เปิดสาเหตุเวียดนามส่งออกข้าวทุบสถิติ 8 ล้านตัน เบียดไทยขึ้นเบอร์ 2 โลก

ข้าว

นับเป็นเวลา 11 ปี แล้วที่การส่งออกข้าวของไทยหลุดแชมป์โลกไปอยู่เป็นเบอร์ 2 รองจากอินเดีย ตั้งแต่ปี 2555

และแม้ว่าในปี 2566 สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจะมั่นใจว่าการส่งออกจะกลับมาทะลุ 8 ล้านตัน จากการที่อินเดียผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ประกาศแบนการส่งออกข้าวขาวและข้าวบาสมาติ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาภายใน ทำให้อินเดียน่าจะส่งออกลดลงจากปี 2565 จากที่เคยทำได้ 22.2 ล้านตัน แต่ในช่วง 10 เดือนปี 2566 ลดลงเหลือ 16.6 ล้านตันเท่านั้น

ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้ “ไทย”คว้าตลาดส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านตัน จากเป้าหมายที่วางไว้ 7.5 ล้านตัน เป็น 8.5-8.8 ล้านตัน

ซึ่งยอดส่งออกที่ไทยจะได้ 8 ล้านตันครั้งนี้ประสบความสำเร็จในฐานะเบอร์ 2 ก็จริง

แต่อีกด้านหนึ่ง “เวียดนาม” ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกอันดับ 3 ของโลก ที่ไต่ระดับขึ้นมาจาก 6 ล้านตัน ก็มีแนวโน้มว่าสามารถสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศตัวเอง ด้วยการคว้ายอดส่งออก 8 ล้านตันเท่ากับไทย

พันธุ์ข้าวให้ผลผลิตต่อไร่มากกว่า 3 เท่า

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย วิเคราะห์ถึงสาเหตุการเพิ่มการส่งออกแบบก้าวกระโดดในปีนี้ของเวียดนามว่า จริงแล้วเวียดนามมีพื้นที่ปลูกข้าวน้อยกว่าไทยครึ่งหนึ่ง คือมีปริมาณ 36 ล้านไร่ จากที่ไทยมี 70 ล้านไร่ การเพิ่มพื้นที่ปลูกทำได้ยาก เพราะทางเหนือเป็นภูเขา เวียดนามจึงปลูกทางใต้เท่านั้น

แต่ภายหลังนโยบายข้าวเวียดนามดำเนินแนวทางคู่ขนาน ทั้งการพัฒนาพันธุ์ข้าว เพิ่มผลผลิตต่อไร่มากขึ้น ทำให้ผลผลิตข้าวทำได้ 44 ล้านตัน ขณะที่ไทยผลิตได้ 32 ล้านตัน มากกว่า ไทย 12 ล้านตัน เมื่อเฉลี่ยออกมาแล้วต้นทุนเฉลี่ยถูกกว่าไทย

และอีกด้านหนึ่งเวียดนามยังหันเป็นผู้นำเข้าข้าวเปลือกจากประเทศรอบข้างเพื่อมาส่งออกเอง เช่น นำเข้าข้าวเปลือกจากกัมพูชา 4 ล้านตันข้าวเปลือก เมื่อนำมาสี ทำให้มีปริมาณข้าวสารเพิ่มขึ้น 2.5 ล้านตันข้าวสาร

และยังนำเข้าข้าวนึ่งจากอินเดีย ซึ่งเป็นข้าวที่ราคาถูก เพื่อนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ภายใน ก่อนที่จะนำปลายข้าวที่เคยผลิตเป็นอาหารสัตว์ไปส่งออกแทน ซึ่งเหตุผลที่เวียดนามสามารถนำเข้าข้าวเปลือกเพื่อนบ้านมาสีส่งออกได้ เพราะว่าเวียดนามไม่มีกฎหมายห้ามการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ แต่ไทยยังมีกฎหมายคุมอยู่

เวียดนามไม่ได้ชนะแค่ปริมาณ

ไม่ใช่แค่เพียงในด้านปริมาณเท่านั้นที่เวียดนามประสบความสำเร็จกวาดออร์เดอร์ไปได้ แต่ในด้านคุณภาพเวียดนามก็ประสบความสำเร็จจนคว้าแชมป์ข้าวที่ดีที่สุดในโลก The World’s Best Rice 2023 จากการประชุมข้าวโลก (2023 International IWRC) ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2566 จากข้าวสายพันธุ์ ST25

แม้ว่าจะเป็นการชนะแบบที่ปราศจากคู่แข่ง เพราะผู้ส่งออกข้าวไทยไม่ได้ไปร่วมการแข่งขัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเวียดนามมีการพัฒนาสายพันธุ์และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง

ไทยที่กำลังภูมิใจกับอดีตความสำเร็จที่เคยคว้าแชมป์ไปแล้ว 7 ครั้ง (ในปี 2009, 2010, 2014, 2016, 2017, 2020 และ 2021) อาจจะต้องปรับไมนด์เซตใหม่ เพราะข้าวในสายพันธุ์ ST ของเวียดนามเป็นข้าวที่กำลังมาท้าทายข้าวไทย จากที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดในช่วงนับสิบกว่าปีที่ผ่านมา

