เศรษฐกิจไทยบนเรือไททานิก เตือนกับดัก “เงินฝืด“ ยุคหนี้ท่วม

“ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ว่าที่ประธานสภาพัฒน์ สะท้อนภาพเศรษฐกิจไทยตอนนี้เหมือนอยู่บนเรือไททานิกใกล้ชนภูเขาน้ำแข็ง เผชิญปัญหาระยะยาว “ศักยภาพถดถอย” และระยะสั้น “โตต่ำกว่าศักยภาพ” ชี้โจทย์ใหญ่ประเทศประชากร “วัยทำงาน” ลดลงรวดเร็ว ไม่สามารถสร้างแรงดึงดูดการลงทุนต่างประเทศที่จะปลดล็อกศักยภาพเศรษฐกิจไทย ตอกย้ำปัญหา “ดอกเบี้ยสูง” กดทับการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ขณะที่เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 5 เดือน หวั่นเจอโรคติดต่อจีนดัมพ์สินค้าราคาถูกส่งผ่าน “เงินฝืด” มาไทย ส่งสัญญาณอันตรายกับดัก “เงินฝืด” ยุคคนไทยหนี้ท่วม

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) และว่าที่ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จากที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงโจทย์ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยว่า ประเทศไทยเผชิญทั้งปัญหาการเติบโตหรือการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าศักยภาพ ขณะเดียวกันศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง

โจทย์ใหญ่ประเทศไทย

ดร.ศุภวุฒิฉายภาพว่า ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจโดยทั่วไปมาจาก 4 ปัจจัยหลักคือ เงินทุน-เทคโนโลยี-แรงงาน-ทรัพยากรธรรมชาติ ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลน “แรงงาน” และทรัพยากรธรรมชาติ เพราะในแง่ของทุนและเทคโนโลยีพร้อมที่จะเคลื่อนไปประเทศต่าง ๆ ตามแรงดึงดูด

สิ่งที่มองว่าน่ากลัวสำหรับประเทศไทยมากที่สุด และผู้กำหนดนโยบายยังไม่ได้ให้ความสำคัญ และยังไม่ได้แก้ปัญหามากพอคือ “แรงงาน” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุน และในการสร้างผลิตภาพ (Productivity) ของประเทศ แต่ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาแรงงาน ที่ลดลงทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ

ประเทศไทยต้องการคนวัยทำงานเพิ่มมากขึ้น แต่จากข้อมูลสหประชาชาติ พบว่าในช่วงปี 2020-2030 ประชากรวัยแรงงาน (15-64 ปี) จะลดลงเฉลี่ยปีละ 3 แสนคน และปี 2030-2050 จะลดลงเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.5 แสนคนต่อปี โดยที่ประชากรสูงวัยหรืออายุ 65 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นปีละกว่า 5.4 แสนคน

ศักยภาพ ศก.ลดลงเรื่อย ๆ

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ในแง่คนวัยทำงาน เหมือนกับประเทศไทยถอยหลังกลับ จากปี 2020 มีแรงงานสูงสุดอยู่กว่า 50 ล้านคน ตอนนี้กำลังลดลง และคาดว่าปี 2030 จะเหลือ 47 ล้านคน และปี 2050 เหลือ 38 ล้านคน จากที่มีแรงงานที่สามารถสร้าง Productivity ของประเทศ ในช่วงที่ผ่านมาให้โตระดับ 2%

แต่อนาคตแรงงานที่ลดลงทำให้ขับเคลื่อนการเติบโตได้เพียง 1% แม้ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยเพิ่ม Productivity แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทดแทนกับการลดลงของประชากรในวัยทำงาน รวมถึงทรัพยากรด้านพลังงาน โดยหลักคือก๊าซธรรมชาติซึ่งใกล้จะหมดอ่าวไทย ทำให้ไม่มีแรงดึงดูดการลงทุน

