คุมเข้ม 6 หมื่นโรงงาน “ทิ้งกาก” ต้องจ่าย เริ่ม 1 พ.ย. 2566

ขยะ

ปัญหาการลักลอบทิ้งของเสียอุตสาหกรรมเกิดเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจพบโรงงานผลิตปุ๋ยลอบทิ้งของเสียอุตสาหกรรมกว่า 80,000 ตัน โดยไม่ได้รับอนุญาตที่จังหวัดระยอง หรือข่าวเมื่อไม่นานมานี้ที่พบการลักลอบทิ้งของเสียอุตสาหกรรมริมถนนทางหลวงหมายเลข 331 จังหวัดชลบุรี

ทั้งสองเหตุการณ์ไม่ได้สร้างปัญหาแค่เฉพาะโรงงานผู้ผลิตของเสียอุตสาหกรรม ผู้กำจัดของเสียเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญปัญหานี้ยังสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบ เรื่องนี้จึงเป็นความรับผิดชอบของอุตสาหกรรมทุกภาคส่วนที่ต้องสร้างห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน (sustainable supply chain) ขึ้นมา

โดยขณะนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งให้โรงงาน 60,638 โรงงานทั่วประเทศรายงานเรื่องการจัดการของเสียและสิ่งปฏิกูลภายใน 30 มิ.ย. 2566 เพื่อให้ทันการใช้ประกาศฉบับใหม่

ทิ้งของเสียอุตสาหกรรม

นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 ที่จะมีผลบังคับในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 นี้

ได้นำหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย หรือเป็นผู้รับผิดชอบ (polluter pays principle : PPP) มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ โดยกำหนดความรับผิดของผู้ผลิตของเสียอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นทางโรงงานไปจนกว่าของเสียอุตสาหกรรมดังกล่าวจะได้รับการกำจัดอย่างสมบูรณ์ ซึ่งต่างจากเดิมที่ความรับผิดชอบจะสิ้นสุดเมื่อโรงงานผู้กำจัดของเสียได้รับของเสียอุตสาหกรรม

ซึ่งสถานการณ์ปัญหาการลักลอบทิ้งของเสียอุตสาหกรรม เกิดจากการที่เอกชนบางรายต้องการประหยัดต้นทุนค่าขนส่งและค่ากำจัดจึงลักลอบทิ้ง ดังนั้น ต้องแก้ไขโดยนำระบบติดตามรถขนส่งของเสียอันตราย (e-Fully manifest)

ซึ่งสามารถติดตามรถขนของเสียอุตสาหกรรมอันตรายออกนอกโรงงานแบบทันทีและตลอดเวลา ผ่านระบบฐานข้อมูลและติดตามการขนส่งของเสียอุตสาหกรรม (GPS) ทำร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อควบคุมไม่ให้รถขนของเสียอุตสาหกรรมออกนอกเส้นทาง

“เมื่อรถขนของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมไปสู่โรงงานกำจัดของเสีย จะต้องมีการวางแผนตรวจสอบตามเส้นทางอย่างใกล้ชิด เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นจะสามารถตรวจสอบได้ทันที ทว่ายังมีอีกปัญหาคือ ผู้ขนส่งของเสียอาจจะลอบทิ้งกลางทางเพื่อรักษาต้นทุน แต่ผู้ที่ต้องรับผิดทางกฎหมายกลับเป็นผู้ผลิตของเสียที่จ้างให้บริษัทกำจัดของเสียจัดการ”

โมเดล Eco Factory

นายสมชายกล่าวว่า เมื่อมีผู้สร้างของเสียในอุตสาหกรรม (waste generator) การที่จะให้ของเสียได้รับการกำจัดอย่างถูกต้อง ไม่กระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้ต้องมีผู้กำจัดของเสีย (waste processor) ที่ได้มาตรฐาน แต่เดิมที่ไม่ได้วางแผนตั้งมาตรฐานให้ผู้กำจัดของเสียอย่างไร

ภายหลัง ส.อ.ท.จึงได้นำโมเดลของโรงงานเชิงนิเวศ (eco factory) มาใช้ ซึ่งมีเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ต้องมีการปล่อยของเสียเป็นศูนย์ หรือมีของเสียเกิดน้อยที่สุด มีการใช้วัตถุดิบและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีและได้มาตรฐาน มีการดำเนินกิจกรรมที่น่าเชื่อถือและมีการเกื้อกูลกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือสังคมโดยรอบ

ซึ่งจากหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ที่ดำเนินกิจการโรงงานอุตสาหกรรมอยู่แล้วสามารถบรรลุผลดังกล่าวได้อย่างลุล่วง

กล่าวคือมีการดูแลสิ่งแวดล้อมภายในโรงงาน และสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสังคมโดยรอบ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันที่นำไปกำกับดูแลผู้กำจัดของเสียให้มีมาตรฐาน ดูแลสิ่งแวดล้อมในโรงงาน เพื่อให้ผู้ใช้บริการหรือผู้สร้างของเสียมั่นใจว่าสามารถกำจัดของเสียขยะได้อย่างถูกต้อง