ยุทธศาสตร์ข้าวไทยปีสุดท้าย

หากมาย้อนมาดูประเทศไทยมีการจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวไทย 5 ปี ระหว่างปี 2563-2567 มาถึงปีนี้เป็นปีสุดท้ายแล้ว นับจากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (นบข.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2563 และ 30 พ.ย. 2563 เห็นชอบยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567 โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานปฏิบัติที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามยุทธศาสตร์รายงานผลการดำเนินการให้ นบข.ทราบในทุก 3 เดือน

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 64 รับทราบการจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567 ซึ่งมีวิสัยทัศน์คือ ไทยเป็นผู้นำการผลิต การตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก
โดยได้แบ่งข้าวออกเป็น 7 ชนิดตามความต้องการของตลาด 3 ตลาด ดังนี้

1) ตลาดพรีเมี่ยม ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ และข้าวหอมไทย
2) ตลาดทั่วไป ได้แก่ ข้าวขาวพื้นนุ่ม ข้าวขาวพื้นแข็ง และข้าวนึ่ง
3) ตลาดเฉพาะ ได้แก่ ข้าวเหนียวและข้าวสี หรือข้าวคุณลักษณะพิเศษ

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567

หากพิจารณาถึงเป้าหมายหลักที่สำคัญ

3.1 ลดต้นทุนการผลิต/ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ มีเป้าหมายลดต้นทุนการผลิตไม่เกิน 3,000 บาท/ไร่ หรือ 6,000 บาท/ตัน และเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 600 กก./ไร่ (จาก 465 กก./ไร่) ซึ่งความคืบหน้าขณะนี้ดำเนินการได้ใกล้ถึงเป้าหมาย 3,433 บาท/ไร่ หรือ 5,787 บาท/ตัน ผลผลิต 593 กก./ไร่ แต่ยังห่างไกลจากเวียดนาม ชที่ทำได้ 1,500 กก./ไร่ (1.5 ตันต่อไร่)

3.2 สนองความต้องการที่หลากหลายของตลาดข้าว ซึ่งขณะนี้ได้จัดประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ โดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยร่วมกับกรมการข้าว ได้มอบรางวัลแล้ว 9 สายพันธุ์ (รับรองพันธุ์ข้าวแล้ว 1 สายพันธุ์ คือ กข 95 หรือ ดกเจ้าพระยา) อยู่ระหว่างจัดทำมาตรฐานสินค้าข้าวนุ่ม

3.3 เพิ่มข้าวพันธุ์ใหม่ ไม่น้อยกว่า 12 พันธุ์ ความคืบหน้าขณะนี้ กรมการข้าว ได้รับรองแล้ว 13 พันธุ์ ได้แก่
1.ข้าวเจ้าพื้นนุ่ม 3 พันธุ์
2.ข้าวเจ้าพื้นแข็ง 7 พันธุ์
3.ข้าวหอมไทย 1 พันธุ์
4.ข้าวโภชนาการสูง 1 พันธุ์
5.ข้าวเหนียว 1 พันธุ์

ซึ่งแม้ว่ารัฐจะพยายามอย่างเต็มที่ แต่การประกาศพันธุ์ใหม่ยังใช้เวลานาน กว่าจะนำไปสู่กระบวนการผลิตเชิงพาณิชย์ ทำให้เกิดปัญหาการลักลอบนำ “พันธุ์ข้าวหอมพวง” จากเวียดนามเข้ามาปลูกแซม ส่งผลให้มีจำนวนข้าวหอมพวงเพิ่มเข้ามาสู่ระบบอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้

ประชาชาติธุรกิจ เคยได้สัมภาษณ์ “นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์” นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเมื่อปี 2565 ซึ่งได้แสดงความกังวลถึงปัญหาการสาบสูญของพันธ์ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้ ข้าวพันธุ์เก่าแก่ที่พ่ายแพ่ให้กับข้าวหอมพวงจากเวียดนามที่ทะลักเข้ามาปลูกนับจากปี 2560-2565 ขณะนั้นเพิ่มขึ้นนับล้านไร่ ด้วยเหตุที่สายพันธุ์ดังกล่าวให้ผลผลิตสูงกว่าข้าวไทย 3 เท่า หรือประมาณ 1,200 กก./ไร่

ดังนั้น สิ่งสำคัญไทยต้องเร่งพัฒนาประกาศสายพันธุ์ข้าวใหม่ เพื่อออกมาสู้โดยเร็ว พร้อมทั้งเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไทยยึดติดกับการใช้นโยบายสนับสนุนชาวนา ด้วยการจ่ายเงินไร่ละ 1,000 บาท ทำให้ชาวนาพัฒนาตัวเองน้อย มุ่งรอความช่วยเหลือจากรัฐ และรัฐก็สูญเสียงบประมาณมหาศาลในการช่วยเหลือ แต่กลับไม่ได้สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรไทย

ตอนนี้จึงถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลเศรษฐาต้องเปลี่ยน หันมาแก้ไขปัญหาที่เป็นต้นตอที่สร้างความอ่อนแอให้กับชาวนาไทย