“เห็นได้ว่าศักยภาพเศรษฐกิจไทยมีท่าทีว่าจะไหลลงไปเรื่อย ๆ การพัฒนาที่ดีที่สุดคือ การทำให้ประชาชนมีผลผลิตต่อหัวสูงขึ้น จากการ Upskill/Reskill ทำให้ประชาชนมีการศึกษาที่ดี การพัฒนาเศรษฐกิจที่ดี คือการทำให้ประชาชนมี Productivity สูงที่สุด เมื่อเรามีประชากรลดลง ก็ต้องทำให้คุณภาพดีขึ้น ฉะนั้นการศึกษาของประชาชนจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก และเป็นเรื่องหลักที่จะสร้างอนาคตให้กับประเทศ”

ดังนั้นอยากให้รัฐบาลมองเรื่องการปลดล็อกศักยภาพเศรษฐกิจไทยในระยะยาว คือปัญหาขาดแคลน “แรงงาน” ทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณ และเรื่องทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ ทั้งเรื่องพลังงาน รวมถึงทรัพยากรน้ำ เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งจะสามารถดึงเทคโนโลยีเข้ามาในประเทศได้ สิ่งเหล่านี้อยากให้รัฐบาลมีความชัดเจน จะได้รู้ว่าจะขับเคลื่อนประเทศโดยใช้นโยบายอะไร

ดอกเบี้ยสูงกดการฟื้นตัว

ดร.ศุภวุฒิกล่าวต่อว่า ส่วนประเด็น “เศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพ” ถือเป็นโจทย์ระยะสั้น เรื่องนโยบายการคลังของประเทศไทยไม่ได้มีปัญหา หนี้สาธารณะไม่ได้สูง แต่ที่ถกเถียงกันอยู่คือ เรื่อง “นโยบายการเงิน” ซึ่งในเชิงวิชาการ สิ่งที่ต้องทำคือ ทำอย่างไรให้เกิดเสถียรภาพของราคา หลักการคือ “เงินเฟ้อ” ต่ำ แต่ไม่ใช่ 0 ทำให้มาตรฐานสากลของเงินเฟ้ออยู่ที่ 2%

ปัญหาของประเทศไทยคือ ปัจจุบันเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องกันมา 5 เดือน (รวม ก.พ. 67) ซึ่งแบงก์ชาติบอกว่าเป็นผลจากรัฐบาลใช้มาตรการอุดหนุนราคาพลังงาน เงินเฟ้อซึ่งถ้าดู Core Inflation อยู่ที่ 0.5% ดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% อัตราดอกเบี้ยนโยบายธรรมชาติ ที่ทำให้จีดีพีเติบโตได้ตามธรรมชาติ (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย หลังหักเงินเฟ้อออก) หรือที่เรียกว่า R-starR-star อยู่ที่ 2% ก็ถือว่าสูงเกินไปอยู่ดี

“ถ้าเงินเฟ้อสามารถกลับขึ้นมาอยู่ที่ 2% อย่างที่แบงก์ชาติหวังได้ก็ดี แต่ถ้าเวลาผ่านไปอีก 3-4 เดือน แล้วเงินเฟ้อไม่ฟื้นสักที อันนี้มีความเสี่ยงว่าดอกเบี้ยนโยบายสูงเกินไป ไม่ได้เกื้อกูลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพราะมันจะเริ่มกดเศรษฐกิจไม่ให้โตตามศักยภาพ และปัญหาคือ การใช้นโยบายดอกเบี้ย คือถ้ามีการปรับลดในวันนี้ กว่าจะให้ผลบวกทางเศรษฐกิจต้องรอไปอีก 12-18 เดือน”

ลุ้นงบฯรัฐดันเงินเฟ้อ

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าในช่วงไตรมาส 3 เงินเฟ้ออาจจะปรับขึ้นมาได้ จากที่เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่จะเร่งออกมาในช่วงไตรมาส 2-3 รวมทั้งงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ถ้า พ.ร.บ.งบประมาณผ่านสภาเร็ว ก็จะทำให้มีเงินงบประมาณของภาครัฐเยอะมากช่วงไตรมาส 2 ถึงสิ้นปี