ดังนั้น ในบริบทตรงนี้หากได้ทั้งโรงงานของผู้ผลิตของเสีย และของผู้กำจัดของเสียสามารถเป็นโรงงานเชิงนิเวศได้ ก็จะสร้างความมั่นใจได้เลยว่าห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริงอย่างแน่นอน

“ส.อ.ท.มีเป้าหมายว่า ในปี 2569 สมาชิก ส.อ.ท.จะสามารถพัฒนาสู่การเป็นโรงงานเชิงนิเวศได้ 100% ซึ่งมีโรงงานประมาณ 70-80 โรงงานที่เป็นผู้กำจัดของเสีย โดยปัจจุบันมีโรงงานผู้กำจัดของเสียที่ได้รับมาตรฐานโรงงานเชิงนิเวศจำนวน 9 แห่ง และอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมจำนวน 18 แห่ง”

SCGC รุก

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ส.อ.ท.ยังได้ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดทำความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน ด้วยการเลือกใช้ผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศด้วยตราสัญลักษณ์ Eco Factory For Waste Processor ร่วมกับบริษัทเอกชนหลายแห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) (SCGC)

นายปรีดา วัชรเธียรสกุล Vice President-Manufacturing บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า SCGC ในฐานะ waste generator เรามองว่าการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายเรื่องการจัดการสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ทำให้ผู้ผลิตของเสียต้องมีส่วนร่วมในการติดตามการกำจัดของเสียอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน

โดย SCGC มีนโยบายจัดการของเสีย ดังนี้ การควบคุมของเสียต่อตันผลิตภัณฑ์ให้ไม่เกิน 1 กิโลกรัมต่อตัน ต่อมาคือการนำของเสียกลับไปใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดด้วยการรีไซเคิล หรือการทำเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy หรือ CE) รวมถึงการกำจัดตามหลัก global reporting initiative (GRI) ver.2000 ได้ระบุชัดเจนเรื่องผู้ประกอบการในการลดกำจัดของเสียโดยการเผา ซึ่งเป็นนโยบายการจัดการกำจัดของเสียของทางบริษัท

Waste Processor ในฝัน

นอกเหนือจากนโยบายที่ทางบริษัท SCGC ที่ได้ดำเนินงานในฐานะผู้ผลิตของเสียแล้ว ยังมองหาผู้ประกอบการกำจัดของเสียอย่างยั่งยืน (sustainable waste processor) ซึ่งบริษัทในธุรกิจเอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไปจะพิจารณาใช้บริการผู้รับจัดการกากของเสียที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ สำหรับผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Eco Factory for Waste Processor

“โดยมาตรฐานอย่างแรกคือ ต้องถูกต้องตามข้อกำหนดและกฎหมายทั้งผู้ขนส่งและผู้รับกำจัดของเสีย พร้อมมีการตรวจประเมินโรงงานผู้กำจัดของเสีย พร้อมพูดคุยกับชุมชนโดยรอบ เพื่อสร้างความมั่นใจถึงกระบวนการจัดการที่สามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสุดท้ายคือต้องได้การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวอย่างน้อยระดับที่ 2 และได้การรับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor

เสียงจาก Waste Processor

นายธนาธร ตรงสิทธิวิทู Business Expansion Department Manager บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด ได้เสนอ 6 ข้อเรียกร้องแก่ ส.อ.ท. ในฐานะผู้กำจัดของเสียอุตสาหกรรม ดังนี้ 1) ต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลของเสียอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเหมาะสม 2) ต้องมีความเข้มงวดในการกำกับดูแลโรงงานรีไซเคิล ที่ไม่ได้เป็นโรงงาน หรือโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน

3) ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ก่อกำเนิดของเสียอุตสาหกรรมที่อยู่นอกระบบ และเอาข้อมูลของของเสียอุตสาหกรรมที่เข้ามาอยู่ในระบบให้ได้มากที่สุด 4) การเพิ่มโทษเอาผิดต่อผู้กระทำผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการบำบัดกำจัดของเสียที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การลักลอบทิ้ง เป็นต้น

5) การสนับสนุนให้นำของเสียอุตสาหกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลัก CE ทั้งในด้านเทคโนโลยีและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การสร้างแรงจูงใจ (incentive) ให้กับผู้ประกอบการที่ทำถูกต้องตามมาตรฐาน อาทิ การขยาย auto e-License เป็นต้น จึงจะสามารถสร้างห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนได้สำเร็จ หากมีการจัดการระบบให้มีประสิทธิภาพ มีความเข้มงวดและสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบกิจการ

สุดท้าย 6) การสร้างห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งผู้ผลิตของเสียและผู้กำจัดของเสีย เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและคุณภาพชีวิตสู่สังคมไทย