
เวทีเอเปคนับเป็นเวทีที่รวบรวมคู่ค้าสำคัญของประเทศไทย 21 เขตเศรษฐกิจ ที่มีมูลค่าการค้า 14.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 70% ของการส่งออกเอเปคมีประชากรมากกว่า 38% ของประชากรโลก การประชุมครั้งนี้ไทยไม่เพียงมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการค้าระดับพหุภาคี เท่านั้น แต่ไทยยังให้ความสำคัญแบบจับคู่เจรจา หรือทวิภาคีอีกด้วย
โดยในระหว่างวันที่ 13-15 พ.ย. 2566 นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งนำคณะเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีการค้าและรัฐมนตรีการต่างประเทศเอเปค ครั้งที่ 34 (AMM) ที่นครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐ ได้มีการหารือทวิภาคีกับ 5 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย สิงคโปร์ เปรู เกาหลีใต้ จีน และเขตเศรษฐกิจฮ่องกง
- 10 อันดับนาฬิกาหรูราคาร่วงแรงที่สุดในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
- กรมอุตุฯเตือนลมหนาวกำลังแรง อุณหภูมิลด 5-7 องศา กทม.เย็นสุด 20 องศา
- เปิดสถิติ Q3/66 ยอดขายร้าน 7-Eleven ลูกค้าใช้บริการลดลง-เพิ่มขึ้น ?
เปิดตลาดปศุสัตว์จีน
นายนภินทรระบุว่า สาระสำคัญในการพบปะหารือกับ นายหวัง โช่วเหวิน ผู้แทนการค้าระหว่างประเทศและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน ฝ่ายไทยได้หยิบยกประเด็นการเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์ของไทย โดยเฉพาะโคและสุกรมีชีวิต ให้สามารถส่งออกไปยังจีนได้
“ไทยได้ให้ความเชื่อมั่นกับฝ่ายจีนถึง แนวทางและมาตรฐานการป้องกันโรคระบาดของไทยเป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล พร้อมขอให้รัฐมนตรีการค้าของจีนช่วยในการประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีน ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินทางมาตรวจสอบสถานกักกันหรือฟาร์มเลี้ยงปศุสัตว์ต่าง ๆ ของไทย ซึ่งเรามีแซนด์บอกซ์ทั้งสุกร โค และแพะ แต่ตอนนี้เรายังไม่สามารถส่งออกไปจีนได้ หากมีการรับรองแล้ว หลังจากนั้นไทยจะเตรียมเจรจาขอโควตาในการส่งออกโควตา 5 ปี”
ฝ่ายจีนให้การตอบรับไทยในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ ทั้งสองฝ่ายหารือถึงการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจร่วมกันผ่านเวทีการเจรจาที่สำคัญ โดยจะมีการผลักดันให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีน
ระดับรองนายกรัฐมนตรี และการประชุมคณะอนุกรรมาธิการว่าด้วยการค้าและการลงทุนไทย-จีน ระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งยังเห็นพ้องให้เร่งผลักดันการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ให้สามารถสรุปผลได้ภายในปี 2567
พร้อมกันนี้ ไทยยังได้ชักชวนจีนเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วย

จีนขอเปิดตลาด “ยามะเร็ง”
นายนภินทรกล่าวว่า ฝ่ายจีนขอให้กระทรวงพาณิชย์ประสานกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เนื่องจากจีนสนใจจะขอเปิดตลาดยารักษาโรคมะเร็งมาขายในประเทศไทย
เพราะจีนมีผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ได้รับการรับรองให้จำหน่ายในสหรัฐอเมริกาและยุโรปแล้ว และราคาไม่สูง ประเด็นนี้กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะหากมีการนำเข้ายามะเร็งที่ได้มาตรฐาน และมีราคาลดลงก็จะเป็นทางเลือกหนึ่งในการช่วยผู้ป่วยมะเร็งของประเทศไทย
นอกจากนี้ จีนสนใจที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวร่วมกับไทย ซึ่งไทยเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะร่วมมือกับจีน เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง รวมทั้งจีนยังเชิญชวนให้ไทยเข้าร่วมความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการลงทุนเพื่อการพัฒนาภายใต้องค์การการค้าโลก หรือ IFD เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางการลงทุนที่ดียิ่งขึ้น
เชื่อมโยงฮ่องกง ส่งสินค้าเข้าจีน
ในส่วนของการเจรจาทวิภาคีกับ นายแอลเจอร์นอน เยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และพัฒนาเศรษฐกิจของฮ่องกง มุ่งเน้นการขยายการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยประเทศไทยให้ความสนใจฮ่องกงในฐานะที่เป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าเกษตรและอาหาร พืชผัก ผลไม้ สินค้าปศุสัตว์ ของไทยไปยังประเทศจีนในหลายมณฑลด้วย