โดยเฉพาะไตรมาส 3-4 ตอนนั้นคือเงินมีจำนวนมากก็จะไดรฟ์เงินเฟ้อขึ้นมาได้ ซึ่งแบงก์ชาติอาจคาดการณ์ว่าจะทำให้เงินเฟ้อขึ้นไปที่ 2% ก็เป็นไปได้ เพราะเงินงบประมาณ 2 ปีจะอัดออกมาในครึ่งปีหลัง

“ถ้าเงินเฟ้อขึ้นมา 2% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.5% เท่ากับว่าดอกเบี้ยธรรมชาติอยู่ที่ 0.5% ซึ่งถ้าแบงก์ชาติคิดแบบนี้ก็ต้องมาอธิบายว่า คาดการณ์แบบนี้ เงินเฟ้อจะกลับขึ้นมาในช่วงไตรมาส 3-4”

ห่วงโรคติดต่อ “เงินฝืด” จากจีน

ที่ปรึกษาฝ่ายวิจัย KKP กล่าวว่า เศรษฐกิจไทย 70% ของจีดีพี มาจากภาคส่งออกสินค้าและบริการ จีดีพีจึงขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกอย่างมาก ขณะที่การประเมินเศรษฐกิจโลกก็มีความยากลำบาก เพราะเศรษฐกิจหลักมีความแตกต่างกัน จาก 4 เศรษฐกิจหลักของโลก อย่างสหรัฐอเมริกายังมีการเติบโตอย่างร้อนแรง ส่วนเศรษฐกิจยุโรป (เงินเฟ้อสูง) ญี่ปุ่น (เงินฝืดมายาวนาน) ยังลูกผีลูกคน และจีน อยู่ในสถานการณ์ที่หนักกว่าและเจอกับ “เงินเฟ้อติดลบ”

“ผมแอบกังวลว่าทิศทางเงินเฟ้อจีนไปทางไหน เงินเฟ้อไทยก็ไม่ต่างกัน เพราะจีนเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่มากของเรา และเราขาดดุลการค้าจีนเยอะมาก สินค้าจีนราคาถูกเข้ามาที่ไทยเยอะมาก ถ้าจีนกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย เดี๋ยวก็จะกระทบติดต่อมาที่เรา ฉะนั้นปัจจัยที่ทำให้ไม่แน่ใจว่าเงินเฟ้อไทยจะกลับมาอย่างที่แบงก์ชาติคิดก็คือ จีน เพราะต้องยอมรับว่าเงินเฟ้อเรายังไม่ขึ้น

ขณะที่จีนใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นตลอด ทั้งเชิงปริมาณและการลดดอกเบี้ย ถ้าไทยยังยืนดอกเบี้ยสูงไม่ผ่อนคลาย เรามีความเสี่ยงเงินเฟ้อตามเทรนด์ประเทศจีน และกลัวว่าจะมีการส่งผ่านเงินฝืดมาที่ประเทศไทยด้วย”

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า สินค้าจีนไม่เพียงแต่ทะลักมาที่ไทย แต่ไปทั่วโลก เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนขับเคลื่อนด้วยภาคอสังหาฯเกือบ 20% ของจีดีพี จนมีปัญหาบ้านเหลือขายเป็นล้านหลัง ขณะที่รัฐบาลก็ไม่เข้าไปอุ้ม ทำให้จีนขาดหัวจักรเศรษฐกิจ ก็คาดการณ์กันว่าจีนจะใช้การส่งออกสินค้าการผลิตอุตสาหกรรม เพื่อดันเศรษฐกิจโต 5% ต่อปี โดยใช้นโยบายราคา ซึ่งการดัมพ์ราคาก็ขึ้นอยู่กับค่าเงินหยวนด้วย

เตือนระวัง “เงินฝืด”

