กกพ.เปิดรับฟังความเห็น 3 ทางเลือก “ขึ้นค่าไฟ” งวดแรกปี’67

คมกฤช ตันตระวาณิชย์
คมกฤช ตันตระวาณิชย์

กกพ.เปิดรับฟังความเห็น 3 ทางเลือก “ขึ้นค่าไฟ” งวดแรกปี 2567 (ม.ค.-เม.ย.) 2567 ต่ำสุด 4.65 สูงสุด 5.95 เหตุใช้หนี้ กฟผ. 95,777 ล้าน-ราคา LNG โลกขึ้น

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า การประชุม กกพ. เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีมติให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟที (Ft) ประมาณการสำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 และแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ไปรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 10-24 พฤศจิกายน 2566

กรณีที่ 1 (จ่ายคืนภาระต้นทุนค้างทั้งหมด) แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาทในงวดเดียว รวมเท่ากับ 216.42 สตางค์ต่อหน่วย แล้วเมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วยแล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.95 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 2 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 1 ปี) แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อทยอยชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 งวด งวดละจำนวน 31,926 ล้านบาท รวมเท่ากับ 114.93 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 4.93 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 3 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 2 ปี) แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อทยอยชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 6 งวด งวดละ 15,963 ล้านบาท รวมเท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย

นอกจากนี้ นายคมกฤชกล่าวว่า สำหรับผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ทั้ง 3 กรณีที่กล่าวข้างต้นนั้นเป็นไปตามการประมาณการต้นทุนเชื้อเพลิง โดย ปตท.และ กฟผ. นำค่าประมาณการดังกล่าวมาคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้า ภายใต้โครงสร้างราคาก๊าซในปัจจุบัน

“คาดว่าแนวโน้มค่าไฟฟ้าปี 2567 จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนขึ้นมาอยู่ที่ 60 กว่าสตางค์/หน่วย แต่หากมีข้อเสนอให้ค่าไฟฟ้าต่ำกว่า 3 แนวทางข้างต้น ทาง กกพ.ก็ต้องกลับมาหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแนวทางปฏิบัติ เพราะมิเช่นนั้นจะเป็นการผลักภาระให้ กฟผ. และผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติต้องแบกภาระต้นทุน เว้นแต่ว่าจะมีแนวทางอื่นในการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า อาทิ การปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติเป็นราคาเดียวกันทั้งระบบ ซึ่งบางแนวทางไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ กกพ.”

ทั้งนี้ สมมุติฐานดังกล่าวเป็นไปตามที่ กฟผ. และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าภายใต้โครงสร้างราคาก๊าซปัจจุบัน ซึ่ง กกพ.จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ สรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

อีกทั้งนายคมกฤชยังกล่าวด้วยว่า ต้องติดตามแผนการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยว่าจะมีกำลังการผลิตกลับมาเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันตามเป้าหมายได้หรือไม่ จากปัจจุบันที่ 200-400 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน รวมถึงวิธีการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในรูปแบบสัญญาระยะยาว ซึ่งมีความมั่นคงและราคาย่อมเยา แทนการซื้อในตลาดจร (LNG spot)

“เรายังต้องติดตามการนำเข้าก๊าซจากผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (shipper) รายใหม่ทั้งหมด 7 รายด้วยว่า จะเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่จากข้อมูลล่าสุดปี 2566 ที่ กกพ.เปิดโควตาให้นำเข้า 3.02 ล้านตัน/ปี ยังไม่มีผู้นำเข้ารายใหม่นำเข้ามา ยกเว้นแต่ กฟผ.เพียงรายเดียว

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ประกอบกับสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่เกิดขึ้นใหม่ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมันดิบดูไบ และราคา LNG มีความผันผวนสูง จึงมีความเสี่ยงที่ต้นทุนค่าไฟฟ้าในรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 และ ม.ค.-เม.ย. 2567 เปลี่ยนแปลงไปจากประมาณการอีกด้วย