วิธีขึ้นทะเบียนประมงพื้นบ้าน ช้าอดหมดเวลา 15 เม.ย. 67

ประมงพื้นบ้าน

วิธีขึ้นทะเบียนประมงพื้นบ้าน คุณสมบัติ และเอกสารที่ต้องใช้ในการขึ้นทะเบียนเรือ

วันที่ 22 มกราคม 2567 หลังจากมติที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเล ครั้งที่ 2/2566 ที่มีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 “เห็นชอบ” ให้กรมประมงเร่งออกหนังสือรับรองให้ชาวประมงพื้นบ้าน สำรวจที่ยังตกหล่นไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนไปตั้งแต่คราวก่อน

มติครั้งนี้ได้ช่วยให้พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านที่มีอยู่ประมาณ 12,000 ลำ ให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้สิทธิการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเต็มที่ อาทิ การช่วยเหลือกรณีประสบภัยธรรมชาติ ฯลฯ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เพิ่มผลผลิต 8.4 หมื่นตัน สร้างรายได้ 8 พันล้าน

การดำเนินการหลังจากที่มีมติ ทางกรมประมงได้เร่งผลักดันให้นำเรือประมงพื้นบ้าน เรือประมงขนาดเล็ก เข้าสู่ระบบ

นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การให้เกษตรกรนำเรือประมงเข้าระบบ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรประมงควบคู่ไปกับความมั่นคงของวิถีการประกอบอาชีพชาวประมงพื้นบ้าน

โดยคาดว่า หากมีการนำเรือประมงพื้นบ้านเข้าระบบ จะมีผลผลิตสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมงพื้นบ้านเพิ่มขึ้น 84,000 ตัน/ปี รวมมูลค่าปีละกว่า 8,232 ล้านบาท

บัญชา สุขแก้ว
บัญชา สุขแก้ว

ขีดเส้น “จดทะเบียนเรือไทย” ถึง 15 ม.ย. 2567

วิธีการดำเนินงานนั้น เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา กรมประมงได้ออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกหนังสือรับรองเพื่อประกอบการยื่นขอจดทะเบียนเรือไทย สำหรับเรือประมงพื้นบ้าน พ.ศ. 2567 โดยเปิดให้ชาวประมงพื้นบ้านยื่นขอหนังสือรับรองได้ ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม-15 เมษายน 2567

สถานที่จดทะเบียนเรือไทย

โดยอำนวยความสะดวกให้สามารถจดทะเบียนได้ที่สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักงานประมงจังหวัด/สำนักงานประมงอำเภอท้องที่มีอาณาเขตติดทะเล หรือยื่นผ่านช่องทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล์) เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขอจดทะเบียนเรือไทยกับกรมเจ้าท่าต่อไปได้ โดยใช้ได้ในกรณีการจดทะเบียนเรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส และยังไม่มีทะเบียนเรือไทย หรือเพื่อทดแทนเรือประมงลำเดิมที่ชำรุด สูญหาย อับปาง

คุณสมบัติผู้จะขอรับรองเรือ

สำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะขอหนังสือรับรองจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

    1. เป็นบุคคลธรรมดา สัญชาติไทย กรณียังไม่บรรลุนิติภาวะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม
    2. ไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะได้รับใบอนุญาตทำการประมง ตามมาตรา 39 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 เช่น ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายประมงยังไม่พ้น 5 ปี หรือไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกพักใช้ใบอนุญาตทำการประมง เป็นต้น
    3. ไม่เป็นเจ้าของเรือประมงลำอื่นที่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนเรือประมง
    4. ต้องมีเรือประมงพื้นบ้านอยู่ในครอบครองอยู่แล้ว ณ วันยื่นคำขอ

เอกสารที่จะต้องใช้ในการขึ้นทะเบียนเรือ

เอกสารหลักฐานประกอบการขอหนังสือรับรอง มีดังนี้

    1. แสดงบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง
    2. กรณีมอบอำนาจ : หนังสือมอบอำนาจ พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้รับมอบอำนาจ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ
    3. กรณีผู้ยื่นขอหนังสือรับรองยังไม่บรรลุนิติภาวะ : หนังสือยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้ปกครอง พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของผู้แทนโดยชอบธรรม
    4. ภาพถ่ายเรือประมง (ปัจจุบัน) จำนวน 2 รูป คือ ภาพเรือเต็มลำด้านซ้าย 1 รูป และภาพเรือเต็มลำด้านขวา 1 รูป

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มทะเบียนและอนุญาตทำการประมง กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ กรมประมง โทร.0-2561-2341, 08-2649-7981, 06-4695-3360 หรือ Line : คลินิกประสานงานการขอรับใบอนุญาตทำการประมง, สำนักงานประมงจังหวัด และสำนักงานประมงอำเภอที่มีอาณาเขตติดทะเล

การดำเนินการครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีของชาวประมงพื้นบ้านที่จะได้เข้ามาอยู่ในระบบการประมงของไทยอย่างถูกต้องและเป็นรูปธรรม เพื่อจะได้รับสิทธิการให้ความช่วยเหลืออันพึงจะได้จากทางภาครัฐต่อไปในอนาคต