คำถามที่ว่าประเทศไทยเข้าใกล้เงินฝืดหรือยัง ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า แบงก์ชาติยืนยันว่าไม่ใช่ แต่ผมให้ระวัง คือเห็นเงินเฟ้อติดลบมา 4 เดือนก็หนาวแล้ว คือถ้าเงินฝืดแล้วมันกลับยาก เห็นได้ว่าญี่ปุ่นเงินฝืดมา 20 ปีแล้ว มูลค่า GDP เป็นดอลลาร์สหรัฐไม่เพิ่มขึ้นเลย เสียโอกาสทางเศรษฐกิจมา 20 ปี แบงก์ชาติญี่ปุ่นจดจ่ออยากให้เงินเฟ้อสูงขึ้นทุกเดือน ทั้งพิมพ์เงินออกมาทั้งลดดอกเบี้ย แต่เงินเฟ้อก็ไม่ขึ้น แต่ญี่ปุ่นโชคดีตรงที่ประชาชนรวย ไม่ได้เป็นหนี้

ขณะที่สถานการณ์ของไทย ดร.ศุภวุฒิฉายภาพว่า ถ้าเงินเฟ้อไม่ขึ้น ดอกเบี้ยนโยบายจะสูงเกินไปที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจโต ส่วนที่แบงก์ชาติมองว่า หนี้ครัวเรือนสูงถ้าไปลดดอกเบี้ย คนจะไปกู้เพิ่มก็จะเกิดปัญหาของระบบเสถียรภาพ เรื่องนี้ไม่เถียง

แต่มี 2 ประเด็นคือ ถ้าแบงก์ชาติกลัวเรื่องการก่อหนี้เพิ่ม ควรทำนโยบายเกี่ยวกับการปล่อยกู้ คือไม่ปล่อยกู้ให้กับคนมีหนี้มากเกินไป ไม่เกี่ยวกับดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนที่จะมีปัญหาไปกู้นอกระบบก็ต้องไปแก้ตรงนั้น ประเด็นคือ อย่าให้ดอกเบี้ยมีปัญหาทำให้จีดีพีโตช้า อย่าให้มีปัญหาเกิดภาวะเงินฝืด

ประเด็นที่ 2 ดอกเบี้ยสูงทำให้ลูกหนี้พังเร็วที่สุด ถ้าอยากทำให้คนไม่เป็นหนี้ ต้องทำให้จีดีพีโต เพื่อที่คนทำงานจะมีรายได้ เงินเดือนเพิ่มขึ้น อย่าใช้นโยบายอะไรที่กีดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะคือการโตของรายได้ประชาชน และที่น่ากลัวคือ ภาวะเงินฝืด หรือกรณีเงินเฟ้อติดลบ จะทำให้คนที่เป็นหนี้มูลค่าจริงของหนี้เพิ่มขึ้น ขณะที่เงินเดือนไม่ขึ้น

ไม่มีคำอธิบายไม่ลดดอกเบี้ย

“ฉะนั้นควรระวังอย่าให้เข้าสู่ภาวะเงินฝืดเด็ดขาดในยุคที่มีหนี้เยอะ ตรงกันข้ามเวลามีเงินเฟ้อมูลค่าจริงของหนี้ในอดีตจะลดลง ฉะนั้นต้องพยายามให้มีเงินเฟ้อนิดหน่อย จะได้ไม่เป็นภาระของลูกหนี้ และให้เขาหยุดกู้ใหม่ ก็ต้องให้มีงานทำและเงินเดือนเพิ่มขึ้น และตรึงดอกเบี้ยที่เขาต้องจ่ายไม่ให้ขึ้น ก็จะช่วยแก้ปัญหาหนี้ในระยะยาวได้ ถ้าจะช่วยประชาชนควรช่วยแบบนี้”

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. 67 ดูจากตัวเลขฐานปีก่อน แล้วแบงก์ชาติจะยืนนโยบายการเงินแบบนี้ ยังมีข้อมาสนับสนุนแนวคิดไม่ลดดอกเบี้ยได้ แต่ถ้าถึงเดือน พ.ค.-ก.ค. 67 แล้วเงินเฟ้อยังติดลบอยู่ นึกไม่ออกว่าแบงก์ชาติจะอธิบายยังไง และปัญหาคือ ถึงตรงนั้นสงสัยตัวเลข GDP ไตรมาส 2 จะยังดูไม่ดี แล้วถ้าไม่ลดดอกเบี้ยตอนนั้น ก็ใช้เวลากว่าจะได้ผลที่บวกกับเศรษฐกิจต้องรอไปอีก 12-18 เดือน คือพูดง่าย ๆ ปีนี้เศรษฐกิจก็จะไม่ดีไปเลย แต่ถ้ามองในแง่บวกว่าเดี๋ยวเงินงบประมาณรายจ่ายมา และในที่สุดเฟดก็คงจะมีการลดดอกเบี้ยช่วยให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้น ทุกคนก็หวังกันอยู่แบบนี้

สำหรับภาวะเศรษฐกิจปีนี้ ดร.ศุภวุฒิระบุว่า แม้ว่าการส่งออกฟื้นบ้าง แต่อย่าหวังว่าจะเป็น “พระเอก” เหมือนกับปีที่แล้วที่ประเทศไทยหวังว่า “ท่องเที่ยว” เป็นพระเอก แต่ก็ไม่ใช่ ปีที่แล้วนักท่องเที่ยวต่างชาติมา 28 ล้านคน แถมรายจ่ายต่อหัวลดลง ปีนี้ถ้าเพิ่มเป็น 35 ล้านคน แต่ถ้ารายจ่ายต่อหัวยังต่ำอยู่ จะยืนยันว่าแรงขับเคลื่อนจากภาคท่องเที่ยวไม่ได้เยอะขนาดนั้น รวมถึงการส่งออกก็ไม่รู้ว่าจะพึ่งพาได้มากแค่ไหน

เศรษฐกิจไทยอยู่บนไททานิก

ดร.ศุภวุฒิสรุปว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน โดยรวมมีแนวโน้มลดลง จากปัจจัยต่าง ๆ โดยเศรษฐกิจไทยเผชิญทั้งปัญหา “โตต่ำกว่าศักยภาพ” เพราะมีตัวบ่งชี้ เพราะ GDP ก็โตแค่ 2% จากตอนแรกที่คิดว่าจะโตได้ 3% เงินเฟ้อเป้าหมายจะโต 2% ก็ติดลบ ขณะที่ “ศักยภาพเศรษฐกิจไทยก็ต่ำลง” คือจากแต่ก่อนศักยภาพประเทศไทยอยู่ที่การเติบโต 4-5% ก็ทรุดลงไปเรื่อย ๆ เรียกว่ามีทั้ง 2 ปัญหา

“สถานการณ์แบบนี้ที่มีคนถามว่าวิกฤตหรือไม่วิกฤต ต้องบอกว่า เศรษฐกิจไทยเวลานี้ ก็เหมือนว่าเราอยู่บนเรือไททานิกที่ใกล้จะชนน้ำแข็ง แน่นอนถ้าชนน้ำแข็งก็อาจวิกฤตได้ ยังไม่ชนน้ำแข็งก็ยังไม่วิกฤต แต่ถามจริง ๆ ใครที่รู้แบบนี้แล้วไปอยู่บนเรือไททานิกแล้วจะไม่ทำอะไรเลยเหรอ เหมือนกฎหมายบอกว่าต้องชนน้ำแข็งก่อนถึงจะใช้มาตรการฉุกเฉินได้คือ กฎหมายเขียนไว้แบบนั้น”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด 5 มีนาคม 2567 กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ลดลง 0.77% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ถือเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และคาดการณ์แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคม 2567 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องคาดว่าในช่วงเดือนพฤษภาคมเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวก จากการสิ้นสุดมาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน