โลกเดือดอุณหภูมิ 45 องศา 5 เขื่อนวิกฤติน้ำเหลือ 30%

ทีมกรุ๊ปคาดการณ์แล้งนี้ให้ระวังอุณหภูมิพุ่งทะลุ 40-45 องศา เหตุภาวะเอลนีโญ “ฝนน้อยน้ำน้อย” ยังคงอยู่ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม อ่างขนาดเล็กน้ำจะระเหยเร็ว ต้องหาแหล่งน้ำขนาดใหญ่สำรองไว้ ด้านชาวนาแห่ปลูกข้าวนาปรังทะลุเกินกว่า 8 ล้านไร่ ให้เตรียมเงินสูบน้ำเข้านาไว้ได้เลย พบ 5 เขื่อนหลักน้ำน้อย “สิริกิติ์-ทับเสลา-กระเสียว-คลองสียัด-ปราณบุรี”

นายชวลิต จันทรรัตน์ วิศวกรแหล่งน้ำและกรรมการ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAMG กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้ว่า จากแบบจำลอง IRI/CPC Pacific Nino 3.4 SST Model ล่าสุดของ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ หรือ NOAA ระบุสภาพภูมิอากาศในเขตมหาสมุทรแปซิฟิกช่วงตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป ยังคงอยู่ในภาวะฝนน้อยน้ำน้อย หรือเอลนีโญ จะเกิดต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567

แต่มีโอกาสประมาณ 79% ที่สภาพภูมิอากาศจะเข้าสู่ภาวะปกติ หรือสภาวะเป็นกลาง ในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน “แต่ก็เป็นเวลาสั้น” และมีโอกาสถึง 55% ที่ภูมิอากาศจะเข้าสู่ ฝนมากน้ำมาก หรือลานีญา ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2567 โดยอุณหภูมิของผิวน้ำทะเล ณ จุดต่าง ๆ ในเขตศูนย์สูตรตอนกลางและด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก มีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของปีปกติ โดยสภาวะเช่นนี้มีผลทำให้ประเทศไทยเจอทั้งเอลนีโญ ฝนน้อยน้ำน้อย ต่อเนื่องไปเป็น ภาวะลานีญา อยู่ในปีเดียวกัน

กราฟฟิกอ่างเก็บน้ำ

“เราจะเผชิญกับภาวะเอลนีโญ ฝนน้อยน้ำน้อย แล้ง ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งสอดคล้องกับการคาดหมายฝนรายเดือน ของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ระบุว่า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567 พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะมีฝนรวม ต่ำกว่า ค่าปกติ นั้นหมายถึง ฝนน้อย ไปจนถึงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2567 จะมีฝนรวมสูงกว่าค่าปกติ พอเข้าถึงช่วงวันแม่ ในเดือนสิงหาคม 2567 ถึงจะมีฝนตกหนักมาก หรือเข้าสู่ภาวะลานีญา ฝนมากน้ำมาก เท่ากับเราเจอทั้งฝนน้อยน้ำน้อยช่วงต้นปีไปถึงกลางปี หลังจากนั้นช่วงครึ่งหลังจะเป็นภาวะฝนมากน้ำมาก” นายชวลิตกล่าว

ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ในเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งยังอยู่ในช่วงของเอลนีโญนั้น อุณหภูมิในประเทศจะสูงขึ้นมาก มีความเป็นไปได้ว่าจะร้อนจัดถึง 40-45 องศา นั้นหมายถึง น้ำจะระเหยเร็วมาก ตรงนี้มีผลทำให้ แหล่งน้ำขนาดเล็กที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจะมีน้ำน้อยลง หรือไม่มีเลย จะกระทบกับน้ำกินน้ำใช้ของผู้คนแน่ ต้องเตรียมตัวจัดหาน้ำ กักเก็บน้ำไว้ และหาแหล่งน้ำสำรองจากอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ ส่วนชาวนาที่ปลูกข้าวนาปรัง น้ำในแปลงนาจะระเหยไปเร็วมาก ทำให้ต้องสูบน้ำเข้านาเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยกับน้ำที่ระเหยออกไป ในส่วนนี้จะเกิดค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำมากขึ้น

เขื่อนสิริกิติ์น้ำน้อย

ส่วนสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของประเทศ ล่าสุด (29 ก.พ. 2567) มีอ่างเก็บน้ำที่เข้าใกล้ภาวะวิกฤต หรือมีน้ำน้อยมากอยู่ 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำใช้การได้เหลืออยู่ 2,043 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 31 ถือเป็นปีที่เขื่อนสิริกิติ์มีน้ำน้อยมาก, เขื่อนทับเสลา น้ำใช้การได้ 52 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 36, เขื่อนกระเสียว น้ำใช้การได้ 41 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 16 ซึ่งถือเป็นปีที่เขื่อนมีน้ำน้อยที่สุด, เขื่อนคลองสียัด น้ำใช้การได้ 34 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 9 และเขื่อนปราณบุรี น้ำใช้การได้ 119 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 32

