เพิ่มมูลค่า โฉนดที่ดิน ส.ป.ก. สู่มือเกษตรกร 2.1 แสนครัวเรือน

land

ในระหว่างที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการตามเอ็มโอยู เพื่อแก้ปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.ทับซ้อนพื้นที่อุทยานฯ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสองหน่วยงานในเรื่องการจัดสรรที่ดินช่วยเหลือเกษตรกรให้ไปในทางที่ถูกต้อง ชอบธรรม และการทำการเกษตรเชิงอนุรักษ์ เพื่อรักษาและดูแลสภาพสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติให้คงอยู่

กระทรวงเกษตรฯได้ออกมาฉายภาพถึงนโยบายการเปลี่ยนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) เป็นโฉนดเพื่อเกษตรกร หรือที่เรียกว่าโฉนดที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งนับเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่ได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 โดยการขับเคลื่อนของ “ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า” ซึ่งเห็นถึงปัญหา “ที่ดิน ส.ป.ก.” มาตลอดเมื่อครั้งที่เคยรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทั่งกลับมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงหลักการสำคัญในการออกเอกสารที่ดิน ส.ป.ก. ว่า เป็นการออกเพื่อให้เกษตรกรทำเกษตรกรรมเท่านั้น เอกสารนี้ไม่สามารถไปซื้อขาย โอน หรือจำนอง หรือใช้ทำประโยชน์อื่นที่ไม่ใช่การทำเกษตรกรรม แต่อย่างไรก็ตาม เอกสารนี้สามารถโอนเป็น “มรดก” ให้ทายาททำเกษตรกรรมต่อได้ รัฐบาลอยากให้ประชาชนมีสิทธิในการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ จึงได้มอบให้สำนักงาน ส.ป.ก.ไปดำเนินการ

เกษตรกรตายไปพร้อมที่ดิน ส.ป.ก.

นายเกียรติยศ ทรงสง่า ผู้อำนวยการสำนักจัดการปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก.ถ่ายทอดแนวทางการทำงานของ ส.ป.ก. ว่าสาเหตุของการขับเคลื่อนนโยบายโฉนด ส.ป.ก.เกิดจากเกษตรกรที่ได้รับสิทธิเข้าสู่ภาวะสูงวัย ไทยไม่มีการเปลี่ยนมือเกษตรกรที่ได้รับสิทธิในการทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก.เลย นับตั้งแต่ ส.ป.ก.ตั้งมาเมื่อปี 2518 ซึ่งจากข้อมูลตรวจสอบพบว่าเกษตรกรที่สูงวัยจนกระทั่งเสียชีวิตไปพร้อมกับการถือครองสิทธิที่ดิน ส.ป.ก.ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีถึง 270,000 ราย ทำให้ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการไปติดตามเรื่องนี้

ธรรมนัสลุยแก้ปี’64

ส.ป.ก.ติดกับดักตั้งแต่ปี 2518 กำหนดให้โอนสิทธิถ่ายทอดให้กับ “ทายาท” เท่านั้น ซึ่งทายาทในที่นี้นับ 5 รุ่นคือ พี่น้อง พ่อแม่ สามีภรรยา ลูก และหลาน ทำให้ไม่สามารถถ่ายโอนสิทธิในการใช้ประโยชน์ได้ เพราะลูกหลานผู้รับมรดกอาจจะไม่ได้ทำเกษตรกรรม และที่ผ่านมา ส.ป.ก.ไม่มีกฎระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายชดเชยให้เกษตรกรที่นำที่ดินมาคืน เมื่อเลิกใช้ประโยชน์จากที่ดิน ส.ป.ก.แล้ว จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรตัดสินใจขายให้เกษตรกรรายอื่น ซึ่งผิดระเบียบ ส.ป.ก. แต่เป็นช่องทางที่ยากในทางกฎหมาย

นั่นจึงเป็นเหตุให้ร้อยเอกธรรมนัสในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) หรือ บอร์ด ส.ป.ก. ได้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม เพื่อให้มีการปรับแก้ไขระเบียบ ส.ป.ก.เมื่อปี 2564 เป็นการแก้มา “ครึ่งทาง” คือขยายจากทายาทมาเป็น “เครือญาติ” ได้ หมายถึงขยายวงฝ่ายสามีหรือภรรยา ทำให้มีผู้ได้รับสิทธิถ่ายทอดทายาทเพิ่มจาก 5 ชั้น เป็น 11 ชั้น คือ ฝ่ายปู่ย่า ฝ่ายสามีหรือภรรยา หลาน เหลน หลิน แต่ก็ยังไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้

