นายกเศรษฐา ลงพื้นที่น้ำท่วม เยี่ยมชาวนราธิวาส กำชับทุกหน่วยงานเร่งช่วยเหลือ

เศรษฐา ทวีสิน

นายกเศรษฐา ลงพื้นที่น้ำท่วม เยี่ยมพี่น้องชาวนราธิวาส พร้อมกำชับทุกหน่วยงานเร่งช่วยเหลือจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

วันที่ 26 ธันวาคม 2566 ณ ที่ว่าการอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำพร้อมเยี่ยมเยียนประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส

โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพลรองอธิบดีกรมชลประทาน นายเฉลิมชัย ตรีนรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 17 และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมรายงานสถานการณ์น้ำและแนวทางการช่วยเหลือ

จากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค.66 ที่ผ่านมาโดยมีปริมาณฝนสะสมในพื้นที่ลุ่มน้ำบางนรา 584.83 มิลลิเมตร ลุ่มน้ำสายบุรี 472.55 มิลลิเมตร และลุ่มน้ำโก-ลก 403.53 มิลลิเมตร จนส่งผลให้ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำสายหลักได้แก่ ลุ่มน้ำบางนรา ลุ่มน้ำโก-ลก ลุ่มน้ำปัตตานี และลุ่มน้ำสายบุรี เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เศรษฐา ทวีสิน

กรมชลประทาน ได้ใช้ระบบชลประทานในการบริหารจัดการน้ำ พร้อมติดตามสถานการณ์น้ำท่าจากสถานีโทรมาตรอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนภัยประชาชนได้อย่างทันท่วงที

สำหรับภาพรวมสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำโก-ลก ลุ่มน้ำบางนรา และลุ่มน้ำสายยุรี ปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง หากไม่มีปริมาณฝนตกเพิ่มคาดว่าภายใน 7-10 วัน ปริมาณน้ำจะกลับเข้าสู่ระดับตลิ่ง

ส่วนสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำปัตตานี ที่ในขณะนี้เขื่อนบางลาง มีปริมาณน้ำประมาณ 1,200 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 85 ของความจุอ่างฯ ปัจจุบันมีการระบายน้ำตามมติของคณะทำงานการบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลาง เพื่อพร่องน้ำไว้รองรับปริมาณฝนที่อาจจะเพิ่มขึ้น โดยกรมชลประทานได้ใช้เขื่อนปัตตานี บริหารจัดการน้ำจากเขื่อนบางลางเข้าระบบชลประทานด้านซ้ายและขวา พร้อมเร่งระบายด้านท้ายน้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากไม่มีปริมาณฝนตกลงมาเพิ่ม คาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 14 วัน

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะเฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด พร้อมบูรณาการกับหน่วยงานระดับท้องถิ่นในการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำและเข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เร่งซ่อมแซมคันกั้นน้ำมูโนะ

กรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโก-ลก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระดมเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ รถแบคโฮ บูมยาว 2 คัน รถแบคโฮบูมสั้น 2 คัน รถบรรทุก 10 ล้อ 3 คัน และรถบรรทุก 6 ล้อ อีก 3 คัน เร่งบรรจุทรายลงถุงบิ๊คแบคสำหรับนำไปปิดช่องทางน้ำ รวมทั้งนำกล่องกระชุหิน เข้าปิดช่องทางน้ำ บริเวณคันคลองฝั่งขวา ประตูระบายน้ำปากคลองมูโนะ หลังจากปริมาณน้ำในแม่น้ำโก-ลก เพิ่มสูงขึ้น จนกัดเซาะแนวเสริมป้องกันคันกั้นน้ำ นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียม Sheetpile เพื่อเสริมความแข็งแรงของคันกั้นน้ำอีกด้วย

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะเร่งดำเนินการซ่อมแซมปิดคันกั้นน้ำมูโนะ ให้เสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ตามนโยบายของ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน

ชลประทานปัตตานี เร่งเปิดทางน้ำ

ด้านโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี เร่งดำเนินการยกบานระบายประตูระบายน้ำในพื้นที่จังหวัดปัตตานี เพื่อพร่องน้ำ บรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวปัตตานีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง และเพื่อรองรับปริมาณฝนที่ตกหนักลงมาในช่วงนี้ อาทิ คลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย, คลองระบายน้ำ D1-4.5L และบ่อยืมดินข้างคลองส่งน้ำ เพื่อระบายน้ำลงสู่คลองระบายน้ำ D1 บรรเทาความเดือดร้อนในเขตพื้นที่อำเภอแม่ลาน และอำเภอโคกโพธิ์ นอกจากนี้ ยังได้ยกบานประตูระบายน้ำ บริเวณคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา (RMC) ช่วง กม.14+600, กม.16+720 และ กม.23+800 เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่คลองระบายน้ำ D3 ลดผลกระทบจากน้ำท่วมขังในเขตพื้นที่อำเภอมายอ

ขณะเดียวกัน ที่เขื่อนปัตตานี อำเภอเมือง ยังได้เร่งดำเนินการรื้อถอนขอนไม้และสิ่งกีดขวางทางน้ำที่ไหลลงมาติดอยู่ที่บริเวณบานประตูระบายน้ำ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคและขวางทางระบายน้ำ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ด้วย

ชลประทานยะลา เร่งสูบน้ำ

ในส่วนของจ.ยะลา ซึ่งมีฝนที่ตกหนักในพื้นที่ จ.ยะลา วานนี้(25 ธ.ค. 66) วัดปริมาณฝนสูงสุด 24 ชม. ที่สถานีบ้านเงาะกาโป ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา ได้ 242.5 มิลลิเมตร(มม.) ทำให้มีน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.บันนังสตา อ.เมืองยะลา อ.ยะหา อ.รามัน และอ.กรงปินัง

โดยที่แม่น้ำปัตตานี ที่สถานีวัดน้ำ X.77 บ้านหัวสะพาน อ.บันนังสตา ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 27 เซนติเมตร มีแนวโน้มลดลง

แม่น้ำปัตตานี ที่สถานีวัดน้ำ X.40A บ้านท่าสาป อ.เมืองยะลา ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 1.55 ม. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

คลองยะหา ที่สถานีวัดน้ำ X.175 บ้านยะหา อ.ยะหา ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 84 ซม. มีแนวโน้มลดลง

แม่น้ำสายบุรี ที่สถานีวัดน้ำ X.273 บ้านปายอยือนิ อ.รามัน ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 3.06 ม. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

สำนักงานชลประทานที่ 17 โดยโครงการชลประทานยะลา ได้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง และขนาด 12 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง พร้อมเดินเครื่องสูบน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด