จี้สายเรือแจงค่าระวาง “ทะเลแดง” พาณิชย์มั่นใจไม่กระทบส่งออกปี’67 โต 2%

กีรติ รัชโน
กีรติ รัชโน

พาณิชย์สั่งการบ้านสายเรือแจงข้อมูลแผนปรับค่าระวาง-เซอร์ชาร์จ หลังเหตุทะเลแดงยืดเยื้อข้ามปี ชี้หากจบเร็วไม่ยืดเยื้อ ไม่กระทบการส่งออกปี’67

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ประชุมร่วมกับตัวแทนบริษัทสายเรือ สมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพฯ (BSAA) โดยได้ขอให้ทางบริษัทสายการเดินเรือจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดค่าระวางเรือและค่าเซอร์ชาร์จ หลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรงที่ทะเลแดง

ซึ่งตามที่ได้มีการหารือกับทางภาคเอกชน ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เสนอ 4 เรื่องคือ ขอให้กำหนดค่าเฟรตที่เป็นธรรม หากมีการปรับอัตราค่าบริการให้ปรับเป็นขั้นบันได พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลที่มีความชัดเจนถึงที่มาที่ไปของการปรับราคา และขอให้มีการจัดหาตู้คอนเทนเนอร์เพิ่ม เพื่อมาสำรองไว้สำหรับช่วงที่มีการส่งออกมากในช่วงเทศกาลตรุษจีนต้นปี 2567

โดยมอบให้กรมการค้าภายในและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเป็นผู้ติดตามเรื่องนี้ และจะมีการนำข้อมูลกลับมาหารือกันอีกครั้งหลังวันหยุดปีใหม่

“เท่าที่ได้มีการหารือในวันนี้ มีสายเรือใหญ่รายหนึ่งที่ให้ข้อมูลว่า ตอนนี้สามารถกลับไปใช้เส้นทางขนส่งผ่านทะเลแดงได้แล้ว เพราะประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจต่างให้ความสำคัญร่วมมือกันในช่วงแก้ไขปัญหา เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยไม่ยืดเยื้อ ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ภาคเอกชนไทยคลายความวิตกกังวลลงไปได้อย่างมาก”

“กระทรวงพาณิชย์เราเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพิ่มขึ้น แต่การเพิ่มขึ้นก็ต้องเป็นธรรม มีข้อมูลที่ชัดเจน เปิดเผยให้เห็นว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และการทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันได อย่างไรก็ตามยังมองไปในทางเดียวกับที่ทางสายเรือรายใหญ่ว่าแนวโน้มเหตุการณ์น่าจะคลี่คลายโดยเร็วไม่ยืดเยื้อ แต่ก็จำเป็นต้องเตรียมข้อมูลให้มีความพร้อม”

นายกีรติ กล่าวอีกว่า กระทรวงยังคงประเมินตัวเลขการส่งออกปี 2567 ตามสมมุติฐานที่วางไว้เบื้องต้น 1.99% โดยจะมีการพิจารณาประเมินสถานการณ์และกำหนดตัวเลขชัดเจนอีกครั้งหลังจากสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2566 ที่จะเห็นภาพทั้งปีแล้ว

ก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ได้หารือร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งได้แสดงความกังวลถึงผลกระทบต่อการขนส่งทางเรือ โดยเฉพาะสายเรือขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ในเส้นทางระหว่างเอเชียและยุโรป ที่จะมีการยกเลิกการเดินเรือผ่านคลองสุเอซและทะเลแดง และปรับเปลี่ยนเส้นทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ทวีปแอฟริกา และประกาศยกเลิกการรับบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ไปยังท่าเรือ Sokhna และท่าเรือ Jeddah รวมถึงท่าเรือในทะเลแดงเป็นการชั่วคราว ส่งผลให้ต้องเดินเรือนานเพิ่มขึ้น 10-15 วัน ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้ค่าระวางการขนส่งในเส้นทางดังกล่าวตัวสูงขึ้น