“จิราพร ศิริคำ” กฟผ.ต่อยอด “นวัตกรรมพลังงาน”

จิราพร ศิริคำ
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่วนหนึ่งของหน่วยงานที่ช่วยดูแลความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ พร้อมช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤตราคาพลังงาน โดยเฉพาะ “ค่าไฟ” ที่ กฟผ. ช่วยตรึงและยังต้องเตรียมพร้อมเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด ด้วยการพัฒนานวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าเพื่อชีวิตที่ดีกว่าตามวิสัยทัศน์ กฟผ.

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่องและรักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยถึงทิศทางการดำเนินการ กฟผ. ในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ในช่วงการเปลี่ยนผ่านผู้ว่าการ กฟผ.ที่ต้องรอคอยกันมานานข้ามปี

บอร์ด กฟผ.ล่าช้ากระทบลงทุน

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ได้มีมติตั้งคณะกรรมการบริหารของ กฟผ. (บอร์ด กฟผ.) ชุดใหม่ ขณะนี้ต้องรอทางบอร์ด กฟผ.ชุดใหม่ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการอนุมัติโครงการลงทุนต่าง ๆ เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อของบประมาณมาดำเนินโครงการ ซึ่งถ้าช้าเพียงในระยะสั้น 3-6 เดือน ยังพอที่จะสามารถดำเนินงานได้อย่างไม่มีปัญหา

แต่เพื่อการทำงานที่เปอร์เฟ็กต์จะต้องมีครบทุกองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นบอร์ด ผู้ว่าการและผู้บริหารในทุกตำแหน่ง เชื่อว่า ทางภาครัฐเองก็เข้าใจ อาจจะมีการพิจารณาเตรียมการอยู่แล้ว ซึ่งคาดว่าคงจะแต่งตั้งในเร็ววัน

บริหารสภาพคล่อง รับความเสี่ยง

เราได้สื่อสารกับภาคนโยบายทั้งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มาตลอดว่า กฟผ.จะมีการบริหารสภาพคล่องให้ เพราะเราก็เข้าใจภาครัฐและประชาชนเหมือนกันว่า เราจะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องดูถึงสภาพคล่องของ กฟผ.ก็ต้องอยู่ได้เช่นเดียวกัน คือ เวลาคิดค่า Ft จะเป็นค่าประมาณการอนาคต 4 เดือน เพื่อดูว่าราคาอีก 4 เดือนข้างหน้าเป็นเท่าไหร่ ซึ่งจะรวมทั้งค่าเชื้อเพลิงและอัตราแลกเปลี่ยน พอถึงเวลาเราก็จ่ายไปก่อนเรียบร้อยแล้วในส่วนของค่าเชื้อเพลิง ซึ่ง กฟผ.ก็ควรจะได้เงินที่จ่ายค่าเชื้อเพลิงคืนกลับมาในส่วนของค่าไฟรูปแบบค่า Ft

“แต่ถ้าบอกว่า ช่วงนี้ประชาชนเดือดร้อน หรือเศรษฐกิจไม่ดีขอต้านไว้ก่อน เราก็ต้องมาดูว่าต้านได้แค่ไหน อย่างปีนี้ก็สามารถต้านให้ได้จำนวนหนึ่ง อย่างเมื่อปีที่แล้วเราก็ดูแลค่าไฟให้ถึง 150,000 ล้านบาท แล้วก็ค่อย ๆ ทยอยคืนกลับมา”

ใช้หนี้ กฟผ. รักษาเครดิตเรตติ้ง

ปัจจุบันหนี้ค้างชำระค่า Ft ของเราอยู่ 95,777 ล้านบาท ส่วนการตรึงค่าไฟให้อยู่ 3.99 บาทต่อหน่วย เมื่องวดที่ 3/2566 ระหว่างกันยายนถึงธันวาคมนั้น ไม่ได้ทำให้หนี้ กฟผ.เพิ่มขึ้น แต่แค่เราไม่ได้รับหนี้คืนเท่านั้น ฉะนั้นในงวดที่ 1/2567 ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน 2567 ค่า Ft ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ก็ยังรักษาระดับหนี้ไว้ที่ 95,777 ล้านเช่นเดิม ซึ่งผู้ใช้ไฟจะต้องใช้คืนเรามา ก็หวังว่าภาครัฐจะกระตุ้นและคืนเงินส่วนหนี้ให้กับ กฟผ. เพื่อรักษาอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศ เพราะหาก กฟผ.เครดิตเรตติ้งตก เครดิตของประเทศก็จะตกตามลงไปด้วย ดังนั้นจึงต้องรักษาสภาพคล่องของ กฟผ. เพื่อให้ดำเนินธุรกิจและการลงทุนต่อไปได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องอาศัยความชัดเจนของภาครัฐที่กำหนดกรอบระยะเวลาการชำระหนี้คืน กฟผ. เช่น จะคืน 1 ปี หรือ 3 ปีก็ได้ แต่ต้องกำหนดกรอบให้ชัด เพื่อที่ กฟผ.จะได้ไปคุยกับหน่วยงานที่ดูแลเรื่อง Credit Rating เพราะเขาก็จับตามองอยู่ว่าจะได้เงินชำระคืนเมื่อใดเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย

