สทนช.ลุยแก้แล้งอีสาน ส่องพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำ กาฬสินธุ์-ขอนแก่น

สทนช.ติดตามสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงการขาดแคลนน้ำ จ. กาฬสินธุ์ และ จ.ขอนแก่น ลงสำรวจสภาพพื้นที่จริง พร้อมรับฟังปัญหา-ความต้องการของประชาชน หารือแนวทางเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ให้เพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ 

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 ณ จ.กาฬสินธุ์ และ จ.ขอนแก่น ในระหว่างวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ 2567 พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานจังหวัด เป็นต้น รวมทั้งเจ้าหน้าที่ สทนช.

โดยในวันที่ 2 ก.พ. 67 ดร.สุรสีห์ เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ ณ ห้องประชุม อบต.ห้วยโพธิ์ อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ จากนั้นลงพื้นที่ติดตามประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำต้นทุนที่ใช้ผลิตประปาในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค หมู่ 5 บ้านดงสวาง และอ่างเก็บน้ำห้วยโพธิ์ ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมืองกาฬสินธุ์ โรงผลิตน้ำประปา หนองเบน อบต.สามขา ต.สามขา อ.กุฉินารายณ์ และโรงผลิตน้ำประปา หนองคอนเตรียม อบต.หลักเหลี่ยม ต.หลักเหลี่ยม อ.นามน 

และในวันที่ 3 ก.พ. 67 เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ ณ ห้องประชุม ทต.โคกงาม อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น ก่อนลงพื้นที่ติดตามประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำต้นทุนที่ใช้ผลิตประปาในจุดต่าง ๆ อาทิ พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค หมู่ 4 และหมู่ 8 ต.โคกงาม อ.บ้านฝาง อ่างเก็บน้ำบ้านโนนตุ่น ต.ป่ามะนาว อ.บ้านฝาง พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค 13 หมู่บ้าน และสระฝายใหม่ ต.คำแคน อ.มัญจาคีรี พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค หมู่ 5 หมู่ 8 และหมู่ 12 ต.นางาม อ.มัญจาคีรี ระบบประปาชุมชน หมู่ 11 และโรงเรียนบ้านหนองบัวเย็น ต.นาข่า อ.มัญจาคีรี เป็นต้น โดยมีผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้นำเสนอข้อมูลและสภาพปัญหาภายในพื้นที่

ดร.สุรสีห์ เปิดเผยว่า จากการลงสำรวจติดตามสถานการณ์น้ำและประเมินสภาพปัญหาในพื้นที่เสี่ยงการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ของจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือครั้งนี้ พบว่า ในหลายพื้นที่ประสบปัญหาแหล่งน้ำไม่สามารถกักเก็บน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากขาดการดูแลรักษา ทำให้มีสภาพตื้นเขิน มีวัชพืชปกคลุม ส่งผลให้มีปริมาณน้ำดิบสำหรับผลิตประปาไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน สทนช. จึงได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน เป็นต้น 

ในการเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในพื้นที่ โดยให้ดำเนินการขุดลอกในบริเวณที่ตื้นเขิน รวมถึงกำจัดวัชพืชเพื่อเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำ รวมถึงให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สูบเติมปริมาณน้ำในแหล่งน้ำที่มีน้ำน้อย และให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการเป่าล้างทำความสะอาดบ่อบาดาลภายในชุมชน เพื่อฟื้นฟูสภาพบ่อให้สามารถกลับมาใช้งานได้ดี พร้อมสำรวจศักยภาพในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการเจาะบ่อบาดาลเพิ่มเติม เพื่อให้มีปริมาณน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินใช้ควบคู่กันไป

ทั้งนี้ หากกรณี อปท. ในพื้นที่มีศักยภาพในการดำเนินการเอง ให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือต่าง ๆ อย่างเต็มที่เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

“นอกจากเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ สทนช. ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งคือเรื่องของคุณภาพน้ำที่ต้องได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 6 หรือ SDGs 6 ที่เกี่ยวข้องกับด้านน้ำและสุขาภิบาล ซึ่ง สทนช. ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพหลัก โดยปัจจุบันในหลายพื้นที่ยังคงประสบกับปัญหาคุณภาพน้ำที่ไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยเฉพาะน้ำอุปโภค บริโภค ที่ยังขาดระบบการกรองน้ำประปาที่มีประสิทธิภาพ สทนช. จึงมีแผนในการเร่งขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยสำหรับการแก้ไขปัญหาระยะสั้นในเบื้องต้น ได้ประสานการประปาส่วนภูมิภาคในการดูแลให้ข้อมูลความรู้แก่ อปท. เรื่องระบบการกรองน้ำ พร้อมกันนี้ ได้ประสานความร่วมมือไปยังศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ อปท. ในเรื่องระบบการกรองน้ำซึ่งสามารถใช้วัสดุภายในชุมชนได้ เพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างยั่งยืน” ดร.สุรสีห์ กล่าว

นอกจากการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงฤดูแล้งนี้แล้ว ยังได้มีการหารือร่วมกันเพื่อวางแผนในการแก้ไขปัญหาระยะยาวในพื้นที่ ทั้งการขุดแหล่งน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่ที่มีศักยภาพ การสร้างแก้มลิงและระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ การเชื่อมต่อแหล่งน้ำ เป็นต้น พร้อมกำชับให้ อปท. เตรียมความพร้อมแผนงาน โครงการให้มีความสมบูรณ์ ถูกต้อง เพื่อเสนอผ่านระบบ Thai Water Plan 

สำหรับการขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ สทนช. จะมีการติดตามความก้าวหน้าการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ อปท. อย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถดูแลประชาชนให้ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนน้อยที่สุด