เปรูเชิญร่วมเอเปค ปี 2024
ผลการหารือทวิภาคีกับ นายฮวน คาร์ลอส แมทธิว ซาลาซาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศและการท่องเที่ยวของเปรู ซึ่งจะเป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดประชุมเอเปคครั้งต่อไปในปี 2567 ได้เชิญให้ไทยเข้าร่วมการประชุมเอเปค ทั้งยังจะมีการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน
โดยจะมีการสานต่อการเจรจาจัดทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีที่เคยมีการริเริ่มกันไว้ก่อนหน้านี้ คือ FTA ไทย-กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance : PA) ซึ่งได้เริ่มตั้งต้นเมื่อเดือนเมษายน 2554
PA มีสมาชิก 4 ประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกา คือ ชิลี เปรู โคลอมเบีย และเม็กซิโก ปี 2565 ทำการค้ากับไทย 6,239.99 ล้านเหรียญสหรัฐ
เตรียมเจรจา JC เกาหลีใต้
ในส่วนการหารือกับ นายอัน ด็อก-กึน รัฐมนตรีการค้า กระทรวงการค้าอุตสาหกรรมและพลังงานของเกาหลีใต้ ซึ่งให้ความสนใจที่จะทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย-เกาหลีใต้ ซึ่งจะเป็นการต่อยอดการค้าและการลงทุน
จากเดิมที่ไทยและเกาหลีใต้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission-JC) มาตั้งแต่ปี 2541 เพื่อเป็นกลไกและติดตามการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่ห่างหายไม่มีการเจรจาร่วมกันมานานร่วม 20 ปีแล้ว
“ก็คงจะเริ่มต้นจากการกลับไปเจรจา JC ก่อน เพื่อที่จะขับเคลื่อนการเจรจา FTA โดยเรามีความหวังว่าจะเร่งผลักดันความตกลงให้จบภายในปี 2567”
เปิดตลาดทุเรียนไปสิงคโปร์
และสุดท้าย การที่ได้พบหารือทวิภาคีกับ นายกาน คิม ยอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ ได้หารือแนวทางส่งเสริมความสัมพันธ์การค้าการลงทุนระหว่างกันในทุกมิติ
“ไทยได้แสดงความพร้อมในการเป็นแหล่งวัตถุดิบด้านเกษตรและอาหารที่มีคุณภาพ ทั้งผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของสิงคโปร์ พร้อมทั้งได้ผลักดันให้สิงคโปร์เร่งขึ้นทะเบียนฟาร์มไข่ไก่ออร์แกนิก และเร่งเปิดตลาดให้กับเนื้อสุกรของไทย เพื่อให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าดังกล่าวไปสิงคโปร์ได้”
ผลจากการหารือ ฝ่ายสิงคโปร์ยินดีนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เช่น ทุเรียน ที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคในสิงคโปร์เป็นอย่างมาก
ผนึกสิงคโปร์ดันเศรษฐกิจดิจิทัล
อีกด้านที่สำคัญ ไทยได้หารือเรื่องความร่วมมือเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งไทยและสิงคโปร์ต่างมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันได้อีกมากเพื่อต่อยอดจากความสำเร็จของการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่าง PromptPay ของไทย และ PayNow ของสิงคโปร์ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของการค้าการลงทุน
อีกทั้งสิงคโปร์ยังเชิญชวนให้ไทยเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ซึ่งสิงคโปร์เป็นผู้ริเริ่ม นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงประเด็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว จะร่วมกันผลักดันให้ทั้งสองประเทศเป็นจุดหมายปลายทางของเรือสำราญและเรือยอชต์
เสริมแกร่งเอสเอ็มอี
สิงคโปร์ถือเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยมาโดยตลอด และเป็นผู้นำในการส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งประเด็นนี้เป็นหนึ่งในบทสรุปการประชุม AMM ที่มุ่งจะให้ความสำคัญกับเกษตรกร และเอสเอ็มอีในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อขยายโอกาสทางการค้าให้เติบโต ส่งเสริมองค์ความรู้ในการพัฒนา
ที่สำคัญ เอเปคยังต้องการให้เอสเอ็มอีเข้าถึงการใช้ระบบดิจิทัล การนำนวัตกรรมมาช่วยเสริมคุณภาพ เพิ่มมูลค่าสินค้า และช่วยให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับกติกาใหม่ของโลก ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อให้สินค้าของพวกเขาสามารถค้าขายในเวทีโลกตามกติกาใหม่ได้
ดังนั้นในระหว่างการหารือกับสิงคโปร์ครั้งนี้ จึงได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับ SMEs ซึ่งสิงคโปร์ยินดีร่วมมือกับไทยในการส่งเสริมให้ SMEs ของทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือในการต่อยอดธุรกิจให้สามารถส่งออกสินค้าไปยังตลาดโลกได้