“เอาเข้าจริง ๆ ปีนี้ น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางในภาคอีสานมีปริมาณน้ำมากกว่าอ่างในภาคเหนือและภาคกลางตอนบน อ่างส่วนใหญ่มีน้ำใช้การได้เกินกว่าครึ่งหนึ่งของความจุอ่าง ส่วนอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ที่เหลือน้ำอยู่ 31% ทั้ง ๆ ที่เป็นอ่างขนาดใหญ่มากนั้น เป็นเพราะที่ผ่านมาความชื้น-ฝนไม่สามารถพัดข้ามสันปันน้ำมาลงในพื้นที่ลุ่มน้ำน่านได้ มีผลทำให้น้ำไหลลงอ่างสิริกิติ์น้อย ในช่วง 2 เดือนนี้จะต้องระมัดระวังการระบายน้ำในพื้นที่ชลประทานแถบจังหวัดอุตรดิตถ์และพิษณุโลก ส่วนอ่างทับเสลา-กระเสียว ฝนจากอ่าวไทยพัดขึ้นมาเร็ว แต่เลยไปหมด ก็จะกระทบจังหวัดอุทัยธานี-สุพรรณบุรี แถบนี้ปลูกข้าวกันมาก ใช้เครื่องสูบน้ำมาก ด้านอ่างเก็บน้ำคลองสียัดก็น้ำน้อย ตรงนั้นเป็นพื้นที่อับฝน ความชื้นขึ้นไปไม่ถึง จะกระทบการใช้น้ำในจังหวัดฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี ด้านภาคใต้ก็จะมีอ่างเก็บน้ำปราณบุรีที่น้ำน้อย แต่ก็จะมีน้ำจากเขื่อนแก่งกระจานมาช่วยในพื้นที่ได้” นายชวลิตกล่าว

ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์ นั้นมีปริมาตรน้ำใช้การได้รวมกัน 7,354 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 40 มีเฉพาะเขื่อนสิริกิติ์เท่านั้นที่มีปริมาณน้ำในอ่างน้อย ต่ำกว่าร้อยละ 30 หรือ “น้อยกว่า” น้ำในอ่างของเขื่อนภูมิพลถึง 2 เท่า ดังนั้นในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงเดือนพฤษภาคม ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2567 จะต้องอาศัยน้ำจากเขื่อนภูมิพล เป็นหลักในการผลักดันน้ำเค็ม ไม่ให้ค่าความเค็มเกินกว่า 0.25 กรัม/ลิตร เข้าไปถึงแหล่งน้ำดิบที่สำแล

ลดสำรองน้ำช่วยนาปรัง

ด้านการปลูกข้าวนาปรังตามแผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2566/2567 ตามแผนกำหนดให้ปลูกไม่เกิน 5.80 ล้านไร่ ปรากฏปัจจุบันปลูกไปแล้ว 8.50 ล้านไร่ (พื้นที่คาดการณ์ 8.82 ล้านไร่) หรือเกินไปกว่า 2.7 ล้านไร่ ขณะที่การปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามแผนกำหนดพื้นที่ปลูก 3.03 ล้านไร่ ปัจจุบันปลูกไปแล้ว 5.18 ล้านไร่ (พื้นที่คาดการณ์ 5.92 ล้านไร่)

“ปีนี้ชาวนาปลูกข้าวนาปรังกันมากขึ้น เกินแผนที่วางเอาไว้เพราะข้าวเปลือกราคาดี ชาวนาก็เสี่ยงปลูก ด้านกรมชลประทานก็จัดสรรน้ำในเขตชลประทานเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยพื้นที่ปลูกข้าว เหตุที่จัดสรรน้ำให้เพิ่มให้ได้ก็เพราะ การคาดการณ์จะเกิดภาวะลานีญาในช่วงเดือนมิถุนายน ต่อเนื่องไปจนถึงสิงหาคม จะมีปริมาณน้ำในประเทศเพียงพอ แม้จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงสั้น ๆ ก็ตาม ดังนั้นเข้าใจว่าจะมีการลดปริมาณน้ำสำรองต้นฤดูฝนปี 2567 ลง จากที่กำหนดเอาไว้ 4,233 ล้าน ลบ.ม. คาดการณ์ว่าน่าจะเหลือสำรอง 2,500 ล้าน ลบ.ม. ก็จะเพียงพอไปจนถึงช่วงฝนตกมาก” นายชวลิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม ถือว่าการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2567 กรมชลประทานวางแผนไว้ดีมาก ทำให้ปัญหาภัยแล้งในปีนี้จะบรรเทาลงมากกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา