“ภูมิธรรม” ส่งอัยการช่วยตรวจทีโออาร์ ประมูลข้าวจำนำลอตสุดท้าย 15,000 ตัน

“ภูมิธรรม” รมว.พาณิชย์ เผยคณะทำงานเร่งดำเนินการจัดทำเงื่อนไข (ทีโออาร์) การประมูลข้าว 15,000 ตัน ใกล้แล้วเสร็จ พร้อมจะจัดส่งให้กับทางสำนักงานอัยการฯตรวจสอบ ปิดช่องทางปัญหาขัดข้อกฎหมาย หวังขอราคาได้ครึ่งหนึ่งของราคาตลาด จบเรื่องเอาเงินเข้าประเทศ ปิดตำนานโครงการรับจำนำข้าว

วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเปิดประมูลข้าวในโครงการรับจำนำข้าว 2556/57 ของรัฐบาลจำนวน 15,000 ตันว่า ได้สั่งการให้คณะทำงานเร่งจัดทำเงื่อนไข (ทีโออาร์) เพื่อผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมประมูลได้รับทราบ

“การประมูลจะต้องจบภายในเดือนมิถุนายน 2567 นี้ เพราะขณะนี้คณะทำงานอยู่ระหว่างการดำเนินการร่างทีโออาร์ อีกทั้งกำลังให้สำนักงานอัยการฯพิจารณาข้อกฎหมายให้ชัดเจน โดยจะไม่ทำอะไรที่อยู่เหนือกฎหมาย เพราะหากมีตรงไหนผิดอาจจะทำให้เสียหาย ดังนั้น จะต้องรอบคอบดูผลประโยชน์ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชย์สูงสุด ทั้งภาครัฐ ผู้ประมูล เจ้าของคลัง”

ภูมิธรรม เวชยชัย
ภูมิธรรม เวชยชัย

“ราคาประมูลในใจผม อยากเห็นราคาประมูลให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของราคาข้าวในตลาด แต่คงพูดไม่ได้ว่าจะได้ราคาเท่าไหร่ เพราะขึ้นอยู่กับราคาประมูลเวลานั้น ซึ่งหากได้ราคาตามที่ใจคิด การประมูลข้าวครั้งนี้จะได้เงินอยู่ที่ 200-400 ล้านบาท นอกจากนี้ จะทำให้ไม่มีข้าวค้าง แต่ควรจะปิดตำนานโครงการรับจำนำข้าวลงมาสักที”

สำหรับเงื่อนไขสำคัญจะประมูลขายข้าวแบบยกกอง เพราะไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบ
นอกจากนี้ เพื่อป้องกันการทิ้งประมูลข้าว การประมูลข้าวครั้งนี้จะขายแบบจัดลำดับ 1-5 หากผู้ที่ชนะผู้ประมูลคนที่ 1 ทิ้งประมูล ก็จะเรียกผู้ที่ให้ราคาดีที่สุดลำดับถัดไปมารับมอบข้าว โดยจะดำเนินการทุกอย่างให้โปร่งใสที่สุด

Advertisment

ทั้งนี้ ทีโออาร์จะเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลนั้นสามารถเข้าตรวจสอบคุณภาพก่อนได้ ซึ่งเชื่อว่าผู้ที่เข้าร่วมประมูลจะร่วมกันตรวจสอบ และมั่นใจไม่มีใครอยากซื้อของไม่ดี เพราะฉะนั้น ก่อนจะมีการประมูล การจ่ายเงิน ก็จะต้องมีการตรวจสอบก่อน ในขณะที่คุณภาพข้าวนั้น ที่ผ่านมาก็มีสื่อมวลชนร่วมกันตรวจสอบอย่างเต็มที่ หากยังมีข้อไม่สบายใจก็มีสิทธิตรวจสอบให้เป็นไปตามกระบวนการได้ และรัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซง

“ตลาดสำคัญของผู้ที่ได้รับมอบข้าวไป และตลาดที่ยังให้ความสนใจข้าวของไทย คือตลาดแอฟริกา เพราะเป็นข้าวที่ตรงกับความต้องการ คือตลาดข้าวเก่า แต่หากประมูลข้าวไปแล้ว ไม่นำไปบริโภคเป็นเรื่องของผู้ที่ประมูลข้าวไปจะดำเนินการ เพราะถือว่ารัฐบาลหมดหน้าที่แล้ว

และกระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าได้ทำให้ทุกอย่างเพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ แต่ก็จะดำเนินการให้ดีที่สุด โปร่งใสที่สุด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทุกคนมีสิทธิเข้าร่วมประมูล เพราะเป้าหมายต้องการนำเงินที่ได้จากการประมูลเข้าคลังมากที่สุด รวมไปถึงนำไปเยียวยาให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบต่อไป”