“มวยไทย” กีฬาเอกลักษณ์ไทย สู่โมเดลธุรกิจซอฟต์พาวเวอร์

มวยไทย

“มวยไทย” เป็นกีฬาเพียงชนิดเดียวในโลกที่มีชื่อประเทศไทยอยู่ในชื่อกีฬา และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นที่ชื่นชอบ และได้รับความนิยมไปทั่วโลก กีฬามวยไทยจึงเป็น 1 ใน 11 อุตสาหกรรม Soft Power เป้าหมายเช่นเดียวกับ แฟชั่น หนังสือ เฟสติวัล อาหาร ท่องเที่ยว ดนตรี เกม กีฬา ศิลปะ ออกแบบ และภาพยนตร์

เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟพาวเวอร์ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติขึ้น และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 11 ด้าน 12 คณะ นำโดยกรรมการจากภาคเอกชนที่มีความรู้ ความสามารถในด้านต่าง ๆ ที่เข้ามาช่วยส่งเสริมและสนับสนุนผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยในตลาดโลก

ซึ่งล่าสุดสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) หนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ได้จัดงาน “Export 5F : Thai Soft Powers to the World” (Fighting, Festival, Film, Food & Fashion) ปลุกพลังซอฟต์พาวเวอร์ สร้างแต้มต่อสินค้าและบริการไทยในเวทีโลก ดึงกีฬามวยไทยสร้างจุดแข็งเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

กางแผนปั๊มซอฟต์พาวเวอร์

นางภาวินี รวยรื่น ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) เปิดเผยว่า กีฬามวยไทยเป็นกีฬาเพียงชนิดเดียวในโลกที่มีชื่อประเทศไทยอยู่ในชื่อกีฬา และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นที่ชื่นชอบและได้รับความนิยมไปทั่วโลก

สถาบันมีเป้าหมายในการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อการยกระดับทักษะคนไทย 20 ล้านคน ให้เป็นแรงงานทักษะขั้นสูง สร้างตำแหน่งงานได้ 20 ล้านตำแหน่ง และพัฒนาความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้สร้างมูลค่า สร้างรายได้อย่างน้อย 4 ล้านล้านบาทต่อปี พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของไทย

“กระทรวงพาณิชย์พร้อมที่ผลักดันใช้ Soft Power ขับเคลื่อนและเปิดช่องทางการตลาดให้กับสินค้าไทย เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้เพิ่มขึ้น ด้านการค้าการส่งออกสู่ต่างประเทศ และนำอุตสาหกรรม Soft Power เป้าหมายทั้ง 11 อุตสาหกรรม มุ่งไปสู่ระดับโลก”

โดย NEA ได้ดึงอุตสาหกรรม Soft Power ที่มีศักยภาพสูง 5 สาขา ได้แก่ Fighting มวยไทย Festival เทศกาล Film ภาพยนตร์ละคร และซีรีส์ Food อาหารไทย และ Fashion มาเสริมสร้างองค์ความรู้ เพื่อยกระดับศักยภาพสู่โอกาสทางธุรกิจในตลาดต่างประเทศ

งบซอฟต์พาวเวอร์ 1,400 ล้าน บ.

นายพิมล ศรีวิกรม์ กรรมการภาคเอกชนตัวแทนผู้ขับเคลื่อน Soft Power สาขากีฬา คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวเสวนาในหัวข้อ “มวยไทยสุดยอดศิลปะการต่อสู้ ต่อยอดสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้ประเทศ” ว่า ทางคณะกรรมการได้มีการจัดสรรงบประมาณ 1,400 ล้านบาท ในระยะ 2 ปี ในการขับเคลื่อนกิจกรรมส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไปต่างประเทศ โดยเฉพาะกีฬามวยไทยซึ่งเป็นกีฬาชนิดเดียวที่มีคำว่า “ไทย” อยู่ในนั้น

พร้อมทั้งจะจัดผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีชื่อเสียงผลักดันกีฬามวยไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก และจะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานในการสนับสนุนครูมวย สามารถมีใบรับรองทำงานในต่างประเทศได้ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสและสร้างรายได้ให้กับประเทศ และส่งเสริมสินค้าและผลิตภัณฑ์ไทยที่เกี่ยวข้องในการส่งออก

ล่าสุดทางคณะกรรมการได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการสนับสนุนให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพฯ มีสอนมวยในโรงเรียนด้วย โดยนำร่อง 20 โรงเรียน

ประธานวันแชมเปี้ยนชิพแนะรัฐ

ด้าน นายจิติณัฐ อัษฎามงคล ประธานวันแชมเปี้ยนชิพประเทศไทย กล่าวว่า กีฬามวยไทยถือว่าเป็นกิจกรรมซอฟต์พาวเวอร์ที่สามารถสร้างคอนเทนต์และสร้างมูลค่ารายได้ให้กับอุตสาหกรรมนี้ได้มหาศาล อีกทั้งสามารถดึงการท่องเที่ยว สินค้า วัฒนธรรม

พร้อมทั้งยกระดับให้นักมวยกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ระดับโลก ที่สร้างอิทธิพลให้กับประเทศ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้อุตสาหกรรมได้ เราสร้างนักกีฬาระดับโลกมาแล้ว เช่น ซุปเปอร์เล็ก รถถัง เพชรจีจ้า พระจันทร์ฉาย

“วันแชมเปี้ยนชิพถือว่าเป็นสื่อกีฬาที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลก มีจำนวนจัดกิจกรรมต่อปีถึง 60 กิจกรรม มีคนติดตามกว่า 80 ล้านคน ถ่ายทอดสดไปกว่า 190 ประเทศทั่วโลก เรารวบรวมศิลปะการต่อสู้รวมถึงมวยไทย อยู่ในสื่อกีฬานี้ ดึงผู้ชมทุกกลุ่มที่สนใจและมั่นใจว่ากีฬามวยไทยจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์สำคัญในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ”

