ราคายางย่อตัวปรับฐานรอบใหม่ มีโอกาสพุ่งขึ้นก่อนเปิดกรีด พ.ค.

“นอร์ทอีส รับเบอร์” ชี้ราคายางแค่ “ย่อตัว” หลังเคยปรับขึ้นไปสูงถึง 94 บาท/กก. เป็นผลมาจากคำสั่งซื้อยางชะลอตัวลง แต่มีโอกาสที่ราคาจะขยับขึ้นอีกรอบในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้าก่อนเปิดกรีดยางรอบใหม่ คนมีสต๊อกยางอาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่บางรายก็ยังคงซื้อยางเพิ่มหลังมองแนวโน้มราคาดี

นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ราคายางที่ย่อตัวลงมาในช่วง 4-5 วันมานี้ จากที่เคยปรับขึ้นไป 94-95 บาท เหลือ 86-87 บาท คิดเป็นประมาณ 5-6% เป็นผลจากคำสั่งซื้อที่ชะลอตัวลง เพราะราคาปรับขึ้นไปสูงมาก

ชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์
ชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์

โดยผลจากการที่ราคายางลดลง คนที่มี “สต๊อก” ยังอยู่อาจจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ก็มีบางรายที่ยังคงซื้อสต๊อกเพิ่มเพราะยังมองว่า แนวโน้มราคายางมีโอกาสที่จะขยับกลับขึ้นไปอีกในช่วง 1-2 เดือน ก่อนที่ผลผลิตยางรอบใหม่จะออกประมาณเดือนพฤษภาคม ซึ่งก็น่าจะทำให้ราคาอ่อนตัวลงไปอีกรอบ อาจจะลดลงอยู่ที่ 70 บาท/กก.

“ผมมองว่า ราคาที่เหมาะสมอยู่ที่กิโลละ 80 บาทบวกลบ ส่วนการที่จะขยับขึ้นไปถึง 3 หลัก หรือ 100 บาท ตามที่ กยท.มองหรือไม่นั้น ก็คงต้องติดตามกันต่อไป” นายชูวิทย์กล่าว

ยางย่อตัวมาแล้ว 2 ครั้ง

ขณะที่ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึง ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ในตลาดกลางยางพาราปัจจุบันมีการปรับตัวลงมาบ้างเล็กน้อย เนื่องจากที่ผ่านมาราคายางปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 โดยมีราคาแตะจุดสูงสุด ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา ในวันที่ 18 มีนาคม 2567 ที่ราคา 94.44 บาท/กก.

ดังนั้นการที่ราคายางปรับตัวลงมาบ้าง จึงเป็นเรื่องของการ “ย่อตัว” ลงเล็กน้อยของราคายางแผ่นรมควัน เพื่อเข้าสู่จุดสมดุลระหว่างยางแต่ละชนิด ก่อนที่จะคงระดับราคาและมีโอกาสที่ทิศทางราคาจะปรับสูงขึ้นได้อีก

“เรามองว่า ราคายางปัจจุบันเป็นการพักราคาหรือราคาย่อตัวลงมา มันเหมือนกับการปรับฐานราคาเพื่อเข้าสู่จุดสมดุล เนื่องจากช่วงก่อนหน้านี้ราคายางแผ่นรมควันมีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับยางชนิดอื่น แต่ตอนนี้ราคายางถือว่า ยืนระดับค่อนข้างคงที่แล้ว และมีทิศทางที่จะปรับเพิ่มขึ้นได้อีก และหากเมื่อเปรียบเทียบราคาซื้อขายยางของไทยยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าราคายางของประเทศอื่น ๆ” ผู้ว่าการการยางฯกล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ประมูลผ่านตลาดกลางยางพาราของ กยท. พบว่า ราคายางที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน มีการ “ย่อตัว” ของราคาในลักษณะนี้มาแล้ว 2 ครั้ง ก่อนปรับราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและทำจุดสูงสุดใหม่ ในวันที่ 19 มีนาคม 2567 ที่ราคา 93.55 บาท/กก. ดังนั้นในช่วงนี้ที่ราคายางปรับลดลงมา จึงเป็นการ “ย่อลง” เพื่อพักฐานสำหรับการปรับขึ้นราคาครั้งต่อไป

ส่งออกยางเพิ่มขึ้น 15.6%

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิย์ระบุว่า การส่งออกยางพาราภาพรวมในเดือนล่าสุด ก.พ. 2567 มีปริมาณ 280,570.1 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 15.6% มูลค่า 419.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 31.7% ราคาต่อหน่วย 1,493.7 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 14% ส่งผลให้การส่งออกยาง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) ปริมาณ 504,552 ตัน เพิ่มขึ้น 4.2% มูลค่า 760 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ราคาเฉลี่ยต่อตันอยู่ที่ 1,478.5 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 14%