กกร. คาดภัยแล้งฉุดเศรษฐกิจ 53,000 ล้าน หวังรัฐบาลใหม่เร่งมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรช่วงปลายปี’66 ถึงครึ่งแรกปี’67
วันที่ 2 สิงหาคม 2566 นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เผยว่า ปัญหาภัยแล้งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นมากกว่าคาด เพราะปริมาณน้ำฝนสะสมในช่วงมกราคมถึงกรกฎาคม ปี 2566 ต่ำกว่าระดับปกติในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคกลางที่มีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าปกติถึง 40%
รวมถึงเมื่อพิจารณาปริมาณน้ำในเขื่อนที่ใช้การได้ ณ เดือนกรกฎาคม 2566 พบว่าปริมาณน้ำในเขื่อนในอยู่ในระดับวิกฤตในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก โดยเฉพาะภาคกลางและภาคตะวันตกมีปริมาณน้ำใช้การได้ใกล้เคียงกับปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ไทยเผชิญภัยแล้งรุนแรง
โดย กกร.ประเมินแล้วว่า ภัยแล้งอาจสร้างมูลค่าความเสียหายสูงถึง 53,000 ล้านบาท จึงต้องให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและผลกระทบต่อภาคการเกษตรในช่วงปลายปี 2566 ถึงครึ่งแรกของปี 2567
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเสริมว่า หากเกิดภัยแล้งนอกจากจะกระทบต่อโอกาสส่งออกทางการเกษตรแล้ว ยังกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศที่ตอนนี้เริ่มส่งสัญญาณไม่ดี เพราะช่วงนี้ผลผลิตปาล์มไม่สมบูรณ์
เนื่องจากโดยปกติแล้วสวนปาล์มจะใช้แมลงในการผสมพันธุ์ ซึ่งสาเหตุเกิดจากความผิดเพี้ยนของแมลง เนื่องจากอากาศที่ร้อนจัด ซึ่งกระทบต่อความสมบูรณ์ของธรรมชาติ แล้วยิ่งหากไม่มีน้ำก็ยิ่งน่ากังวล จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในวันที่ 4 สิงหาคมนี้จะได้นายกรัฐมนตรีและเห็นหน้าตาของคณะรัฐมนตรี
นอกจากนี้ กกร.ได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 โดยภาครัฐรับจัดทำ Water Balance ของแต่ละอ่างเก็บน้ำใหม่ และทบทวนแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า โดยเฉพาะอ่างฯ บางพระ อ่างฯ หนองปลาไหล และอ่างฯ ประแสร์ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากเอลนีโญที่มีระยะยาวนานและผันผวนมากขึ้น
รวมถึงเสนอให้เร่งรัดโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นมาตรการสร้างความมั่นคงระยะยาวที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน และขอให้ทบทวนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี โดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่ EEC และพื้นที่อื่น ๆ
ทั้งนี้ การดำเนินการในพื้นที่ EEC (EEC sandbox) ที่มีกฎหมายเฉพาะพื้นที่ ต้องทำให้เป็นรูปธรรม สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศได้ต่อไป ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องนี้จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำและความรุนแรงของปัญหาหนี้บนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ยังพึ่งพาภาคเกษตร