แพลนต์เบสขาลง? ราคาสูง-โภชนาการไม่เท่าเนื้อสัตว์

Plant Base

เมื่อปี 2011 กระแสการบริโภคอาหารจากพืช (Plant-based Food) มีความชัดเจนขึ้น เป็นผลจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นตัวเร่งสำคัญให้เกิดการตื่นตัวของอุตสาหกรรมอาหาร ทำให้เกิดเทรนด์การบริโภค Plant-based Food ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ประเภทสินค้าโปรตีนจากพืชเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น

ทั้งเนื้อจากพืช (Plant-based Meat) นมทางเลือกจากพืช (Plant-based Milk) หรือแม้แต่ขนมหรือของทานเล่นจากพืช (Plant-based Snack) กระทั่งในปี 2023 สินค้ากลุ่มโปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) และ Plant-based Food ยังคงได้รับความสนใจจากผู้บริโภค ยอดขายลดลงกว่าช่วงที่ผ่านมา จึงมีการคาดการณ์ว่า ปี 2024 นี้ จะเป็นปีแห่งการชี้เป็นชี้ตายอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตว่าจะไปต่อหรือไม่

ปัจจัยความท้าทาย

แนวโน้มตลาด Meat Alternatives ทั่วโลก ช่วงปี 2024-2028 คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 7% แต่กระแสการตอบรับจากผู้บริโภคเริ่มเบาบางลง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เริ่มฟื้นตัว กระแสการโฆษณาที่ลดลง รวมถึงการตื่นตัวของผู้บริโภคที่อยากลองสินค้ารูปแบบใหม่หลังจากเริ่มลดลงหลังจากที่ได้ลองรับประทานสินค้ากลุ่ม Plant-based Food แล้ว ซึ่งผู้บริโภคยุคใหม่จะให้ความสำคัญในการเลือกรับประทานจากองค์ความรู้ โภชนาการ รสชาติ และเนื้อสัมผัส รวมถึงราคาที่เข้าถึงได้

Plant-based Food ยังมีความท้าทายอีกหลายประการที่ต้องเผชิญ ทั้งจากกำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะตลาดหลักที่บริโภคแพลนต์เบสอย่าง ยุโรป เอเชีย-แปซิฟิก และอเมริกาเหนือ อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง รวมถึงราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อต้นทุนการผลิต และราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ลดลง

และแม้ว่าปัจจุบันสินค้ากลุ่ม Plant-based Food มีความหลากหลายและมีการจำหน่ายในท้องตลาดมาก แต่ความต้องการ (Demand) ของผู้บริโภคยังมีไม่มากนัก จึงต้องสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภคทั้งด้านการตลาดและองค์ความรู้ เนื่องจากผู้บริโภคบางกลุ่มยังมีความกังวลในเรื่องส่วนผสมและกระบวนการผลิต Plant-based ซึ่งจากผลสำรวจพบว่าผู้บริโภคในเอเชีย-แปซิฟิก 45% ให้ความสำคัญเรื่องโภชนาการอาหารและเป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ตัดสินใจซื้อ

ยกระดับอุตสาหกรรม

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยว่า หนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะยกระดับอุตสาหกรรม Plant-based Food คือการเพิ่มสัดส่วนการบริโภคภายในประเทศ ในอดีตเราบริโภค Plant-based Food ในรูปแบบของ Plant-based Meat, Plant-based Milk และ Plant-based Snack ในบางโอกาส เช่น เทศกาลกินเจ หรือบางคนอาจรับประทานมังสวิรัติ งดการบริโภคเนื้อสัตว์ในวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันพระ วันเกิด เดือนเกิด เป็นต้น

สมาคมการค้าอาหารอนาคตไทยริเริ่มแคมเปญ “เว้นเดย์ วัน Wednesday” เมื่อปี 2023 มุ่งเป้าหมายรณรงค์เชิญชวนผู้บริโภคและผู้ประกอบการในธุรกิจอาหาร ให้หันมาบริโภคอาหารอนาคตกันทุกวันพุธ ซึ่งอาหารอนาคตนั้นรวมถึง Plant-based Meat โปรตีนทางเลือกจากแมลง อาหารออร์แกนิกที่ปลอดสารเคมี อาหารฟังก์ชั่นที่ดีต่อสุขภาพ และอาหารทางการแพทย์อีกด้วย

