สับปะรดภูแลสด ส่งออกไปจีนได้ปกติ ที่พบปัญหา เจอสารปนเปื้อนที่ปอกเปลือกแล้ว

นายภูมิธรรม เวชยชัย

ภูมิธรรม สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามปัญหา จีนแบนสับปะรดภูแลของไทย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศย้ำ สับปะรดภูแลสดยังส่งออกได้ปกติ ปัญหาที่พบคือสับปะรดที่ตัดแต่งแล้ว

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรณีที่จีนแบนนำเข้าสับปะรดภูแลที่ตัดแต่งส่งออกไม่ได้ ของไทย เรื่องนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหารือ และประสานเพื่อแก้ไขปัญหา ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งให้ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือ ทูตพาณิชย์ในจีน และทูตเกษตรเข้าไปพูดคุยหารือในกรณีนี้แล้ว

ด้านนางอารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สับปะรดภูแลที่เป็นผลไม้สด ยังสามารถส่งออกไปตลาดจีนได้ปกติ ยกเว้นกรณี สับปะรดภูแลที่ตัดแต่ง เนื่องจากจีนพบว่ามีสารเพิ่มความหวาน หรือ สารเคมีอื่นปนเปื้อน จึงส่งผลให้มีการระงับนำเข้า สำหรับสับปะรดภูแลที่ปอกเปลือกหรือตัดแต่งแล้ว

โดยกรมฯยังยืนยันว่า สับปะรดภูแลสด ยังสามารถนำเข้าได้ปกติไม่มีปัญหา ส่วนกรณีอื่นพร้อมที่จะดำเนินการประสานหารือเพื่อแก้ไขต่อไป

ราคาสับปะรดในจีน

รายงานข่าวจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุ  ปัจจุบัน สับปะรดภูแลที่นำเข้าจากไทยได้กระจายไปยังทั่วประเทศจีน และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีรสหวาน ราคาเป็นธรรม และรับประทานสะดวก (ซึ่งเป็นสับปะรดภูแลที่ปอกเปลือกแล้ว)

โดยราคาขายส่งของสับปะรดภูแลในท้องตลาดอยู่ที่ 15.8 หยวน/กิโลกรัม หรือเท่ากับ 79 บาท/กิโลกรัม ส่วนราคาขายปลีกของสับปะรดภูแลในท้องตลาดอยู่ที่ 19.9 หยวน/กิโลกรัม หรือเท่ากับ 99.5 บาท/กิโลกรัม (อ้างอิงราคาจากตลาดค้าส่งผลไม้เหมิงหยาง มณฑลเสฉวน)

เคยเกิดแล้ว

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือ ทูตพาณิชย์ในจีน ระบุข้อมูลเพิ่มเติมถึงกรณีดังกล่าวว่า ตามข้อมูลรายงานข่าวเกี่ยวกับสับปะรดไทยที่จำหน่ายในตลาดจีน พบว่า เคยเกิดกรณีคุณภาพของสับปะรดไทยไม่ผ่านมาตรฐานของทางการจีน โดยมีสำนักงานการบริหารการควบคุมตลาดท้องถิ่นไปสุ่มตรวจสอบคุณภาพของผลไม้ที่จำหน่ายในร้านขายผลไม้ พบว่า

โซเดียม ไซคลาเมต (sodium cyclamate) ที่เติมลงในสับปะรดไทย (ปอกเปลือกแล้ว) ที่ขายในร้านขายผลไม้บางร้าน ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด GB2760-2014 <มาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งชาติจีนสำหรับการใช้วัตถุเจือปนในอาหาร>

ทั้งนี้ จากการสอบถามข้อมูลจากผู้นำเข้าสับปะรดภูแลในพื้นที่เขตดูแลของ สคต. ณ นครเฉิงตู พบว่า  ที่ผ่านมา เนื่องจากสับปะรดภูแล (ปอกเปลือกแล้ว) ที่นำเข้าจากไทยไม่ได้รับมาตรฐานตามที่ทางการจีนกำหนดไว้ จึงทำให้ผู้นำเข้าบางรายลดปริมาณการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากไทยเป็นชั่วคราว

แต่อย่างไรตาม เนื่องจากปริมาณความต้องการสับปะรดของจีนเพิ่มสูงขึ้น (คาดว่า ขนาดตลาดสับปะรดของจีนจะขยายตัวสูงถึงประมาณ 2,746.01 พันล้านหยวนภายในปี 2568)

ในขณะที่ปริมาณการผลิตไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ จีนจึงยังคงต้องอาศัยการนำเข้าจากไทย และผู้นำเข้าบางรายจึงนำเข้าสับปะรดภูแลที่มีเปลือกจากไทย พร้อมมีแผนที่จะสร้างโรงงานแปรรูปสับปะรดภูแลในจีนด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกในการปอกเปลือกสับปะรดภูแลและคงความสดของสินค้าด้วย