“หลักการพิจารณาเรื่องการเปลี่ยนมือ ต้องการเปลี่ยนมือจากเกษตรกรไปสู่เกษตรกร และพื้นที่ต้องเป็นเกษตรกรรม และเกษตรกรรมต้องไม่เกิน 50 ไร่ และ ส.ป.ก.ยังต้องเป็นนายทะเบียน ฉะนั้น การพูดถึงโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตรจะไม่ได้หมายถึงโฉนดที่ดินของกรมที่ดิน แต่เป็นโฉนดที่ ส.ป.ก.เป็นนายทะเบียน ที่ดินรัฐก็ยังคงเป็นที่ดินรัฐ ไม่ได้ตกเป็นของเอกชน ส.ป.ก.ยังทำที่ดินรัฐ เอาสิ่งที่เกษตรกรทำลับหลังเรามาทำเสียใหม่”

สั่ง “สิ้นสิทธิ” โทษสูงสุด

เรื่องนี้มีความเชื่อมโยงกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3-4 ฉบับ ที่ใช้ระเบียบการคัดเลือกเกษตรกรมาตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งทางร้อยเอกธรรมนัสได้ปรับเปลี่ยน ปี 2564 ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นโฉนดเพื่อการเกษตร เรียกว่า “ระเบียบการคัดเลือกปี 2566” ให้เกิดความทันสมัย

ทั้งยังแก้ระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินด้วย โดยกำหนดว่าเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรมีสิทธิหน้าที่อะไรที่ต้องทำ ซึ่งจะมีผลสำคัญต่อเกษตรกร เพราะถ้าไม่ปฏิบัติตามระเบียบนี้ ส.ป.ก.ก็สามารถสั่งให้ “สิ้นสิทธิ” ได้ เช่น การเอาที่ไปใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์ ไปขายให้คนอื่น หรือไปทำกิจกรรมอย่างอื่นที่ไม่ใช่เกษตรกรรม หรือทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมไป เป็นต้น ซึ่งจะทำให้คนที่สิ้นสิทธิ “เสียโอกาส” ในการใช้ประโยชน์จากที่ดิน

หลักเกณฑ์การเป็นโฉนดที่ดิน ส.ป.ก.

เกษตรกรที่ต้องการเปลี่ยนจากกรรมสิทธิ์ที่ถือครองมา 5 ปีเป็นโฉนดที่ดิน ส.ป.ก. สามารถไปยื่นคำร้องได้ 3 ช่องทางคือ 1.สำนักงาน ส.ป.ก. 2.เว็บไซต์ 3.โมบายยูนิต

ทั้งนี้ ส.ป.ก.กำหนดเงื่อนไขว่าหลังจากเปลี่ยนเป็นโฉนดแล้วจะต้องถือครองโฉนดที่ดิน ส.ป.ก. 2 ปี จึงจะเปลี่ยนมือได้ โดยคุณสมบัติผู้ที่จะมารับสิทธิเปลี่ยนมือในที่ดิน ส.ป.ก. จะต้องรับทั้ง “ภาระหนี้และทรัพย์สิน” บนที่ดินนั้นได้ ส่วนคุณสมบัติผู้รับสิทธิรายใหม่ ส.ป.ก.จะมีการจัดคิวสำหรับผู้ยื่นขอที่ดินแปลงว่าง

ส่วนการปรับเกณฑ์ “ค่าชดเชย” สำหรับคนที่มาคืนสิทธิที่ดิน ส.ป.ก. เพราะไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วนั้น ในปัจจุบันกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจว่าคนมาคืนจะได้ค่าชดเชย แต่กระทรวงตระหนักว่ากฎหมายนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องทำในอนาคตเช่นกัน โดยขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการเพิ่มมูลค่าที่ดินเพื่อการเกษตรแล้ว ประชุมไปแล้ว 2-3 รอบ

รีเช็กการใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ทุกปี

ปัจจุบัน ส.ป.ก.ถือที่ดินรัฐคิดเป็นพื้นที่ 40 ล้านไร่ จัดสรรแล้ว 36 ล้านไร่ โดยกำหนดให้กับบุคคลที่ถือครองที่ดินมาแล้ว 5 ปี จึงจะสามารถเปลี่ยนโฉนดได้ ซึ่งมีจำนวน 210,000 ครอบครัว เป็นไปตามกฎหมาย ส.ป.ก. มาตรา 4 ที่กำหนดให้ ส.ป.ก.มีอำนาจในการปรับปรุงสิทธิในการถือครองได้

และที่สำคัญกฎหมายยังกำหนดให้ ส.ป.ก.สามารถตรวจสอบการใช้ประโยชน์จากที่ดินหลังจากได้รับสิทธิไปแล้วด้วย ว่าใช้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่ โดยหลักเกณฑ์สำคัญคือ ดูจากพื้นที่เป็นหลักว่าประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรือไม่ ส่วนการตรวจสอบตัวเกษตรกรผู้ได้รับสิทธิต้องดูอาชีพว่าใช้เวลาส่วนใหญ่ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรือไม่

