เปิดแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรม

เปิดแผนสังคายนาโครงสร้างอุตสาหกรรมดาวร่วง ครั้งแรกในรอบ 20 ปี สศอ.ชี้ “ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ เหล็ก” เสี่ยงถูกดิสรัปต์ ส.อ.ท.ชี้หากปรับตัวไม่ทันไทยเสี่ยงเสียโอกาสให้ 3 คู่แข่งอาเซียน “อินโดฯ-เวียดนาม-ฟิลิปปินส์”

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี จากข้อมูลสถิติรายอุตสาหกรรมพบว่ามีหลายอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมดาวร่วงที่มีอัตราการเติบโตต่ำมาอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีการปรับโครงสร้างและกำหนดแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ จะส่งผลกระทบทั้งกับตัวผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมโดยรวมอย่างแน่นอน

สำหรับแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จะมุ่งสู่การผลิตชิ้นส่วนที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากขึ้นอย่าง Solid State Drive (SSD) ซึ่งยังไม่มีผู้ผลิตในประเทศ หลังจากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อย่าง Hard Disk Drive (HDD) เติบโตติดลบตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา และหดตัวลงมากอย่างชัดเจนตั้งแต่กลางปี 2566

วรวรรณ ชิตอรุณ
วรวรรณ ชิตอรุณ

ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กจะมุ่งพัฒนาการผลิตเหล็กที่เป็นเกรดพิเศษที่ไม่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบจากสินค้าจีนนำเข้ามากดราคาอย่างหนัก

เช่นเดียวกันแผนอุตสาหกรรมสิ่งทอ จำเป็นที่ต้องใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยอย่าง การเป็นสิ่งทอชนิดพิเศษสำหรับกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะ เสื้อกีฬา เป็นต้น จากที่ผ่านมาได้มีการย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามจำนวนมาก เพื่อให้ได้ค่าแรงที่ถูกกว่า

และยังพบว่าความสามารถในการแข่งขันและผู้ผลิตมีอัตราการเติบโตที่ลดลงตั้งแต่ต้นน้ำ กลาง และปลายน้ำทั้งหมด และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ เป็นอีกอุตสาหกรรมที่กำลังไม่มีอนาคตหากไม่ปรับตัว ผู้ประกอบการจะต้องพัฒนาและดีไซน์สินค้าให้ตอบโจทย์ตลาดมากขึ้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมของไทยถูกสินค้านำเข้าจากจีน เข้ามาแย่งตลาด ส่งผลให้มีอัตราการเติบโตที่ต่ำ ขณะเดียวกันยังถูกดิสรัปต์ด้วยเทคโนโลยี

แม้ว่าไทยจะมีศักยภาพและยังเป็นฐานการผลิตให้กับหลาย ๆ อุตสาหกรรมอยู่ก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าด้วยการแข่งขันที่ดุเดือด ในกลุ่มประเทศอาเซียนเองต่างก็ต้องดึงเม็ดเงินการลงทุนเข้าประเทศ (FDI) เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่งจะมีผลต่อการเติบโตของ GDP

ขณะที่ประเทศไทยยังมีข้อเสียเปรียบเรื่องค่าจ้างแรงงานสูงทำให้ไทยเสียโอกาสในการดึงการลงทุน หากไทยปรับตัวไม่ทันก็มีแนวโน้มที่จะเสียตลาดให้กับ 3 ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนด้วยกันเอง โดยเฉพาะเวียนาม ที่มี GDP โตเฉลี่ย 5% มีโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติโครงการใหม่ ๆ หลายพันโครงการ ทั้งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ

ต่างปิดไลน์การผลิตในไทยและย้ายฐานการผลิตเพื่อไปลงทุนที่เวียนดนามจำนวนมาก และมีการลงทุนใหม่จากต่างประเทศ เช่น พานาโซนิค ซัพพลายเออร์ของ Samsung เนื่องจากเวียดนามมีข้อได้เปรียบในเรื่องของค่าจ้างแรงงานที่อัตราถูก ทรัพยากร ต้นทุนวัตถุดิบถูกกว่า รวมถึงสิทธิประโยชน์จากการค้าเสรี (FTA) ต่าง ๆ

ขณะที่ฟิลิปปินส์นับเป็นหนึ่งในคู่แข่งที่น่ากลัว เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลฟิลิปปินส์กำลังฟื้นความสัมพันธ์กับทางอเมริกา การลงทุนมุ่งใช้ฟิลิปปินส์เป็นฐานการผลิต ในไม่ช้าจะคล้ายไทย เพราะกำลังเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมเกษตรเป็นอุตสาหกรรมใหม่ ที่เน้นการผลิตและบริการมากขึ้น

และอินโดนีเซีย เป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังจะชิงความเป็นฐานการผลิตรถยนต์จากไทยไป เนื่องจากรัฐบาลประกาศเป็น Hub EV เนื่องจากอินโดนีเซียมีเหมืองแร่นิกเกิลและเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยแร่นิกเกิลเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้ตลาดอินโดนีเซียยังมีความต้องการใช้รถยนต์มากเป็นอันดับ 1 ในอาเซียนด้วยจำนวนประชากรที่มาก ทำให้เป็นข้อได้เปรียบและเป็นที่สนใจของนักลงทุนรายใหญ่อย่าง เทสลา รวมถึงฮุนได ที่มีเป้าหมายการลงทุนผลิตรถ EV โดยพบว่ายอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอินโดนีเซียพุ่งถึง 20% ไทยจำเป็นต้องเร่งความสามารถและพัฒนาทั้งในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนและเรื่องของแบตเตอรี่

นางสาวพิมพา ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงาน ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) กล่าวว่า อินโดนีเซียต้องการเป็นฐานการผลิตรถ EV เช่นกัน ด้วยมีแหล่งแร่นิกเกิลที่เป็นส่วนประกอบสำคัญ เพราะสำหรับรถ EV แบตเตอรี่ไฟฟ้าคิดเป็นต้นทุนการผลิตถึง 40% ของรถยนต์ไฟฟ้าทั้งคัน แต่อย่างไรก็ตามการที่มีเหมืองซึ่งเป็นต้นน้ำอย่างเดียว

แม้จะเป็นข้อได้เปรียบ แต่อินโดนีเซียไม่มีโรงรีไฟน์ ผู้ประกอบเซลล์แบตเตอรี่ที่เป็นกลางน้ำและปลายน้ำ ขณะที่ไทยมี แต่สิ่งที่ต้องจับตามองไปอีก คือแม้จะไม่มีกลางน้ำและปลายน้ำ อินโดนีเซียอาจใช้วิธีดึงการลงทุนเข้าไปเพื่อให้ลูปการผลิตแบตเตอรี่ EV ครบวงจร

ในขณะที่ไทยแม้จะไม่มีแร่นิกเกิล แต่เพื่อผลักดันให้ไทยเป็น Hub EV ล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรม ได้อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษจำนวน 3 แปลง เพื่อสำรวจแหล่งลิเทียมในพื้นที่ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา พบแร่ลิเทียมปริมาณประมาณ 14.8 ล้านตัน เพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับรถ EV ขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน