ราคาน้ำมันดิบ (29 มี.ค. 67) ปรับเพิ่มกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ จากอุปทานที่ตึงตัวขึ้น

ราคาน้ำมันดิบ

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ จากอุปทานที่ตึงตัวขึ้น

วันที่ 29 มีนาคม 2567 หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคามีดังนี้ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสและเบรนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ จากอุปทานน้ำมันดิบตึงตัวขึ้นหลังกลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) มีแนวโน้มที่จะคงนโยบายปรับลดการผลิต

ประกอบกับจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 28 มี.ค. 67 ปรับตัวลดลง 3 แท่นเข้าสู่ระดับ 621 แท่น อีกทั้งการโจมตีของยูเครนต่อโรงกลั่นน้ำมันในรัสเซียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาสร้างความกังวลต่ออุปทานตึงตัวและเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมัน

โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 28 มี.ค. 2567 อยู่ที่ 83.17 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น +1.82 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันดิบเบรนต์อยู่ที่ 87.48 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น +1.39 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวเร็วขึ้นหลังผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 3.4% ซึ่งมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในไตรมาส 4/2566 ที่ระดับ 3.2% เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนทางธุรกิจที่มากขึ้น

อัตราการว่างงานในสหรัฐของสัปดาห์ที่แล้วปรับตัวลดลงสู่ระดับ 200,000 ตำแหน่งโดยปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 212,000 ตำแหน่ง ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งอาจส่งผลทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจยังไม่เร่งรีบในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม

ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังปริมาณสต๊อกน้ำมันเบนซินของสหรัฐ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 22 มี.ค. 67 ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1.3 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 232 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบสองเดือน

ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังการส่งออกน้ำมันดีเซลจากเกาหลีใต้ในเดือน ก.พ. 67 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 1.1% แตะระดับ 17 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาได้รับแรงหนุนจากค่าขนส่งที่อ่อนตัวลง ทำให้ความคุ้มค่าในการขนส่งสินค้าไปยังยุโรปมีแนวโน้มดีขึ้นและทำให้อุปทานในภูมิภาคปรับตัวลดลง