โดยขั้นตอนปกติของการตรวจสอบ ส.ป.ก.จะให้นิติกรตรวจคุณสมบัติการเป็นเกษตรกร และการถือครองที่ คือต้องมีที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ ปัจจุบันมีข้อมูลหน่วยงานรัฐที่ช่วยจัดสรรที่ดินมี 9 หน่วยงาน ซึ่ง “ลิงก์กันหมด” หากมีที่ดินอื่นเกิน 50 ไร่ก็ไม่จัดสรรให้

“ปีหนึ่งมีแผนงานงบประมาณในการตรวจประมาณ 2 ล้านไร่ แผนนี้จะตรวจสอบ 2 ลักษณะ มีคณะกรรมการในพื้นที่ นายอำเภอหรือปลัดที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกรรมการ เกษตรกรเข้าร่วม หากแปลงไหนต้องสงสัยว่าเกษตรกรเสียชีวิต หรือไม่ทำประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรมแล้ว จะลิสต์มาว่าไม่ทำเกษตรแล้ว และส่วนที่ 2 ตรวจจากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศทุกปี ถ้าพบผิดปกติของพื้นที่ เราจะชี้เป้าแจ้งจังหวัดลงไปตรวจในพื้นที่จริง เช่น มักจะพบการลักลอบขุดหน้าดินไปขาย ก็ให้จังหวัดไปตรวจสอบ”

ยกระดับมูลค่าที่ดิน

เรื่องที่ 3 คือการยกระดับเพิ่มมูลค่าให้กับที่ดิน ส.ป.ก. โดยสิทธิประโยชน์ “โฉนดที่ดิน ส.ป.ก.” ครุฑสีเขียว จะได้รับคือ

1.ใช้เป็นหลักทรัพย์ในการขอกู้ โดยสิทธิประโยชน์เดิมของผู้ถือเอกสาร ส.ป.ก.4-01 สามารถนำเอกสาร ส.ป.ก.ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอกู้ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้อยู่แล้ว

“เมื่อเปลี่ยนจากเอกสาร ส.ป.ก.เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ทางเราพยายามจะยกระดับวงเงินกู้ขึ้นไปได้ 60% ของมูลค่าที่ดิน ซึ่งเมื่อปล่อยสินเชื่อจริง ๆ โดยปกติจะได้ประมาณ 50% ของมูลค่าที่ดิน หรือประมาณ 30,030 บาท ซึ่งคิดว่าเป็นอัตราที่น้อยไป ซึ่งเบื้องต้นจากการหารือกันจะปล่อยสินเชื่อจาก 60% เป็น 80% ของราคาประเมินเลย ถ้าประเมิน 100 บาทได้ 80 บาท ตอนนี้ร่างกำลังตรวจอยู่ 2 ฝ่าย คาดว่าจะลงนามเร็ว ๆ นี้”

อีกด้านมี “กองทุนปฏิรูปที่ดิน” ซึ่งเกษตรกรสามารถติดต่อที่ทางจังหวัด หากราคาประเมินปล่อยสินเชื่อได้ 100 ส.ป.ก.ให้ 100 บาทเลย นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานอื่นที่จัดหาให้เพิ่ม คือสหกรณ์ นอกจากสถาบันการเงินอย่าง ธ.ก.ส.แล้ว

2.ส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการใช้เป็นหลักทรัพย์ประกันตัวมี 2 ชั้นคือ การประกันตัวผู้ต้องหาชั้นสอบสวนและชั้นศาล ตอนนี้ชั้นสอบสวนได้หารือกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปแล้ว 3 รอบ ซึ่งมีทิศทางที่ดี น่าจะประกาศเป็นของขวัญได้ใน 1-2 เดือนนับจากนี้

และ 3.โฉนดต้นไม้ ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งการดำเนินการมีความคืบหน้าไปมาก คาดว่าจะประกาศได้เร็ว ๆ นี้ ซึ่งเรื่องนี้จะนับว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าที่ดิน เป็นไม้ยืนต้น 1 ไร่ไม่ต่ำกว่า 10 ต้น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในเรื่องคาร์บอนเครดิต

ความแตกต่างระหว่างที่ดินของกรมที่ดิน กับที่ดินโฉนด ส.ป.ก.คือ เรื่องการพัฒนาที่ดิน ในส่วนของที่ดิน ส.ป.ก. ถึงแม้ว่าจะนำไปขอสินเชื่อไปแล้ว แต่ ส.ป.ก.ยังทุ่มเทช่วยพัฒนาที่ดิน ทั้งถนน แหล่งน้ำ และอาชีพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในการใช้ประโยชน์จากที่ดิน นอกจากนี้ ได้มี MOU กับหน่วยงานกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อพัฒนาที่ดินให้ดีขึ้น เพื่อให้คุณภาพชีวิตเกษตรกรดีขึ้นโดยเร็ววัน แม้ว่าไม่ได้กรรมสิทธิ์ แต่เราก็ช่วยในการยกระดับที่ดินสร้างมูลค่าเพิ่ม