มวยไทย

โดยในปี 2567 นี้ เรามีเป้าหมายจัดกิจกรรมในสหรัฐอเมริกา คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางการตลาดได้มากขึ้น จากที่ผ่านมาเราดำเนินการเฉพาะในส่วนของภาคเอกชนเอง แต่หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่ว่าจะสนับสนุนด้านงบประมาณ ปลดล็อกกฎหมายบางอย่างที่ไม่เอื้ออำนวย สร้างความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ ประชาสัมพันธ์ หรือการร่วมมือกันอย่างบูรณาการ ดึงซอฟต์พาวเวอร์ไม่ว่าจะกีฬา อาหาร แฟชั่น เพื่อสร้างเป็นแต้มต่อสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่ม มั่นใจว่าจะสร้างรายได้และมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ได้ในอนาคต

มวยไทย รุกตลาดโลกได้

นายอริยะวัฏ บุษราบวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ (MD) วันแชมเปี้ยนชิพ ประเทศไทย CEO แฟร์เท็กซ์ไฟท์ โปรโมชั่นและโปรโมเตอร์ สนามมวยเวทีลุมพินี กล่าวเสวนาในหัวข้อ “ธุรกิจมวยไทยสู่สังเวียนโลก” ว่า กีฬามวยไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญของคนไทย

ควรที่จะเร่งผลักดัน สนับสนุน ไม่ว่าจะงบประมาณ หรือลดปัญหาอุปสรรค อำนวยความสะดวก เพราะมองว่ามวยไทยยังสามารถไปได้ไกล แต่ขาดการสนับสนุน ซึ่งหวังว่ารัฐบาลจะดำเนินการให้สำเร็จ ไม่ใช่แค่เป็นการพูดแล้วปล่อยผ่าน โดยกีฬามวยไทยนั้นสามารถดึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่าง อาหาร แฟชั่น สินค้าออกสู่ตลาดโลกได้

“เราดำเนินธุรกิจมาแล้ว 51 ปี และสามารถเริ่มผลิตขายสินค้าภายใต้แบรนด์ของเรามาแล้ว 20 ปี เช่น นวม กางเกงมวย อุปกรณ์กีฬาต่าง ๆ จากที่เรามีพนักงาน 5 คน ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 700 คน เราได้พัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง และให้ทันเทรนด์โลก และต้องยอมรับว่าในในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้ยอดขายของเรามากขึ้น หากได้แรงสนับสนุนจากภาครัฐ เชื่อว่าอุตสาหกรรมกีฬามวยไทยจะสามารถเติบโตในตลาดโลกได้”

นายวุฒินันท์ สังข์อ่อง ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทัฟฟ์ คัมปานี จำกัด กล่าวว่า บริษัททำธุรกิจอีคอมเมิร์ซส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับมวยไทยไปในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี จึงมั่นใจว่ากีฬามวยไทยจะสามารถดึงดูดต่างชาติให้สนใจสินค้าไทย อีกทั้งยังขยายไปสู่ในเรื่องของบริการและท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องด้วย

“กีฬามวยไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยที่ไม่มีใครแย่งไปได้ หากรัฐบาลเดินหน้าได้ถูกทาง และสามารถเป็นเจ้าภาพหลักในการช่วยสนับสนุน ส่งเสริม โดยเฉพาะต้นทุนการขนส่งในการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับมวยไทย จะทำให้สินค้าไทยออกสู่ตลาดได้มากขึ้น”

เจาะตลาดอี-คอมเมิร์ช

Mr.Thathien Anujorbhand Head of Business Development-Amazon Thailand กล่าวว่า เว็บไซต์อเมซอนกระจายไปกว่า 20 ประเทศทั่วโลก และตลาดที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่สหรัฐอเมริกา มีการซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์เป็นจำนวนมาก โดยคนสหรัฐซึ่งมีจำนวนประชากร 330 ล้านคนนิยมซื้อกัน ปี 2022 มีการสั่งซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก มียอดสั่งซื้อประมาณ 135,000 ล้านบาท และสินค้ามวยไทยได้รับความนิยม สินค้าที่สั่งซื้อ เช่น เสื้อผ้า กางเกง เป็นต้น

ทั้งนี้ เห็นว่าการที่จะขายสินค้าไทยผ่านอเมซอน ต้องการให้ผู้ประกอบการได้คำนึงถึงผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาที่ใช้ชีวิตประจำวัน เพราะเป็นกลุ่มที่มีความต้องการสินค้า ไม่ใช่เพียงแค่ดูเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยว รวมไปถึงการศึกษาคู่แข่งในตลาด โดยเฉพาะตลาดจีน หากไทยจะแข่งขันด้านราคาคงจะสู้ไม่ไหว จำเป็นจะต้องแข่งขันในเรื่องของคุณภาพและการขนส่งให้สามารถแข่งขันในตลาดได้

อย่างไรก็ดี ไทยต้องพัฒนา ยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ เพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่จะสร้างมูลค่าสินค้า เพราะหากมองแค่ตัวสินค้าเพียงอย่างเดียวเราจะแข่งขันไม่ได้ ซึ่งคู่แข่งเองก็สามารถผลิตสินค้าได้เหมือนกับเรา ดังนั้น Soft Power จะเป็นตัวสำคัญในการสร้างอุตสาหกรรมให้เข้มแข็งและการเติบโตในตลาดโลกได้