33 จังหวัดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ กอนช. ปรับแผนจัดสรร แก้ปลูกเกินแผน-น้ำเค็มรุกลำน้ำ

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล

กอนช. ประเมิน 33 จังหวัด เสี่ยงขาดแคลนน้ำปี’66/67 เตรียมปรับแผนจัดสรรน้ำให้มีน้ำต้นทุนช่วงต้นฤดูแล้งหน้ามากที่สุด พร้อมเร่งแก้ปัญหาลิ่มความเค็มรุกล้ำในแม่น้ำสายหลัก ลดผลกระทบประชาชน และมีแผนลงพื้นที่ถอดบทเรียนแก้น้ำท่วมภาคใต้เพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนหน้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

วันที่ 24 มกราคม 2567 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน เป็นต้น

ดร.สุรสีห์เปิดเผยผลการประชุมว่า ปัจจุบันอยู่ในช่วงฤดูแล้ง ปริมาณฝนยังไม่มากนัก คาดการณ์ว่า ในช่วงสัปดาห์นี้มีแนวโน้มที่จะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่บางส่วนของภาคเหนือและบริเวณภาคใต้ แต่จะไม่ใช่ปริมาณฝนที่มากนัก ซึ่งจะส่งผลดีในการช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในพื้นที่และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งน้ำที่มีน้ำน้อยได้ในระดับหนึ่ง รวมทั้งสามารถช่วยลดปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือได้

 

ประเมินพื้นที่ขาดแคลนน้ำ

ทั้งนี้ สทนช.ได้ประเมินพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค นอกเขตการประปาส่วนภูมิภาค ช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 พบว่า มีพื้นที่เสี่ยง 33 จังหวัด 167 อำเภอ 415 ตำบล

สทนช.ได้บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนในการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์และแก้ไขปัญหาในเชิงป้องกัน โดยที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ในหลายจังหวัดและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง อาทิ อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี ท่านนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยในปัญหาขาดแคลนน้ำดิบเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำอยู่ในระหว่างเร่งดำเนินการเพิ่มปริมาณน้ำดิบในแหล่งน้ำในพื้นที่

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 67 ที่ผ่านมา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ชุมชนโต๊ะบาหลิว อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เพื่อรับฟังปัญหาในชุมชน และประชาชนได้แจ้งปัญหาการขาดแคลนน้ำประปา ซึ่ง สทนช.ได้เสนอแผนแก้ไขปัญหาและจะเร่งดำเนินการต่อไป

ปรับแผนจัดสรรน้้ำ ‘พื้นที่เสี่ยงขาดน้ำ’

ทาง สทนช.จะมีการหารือร่วมกันกับ กรมอุตุนิยมวิทยา สสน. กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อปรับแผนการจัดสรรน้ำ โดยคำนึงถึงการรักษาปริมาณน้ำให้ถึงเดือน พ.ย. 67 หรือต้นฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด ควบคู่ไปกับการดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ด้วย

“จากที่ได้มีการติดตามสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เพื่อการเกษตรนอกเขตชลประทานอย่างใกล้ชิดและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
แต่เนื่องจากปัจจุบันมีการเพาะปลูกเกินกว่าแผนที่กำหนดในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งกระทบต่อการจัดสรรน้ำ จึงจะมีการปรับแผน”

 

ตั้งรับปัญหาน้ำเค็มทะลัก

ดร.สุรสีห์กล่าวต่อว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำเค็มในแม่น้ำหลัก 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง ปัจจุบันประสบปัญหาลิ่มความเค็มรุกล้ำเข้ามาในลำน้ำเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ระดับความเค็มในหลายจุดเพิ่มสูงขึ้น สำหรับสถานีสูบน้ำสำแล ระดับความเค็มยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการผลิตน้ำประปา

แต่จะมีการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำอย่างใกล้ชิด และหากมีระดับความเค็มสูงขึ้น สทนช. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการระบายน้ำเพิ่มเติมเพื่อผลักดันน้ำเค็ม ลดผลกระทบต่อประชาชนโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม และในส่วนของสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงซึ่งที่ผ่านมามีระดับน้ำลดลง สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งประสานไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เพื่อประสานความร่วมมือกับประเทศที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง เพื่อร่วมกันรักษาปริมาณน้ำไม่ให้น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด แต่ปัจจุบันระดับน้ำยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ส่งผลกระทบ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

ถอดบทเรียนอุทกภัยใต้

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ขณะนี้คลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แม้คาดว่าจะมีฝนตกเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ แต่จะไม่ส่งผลกระทบเนื่องจากมีปริมาณไม่มาก

ดร.สุรสีห์กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์หน้า สทนช. จะลงพื้นที่ภาคใต้ ณ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ จ.ยะลา เพื่อถอดบทเรียนการดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและดินโคลนถล่ม เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขให้การเตรียมรับมือสถานการณ์ในช่วงฤดูฝนถัดไปให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น