ลุ้น LG ลงทุน EV ในไทย หลังกระทรวงอุตสาหกรรมบุกเจรจาที่เกาหลีใต้

ลุ้น LG ลงทุน EV ในไทย

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม แย้มชักชวนยักษ์ใหญ่ “LG” บริษัทผู้นำด้านการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทย หลังเดินหน้าสานสัมพันธ์กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน (MOTIE) ของสาธารณรัฐเกาหลี เชื่อมความสัมพันธ์เสริมสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล

วันที่ 24 กรกฎาคม 2566 นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (MIND) กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เดินทางไปยังเกาหลีใต้เพื่อเข้าพบกับนายแจซึง คิม (Mr.Jaeseung Kim) รองประธานบริษัท LG อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อันดับ 4 ของเกาหลี มีจุดเด่นด้านการพัฒนาอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ภายในบ้าน

เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ทีวี จอคอมพิวเตอร์ เครื่องดูดฝุ่น เครื่องปรับอากาศ และเครื่องฟอกอากาศ เป็นต้น ขณะเดียวกัน LG ยังมีหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ที่เน้นการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อป้อนให้กับผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำทั่วโลก เช่น แบตเตอรี่, Rotor, Starter, Inverter และ Center Information Display (หน้าจอแสดงผลภายในรถยนต์) เป็นต้น

จากจุดเด่นของ LG จึงได้เชิญชวนให้ LG เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย  ซึ่งไมยเองก็มีความพร้อมหลายด้าน ทั้งด้านภูมิศาสตร์ แรงงาน และความสามารถในการผลิต โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ไทยมีอัตราการเติบโตในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าอย่างก้าวกระโดด มีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 10%

รวมทั้งรัฐบาลมีนโยบายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าที่ชัดเจนและจริงจัง โดยเฉพาะแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ สำหรับผู้ผลิตแบตเตอรี่เพื่อประกอบเป็นรถยนต์ไฟฟ้า จึงนับเป็นโอกาสดีของนักลงทุนผลิตชิ้นส่วนยานยนต์หลัก (Core Technology Parts) ที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมประชุมกับนายแด-จิน จอง (Mr.Dae-jin Jeong) ปลัดกระทรวงการค้า อุตสาหกรรมและพลังงาน (MOTIE) ของสาธารณรัฐเกาหลี โดยในที่ประชุมได้มีการหารือถึงทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ประเทศ โดยสาธารณรัฐเกาหลี มุ่งผลักดันเศรษฐกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับสถานะของเกาหลีใต้ให้เป็นผู้นำโลกในอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของประเทศ โดยมีเป้าหมายพัฒนาใน 15 กลุ่มอุตสาหกรรม

อาทิ วิทยาศาสตร์ การแพทย์ อุตสาหกรรมชีวภาพ การขับเคลื่อนแห่งอนาคต (Future Mobility) เซมิคอนดักเตอร์ อวกาศ การป้องกันประเทศ เป็นต้น ซึ่งเกาหลีส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างแพร่หลาย ทั้งในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การขนส่ง และการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน นอกจากนี้ ยังพัฒนาระบบดิจิทัลสำหรับหน่วยงานภาครัฐ (Digital Platform Government) เชื่อมโยง Big Data ระหว่างหน่วยงาน พร้อมนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการกำหนดนโยบายและติดตามตรวจสอบผลการดำเนินงานของภาครัฐเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เกาหลีใต้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยและเกาหลีใต้มีความร่วมมือที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนาน ที่ผ่านมาเกาหลีใต้เน้นการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทรายใหญ่เกิดขึ้นจำนวนมาก กลายเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโต 1 ใน 10 ของโลก

ขณะเดียวกันเกาหลีใต้ยังประกาศตัวเป็นผู้นำในด้านการพัฒนา 15 กลุ่มอุตสาหกรรม ด้วยการใช้กลยุทธ์ Global Market ทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ การท่องเที่ยว และ K-Content โดยการผ่อนปรนกฎหมายให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุน และการแสวงหาความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในแถบอาเซียน ซึ่งไทยมีความพร้อมรองรับการลงทุนเป็นอย่างมาก

จากจุดแข็งในด้านศักยภาพเชิงพื้นที่ภูมิศาสตร์ ระบบการขนส่ง (Logistic) รวมถึงการเปิดรับศิลปะและวัฒนธรรมของเกาหลีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งไทยยังมีนโยบายขับเคลื่อนอุตสาหกรรมศักยภาพ 12 สาขาที่คล้ายคลึงกับเกาหลีใต้ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเกาหลีใต้ให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงความร่วมมือในด้านการส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมให้การสนับสนุนการขยายธุรกิจของเกาหลีมายังภูมิภาคอาเซียนต่อไป”