แทบไม่เชื่อว่ามีแบรนด์ไทยกว่า 20 แบรนด์พร้อมใจกันเข้าร่วมแคมเปญ “เว้นเดย์ วัน Wednesday” ได้แก่ Meat Avatar, VG4Love, Let’s Plant Meat, Mantra, More Meat, Lamai, Velimeat, Absolute Plant, Mon Amour, Bounce Burger, Meble Snack, Meatly, alt. Eatery, OMG Meat, SMS, Never Meat, Eggyday, V Farm, Mudjai, Kap kap

กราฟฟิก สินค้าแพลนต์เบส

“การจะก้าวข้ามผ่านความท้าทายและปรับตัวสู่ S-curve ได้ จำเป็นต้องปรับปรุงกลยุทธ์ทางการค้า และปรับตัวในประเด็นที่เป็น Pain Point ของลูกค้า อาทิ การปรับปรุงรสชาติ ลดส่วนประกอบของส่วนผสมปรุงแต่งให้น้อยลง การทำความเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคมังสวิรัติและกลุ่มวีแกน นอกจากนั้น ยังต้องปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต”

ขณะเดียวกัน ต้องมีการปรับปรุงกลยุทธ์ทางการค้า โดยผู้ผลิตอาจปรับสินค้า Plant-based Meat ให้อยู่ในรูปแบบพร้อมรับประทาน (Ready-to-Eat) หรือนำมาใช้เป็นองค์ประกอบในเมนูอาหารที่มีชื่อเสียงของไทยให้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการขาย Plant-based Meat แบบเดี่ยว ๆ โดยควรมีการจับมือกับคู่ค้าธุรกิจ เช่น ร้านอาหารต่าง ๆ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก รวมถึงพ่อค้า แม่ค้าที่ขายอาหาร Street Food ให้เพิ่มมากขึ้น

ซึ่งการปรับกลยุทธ์ในรูปแบบนี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มการรับรู้การเข้าถึงของผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นการนำ Soft Power เข้ามากระตุ้นตลาดอีกด้วย นอกจากนี้ การนำ Plant-based Meat มาทำเป็นสินค้า อาหารยังเป็นการละลายต้นทุน ทำให้ราคาของผลิตภัณฑ์ Plant-based Meat ถูกลง สามารถแข่งขันทางด้านราคา ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้คนหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์จากพืชได้มากขึ้นเช่นกัน

ปี 2024 ไทยปรับแผน

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายในปี 2024 ผู้ประกอบการมีความพยายามในการลดต้นทุนการผลิต กระตุ้นความต้องการของตลาด โดยการสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้บริโภค และหาแนวทางให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าผลิตภัณฑ์ Plant-based Food ให้ง่ายและมากขึ้น โดยอาศัยช่องทาง ของการค้าปลีกและร้านอาหารเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อปรับปรุงและสรรค์สร้างเมนู Plant-based Food ที่น่ารับประทาน ดีต่อสุขภาพ และราคาเข้าถึงได้ง่าย

อาศัยประสบการณ์ที่เชี่ยวชาญการเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารระดับแนวหน้าของโลก ผู้ประกอบการไทยจึงต้องการเสียงสะท้อนของผู้บริโภค เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนา Plant-based Food ได้ตรงตามต้องการของผู้บริโภค

ย่อมส่งผลให้ประเทศไทยเป็นฮับของการผลิต Plant-based Food มุ่งหน้าสู่การเป็น “ครัวอาหารสุขภาพของโลก” ที่เสิร์ฟความอร่อย ควบคู่ไปกับคุณค่าทางโภชนาการ ตอบโจทย์ความยั่งยืน และนี่คือหมากสำคัญของ Soft Power ที่จะสร้างความโดดเด่นให้กับอาหารไทยในตลาดโลกได้เต็มประสิทธิภาพอย่างแน่นอน