ปั้นสามเหลี่ยมเศรษฐกิจลำไยทองคำ-ออกกฎหมายเฉพาะ อุ้มชาวสวน 33 จังหวัดด่วน

ธรรมนัส พรหมเผ่า

ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช กระทรวงเกษตรฯ รับหนังสือขอความช่วยเหลือสภาอาชีพเกษตรกรผู้แทนเกษตรกร 33 จังหวัด ยื่น 3 ข้อเรียกร้อง ‘เงินอุดหนุน-กฎหมายลำไย-ปั้นสามเหลี่ยมเศรษฐกิจลำไยทองคำ’ ล่าสุดตั้งคณะกรรมการดูแลลำไยเฉพาะ ‘ธรรมนัส’ นั่งประธาน เร่งแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

วันที่ 25 ธันวาคม 2566 รายงานข่าวระบุว่า ตามที่สภาอาชีพเกษตรกร ซึ่งมีสมาชิกเป็นเกษตรกรผู้ปลูกลำไย 33 จังหวัดทั่วประเทศ ได้ส่งตัวแทนเข้ายื่นหนังสือต่อร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านระบบศูนย์บริการเกษตรพิรุณราชอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเสนอขอความช่วยเหลือจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการสนับสนุนการผลิตลำไยคุณภาพในปีฤดูกาลผลิต 2566/67

ประกอบด้วยขอรับการสนับสนุนเงินทุนอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุน การเร่งบรรจุร่างพระราชบัญญัติลำไย พ.ศ…. และการพิจารณาอนุมัติโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจลำไยทองคำ

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เลขานุการคณะกรรมการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการผลผลิตลำไยคุณภาพ กล่าวว่า กระทรวงได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการผลผลิตลำไยคุณภาพขึ้น โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน และมีผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคเกษตรกรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญกับลำไยซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย แต่การผลิตลำไยยังประสบปัญหาและอุปสรรคในหลายด้าน”

คณะกรรมการชุดดังกล่าวมีหน้าที่ในการวางแผนและกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาการเพาะปลูกลำไย เพื่อให้สามารถดำเนินการบริหารจัดการ การเพาะปลูกและการพัฒนาผลผลิตลำไยของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพสูงขึ้น รวมทั้งเป็นการรักษาเสถียรภาพโดยรวมของการประกอบกิจการเกี่ยวกับลำไยของเกษตรกรและผู้ประกอบการ และสร้างความมั่นคงในอาชีพการเพาะปลูกและผลิตลำไยคุณภาพ

ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าว มีผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ รวมทั้งจะมีการเชิญผู้มีความรู้ความสามารถ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้าร่วมหารือ เพื่อแลกเปลี่ยน หรือสนับสนุนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้การดำเนินงานกำหนดแนวทาง ขั้นตอน วิธีปฏิบัติ และกรอบระยะเวลาดำเนินการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกลำไย เป็นไปอย่างรอบด้าน เป็นระบบ เน้นการมีส่วนร่วม ซึ่งจะทำให้การพัฒนาผลผลิตลำไยมีประสิทธิภาพและคุณภาพสูงขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของตลาดต่อไป