยอยกลับมาเป็นปกติ เป็นต้น

ท่ามกลางแรงกดดันด้านต้นทุน ธุรกิจบริการโดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวยังเผชิญความเปราะบางจากการฟื้นตัวของรายได้ที่น่าจะยังไม่กลับมาเป็นปกติ แม้มีสัญญาณการเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นชัดเจนก็ตาม และไปข้างหน้าก็ยังมีความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจกระทบต่อเส้นทางการฟื้นตัว ไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพสูงที่อาจเป็นข้อจำกัดด้านการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว/ผู้บริโภค เทรนด์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทางและการใช้จ่าย

ความสามารถในการแข่งขันระหว่างแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจกระทบความเชื่อมั่นและต้นทุนการเดินทาง ภาวะโลกร้อน และประเด็นความยั่งยืน ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน หรืออุปสรรคด้านอื่นซึ่งอาจกระทบความพร้อมในการให้บริการ เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า โรงแรมที่พักและร้านอาหารเป็นธุรกิจบริการลำดับต้น ๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนค่าสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า น้ำ) และต้นทุนวัตถุดิบอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น ในจังหวะที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ สะท้อนจากการคาดการณ์ว่ารายได้หรือมูลค่าตลาดในปี 2566 ที่จะยังไม่กลับไปสู่ระดับก่อนโควิด

โดยโรงแรมที่พักมีสัดส่วนต้นทุนค่าไฟฟ้าและน้ำกว่า 18% ของต้นทุนรวม ส่วนร้านอาหารมีสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 3% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภาคธุรกิจส่วนใหญ่ที่สัดส่วนนี้อยู่ที่ราว 2.6% อีกทั้งร้านอาหารจะเผชิญการปรับขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบอาหาร จากผลกระทบของภัยแล้งที่อาจจะรุนแรงกว่าคาดด้วย

ทั้งนี้ เมื่อประกอบกับต้นทุนรายการอื่น ๆ คาดว่าต้นทุนโดยรวมของทั้งโรงแรม ที่พัก และร้านอาหารอาจจะปรับเพิ่มขึ้นอีกราว 9-16% ในปี 2566 ส่งผลให้กิจการโรงแรมที่พักและร้านอาหารที่มีความสามารถในการปรับตัวต่ำ

หรือมีความยืดหยุ่นในการปรับค่าบริการหรือราคาขายได้น้อย อีกทั้งตั้งอยู่ในทำเล/พื้นที่ที่ฐานลูกค้าอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก และมีหนี้เดิมในระดับสูงอยู่แล้ว จะเป็นกลุ่มที่เผชิญแรงกดดันสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

โดยจากข้อมูล ธปท. พบว่า ณ สิ้นปี 2565 ยอดคงค้างสินเชื่อเอสเอ็มอีธุรกิจที่พักแรมและบริการด้านอาหารอยู่ที่กว่า 3.16 แสนล้านบาท