ก้าวต่อไปของ กฟผ.

ขณะที่ยุทธศาสตร์ของ กฟผ. นับจากปี 2567 เป็นต้นไป มีการบริหารจัดการ โดยทีมบริหารร่วมกันว่าเรามีวิสัยทัศน์ พันธกิจและกลยุทธ์ก็จะเดินก้าวต่อไปพร้อมกับอนาคตของ กฟผ. แน่นอนว่าเราดูแลระบบไฟฟ้า เราดูแลประชาชนด้วยนวัตกรรม

เรามองว่าสิ่งที่ควรเดินหน้าต่อไป คือ นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของประเทศชาติและประชาชน เราวางระบบไฟฟ้าของประเทศไทยเพื่อความมั่นคง ความสม่ำเสมอในการจ่ายไฟฟ้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไฟดับอันเป็นวินัยสำคัญของ กฟผ. จะเห็นได้ว่าประชาชนจะไม่เคยพบว่ามีไฟดับเป็นบริเวณวงกว้างในประเทศไทยมาหลาย 10 ปี ด้วย Mindset ของพนักงาน กฟผ. เราจะเดินหน้าต่อไป

“อนาคตของ กฟผ.ในเรื่องการทำงาน นอกจากจะต้องอยู่ในระบบผลิตและส่งไฟฟ้าให้มั่นคงแล้ว แต่เทรนด์ของโลกที่เข้ามาอย่างพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy หรือ RE) ก็คงต้องเตรียมความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสีเขียวหรือพลังงานหมุนเวียน และเตรียมระบบสายส่งเพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้ามาในระบบสามารถส่งถ่ายเข้ามา เพื่อสนับสนุนความต้องการของประชาชนและอุตสาหกรรมให้ได้ อันนี้คือสิ่งที่เรามอง”

สิ่งที่เราทำก็คือ การเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน การปรับปรุงระบบโครงข่ายไฟฟ้า เรื่องของ Grid Modernization คือการพัฒนาระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ ภายในระยะเวลา 5-10 ปี ต่อจากนี้ไปจะต้องเห็นผล และสิ่งนี้จะเป็นอนาคตของ กฟผ.

ส่วนแผนการลงทุนของ กฟผ. โดยเฉพาะเรื่องโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) ได้ผ่านตั้งแต่บอร์ด กฟผ.ชุดเดิมไปแล้ว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้เสนอโครงการเข้า ครม.พิจารณาเป็นลำดับต่อไป ซึ่งเราก็คาดหวังว่าทางสภาพัฒน์จะเร่งดำเนินการให้ไวที่สุด

COD โซลาร์ลอยน้ำ มี.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม ข่าวดีสำหรับเดือนมีนาคมนี้ คือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ หรือโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด (Hydro-Floating Solar Hybrid) เตรียมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date) ในเดือนมีนาคมนี้

โดยโครงการนี้ถือว่าเป็นแห่งที่ 2 ณ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ด้วยกำลังผลิตไฟฟ้า 24 เมกะวัตต์ และเพิ่มการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอร์รี่ (BESS) ขนาด 6 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง เตรียมขายให้กับลูกค้าที่ต้องการใช้ไฟสีเขียว

นอกจากนี้ กฟผ.ยังร่วมกับโครงการ Utility Green Tariff (UGT) เป็นโครงการขายไฟฟ้าสีเขียวให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 3 4 และ 5 ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และกิจการขนาดกลางที่สนใจใช้ไฟฟ้าสีเขียว โดยคิดอัตราค่าบริการไฟฟ้า แบบอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่เจาะจงโรงไฟฟ้าในการขอรับบริการ (UGT1)

โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำทั้ง 7 โรงที่เข้าร่วมโครงการ UGT1 ของ กฟผ. ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิริกิติ์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนบางลาง โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูล โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนท่าทุ่งนา แต่ทั้งนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้อีก