ศก.ไทยฟื้นช้า ส่งผลดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค มี.ค. 67 ลดลงครั้งแรกในรอบ 8 เดือน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค มีนาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 63 ลดลงครั้งแรกในรอบ 8 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคยังกังวลเรื่องเศรษฐกิจ เศรษฐกิจในภูมิภาคยังไม่เติบโตมากนัก แต่คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะกลับมาดีขึ้นจากมาตรการรัฐ

วันที่ 10 เมษายน 2567 นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 63 และเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 8 เดือน แต่ก็ถือว่าเป็นการปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนที่ผ่านมา เพราะผู้บริโภคยังคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะโตและฟื้นตัว รวมไปถึงมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ความชัดเจนเรื่องโครงการดิจิทัลวอลเลต ซึ่งจะช่วยให้ไตรมาส 3-4 ดีขึ้น

แต่ทั้งนี้ บรรยากาศภาพรวมเศรษฐกิจเดือนมีนาคม 2567 เจอผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงาน ค่าครองชีพสูง เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวมากนัก แม้ราคาสินค้าเกษตรดี แต่ผลผลิตไม่ได้อยู่ในมือเกษตรกร ปัญหาภัยแล้ง จากปัจจัยนี้ มีผลทำให้บรรยากาศของเศรษฐกิจทุกภูมิภาคไม่คึกคัก

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยเรื่องของงบประมาณแผ่นดินยังไม่ถูกใช้ ซึ่งรัฐบาลเริ่มมีสัญญาณที่จะเร่งรัดเบิกจ่ายงบฯปี 2567 ใช้ในเดือนเมษายน 2567 ดังนั้น สัญญาณเศรษฐกิจในไตรมาส 1 จะขยายตัว 1.5-2.0% อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น|จากการเบิกจ่ายงบประมาณ โครงการดิจิตอล Wallet หรือมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ จะมีผลให้ปลายปี 2567 เศรษฐกิจขยายตัว

นายปรีดา โพธิ์ทอง ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมีนาคม 2567 พบว่า อยู่ที่ระดับ 63 ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2666

เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมากังวลว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน และผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อบานปลาย อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทย

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 56.9, 59.8 และ 72.2 ตามลำดับ ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนทุกรายการเช่นกัน เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่อยู่ในระดับ 57.7, 60.4 และ 73.2 ตามลำดับ

การที่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาพลังงานและค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index : CCI) ปรับตัวลดลงจากระดับ 63.8 เป็น 63.0 เป็นการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพสูง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยและทั่วโลก

ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กับอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซาที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 46.9 เป็น 46.0 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลงจากระดับ 71.9 มาอยู่ที่ระดับ 71.2 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนทุกรายการ แสดงว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เริ่มกลับมาปรับตัวดีขึ้นจากสถานการณ์การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น ยังฟื้นตัวได้ไม่โดดเด่น เพราะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวล่าช้า ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต หากรัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งแรกของปี 2567