ให้ทูต WTO ตั้งรับผล “Brexit” รักษาสิทธิไทย-โควตาสินค้าต้องเท่าเดิม

พาณิชย์ประสานทูต WTO รักษาผลประโยชน์ทางการค้าไทย-อังกฤษ หลัง Brexit ชี้หากปลดอังกฤษพ้นระบบสหภาพศุลกากร “Custom Union” รื้อระบบภาษีทั้งหมด ไทยเตรียมขอเจรจาชดเชยโควตาภาษี ด้านเอกชนแนะจับตาผลเบร็กซิตอีก 1-2 ปี อียูโดดเดี่ยวกระทบเอฟทีเอ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” กรมได้มีหนังสือแจ้งไปยังเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อขอให้ประสานและเตรียมความพร้อมในกรณีที่อังกฤษจะเจรจาออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ ภายหลังจากการเจรจา Brexit ซึ่งจะต้องไม่น้อยกว่าที่ไทยเคยได้รับจากอังกฤษ เมื่อครั้งที่อยู่ในสหภาพยุโรป

“ถ้าอังกฤษออกจากอียูแล้วจะเป็นอย่างไรต่อ เช่น เรื่องภาษีที่ไทยเคยได้รับเมื่อครั้งที่อยู่ในอียู เราทำหนังสือแจ้งเข้าไปโดยผ่านทางท่านทูตที่เจนีวาว่าขอให้ตระหนักถึงความสำคัญด้วยว่า ไทยจะไม่เสียประโยชน์ที่เคยได้ เพราะเมื่อออกจากอียูแล้วก็ต้องมีอัตราภาษีสำหรับประเทศอังกฤษเอง ซึ่งอาจต้องมีการนัดหารือในโอกาสข้างหน้า คุยกับอังกฤษให้มากขึ้น แต่ต้องให้เวลาทางอังกฤษได้เจรจากับทางอียูให้เรียบร้อยก่อนว่าอนาคตความสัมพันธ์จะเป็นอย่างไร หลังจากนั้นจึงจะมาเจรจากับประเทศอื่น”

ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ดังกล่าว หมายถึง อัตราภาษีนำเข้า อัตราภาษีภายใต้โควตา – นอกโควตา สินค้าต่าง ๆ เช่น ไก่ ข้าว รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากร (GSP)

รายงานข่าวระบุว่า ประเด็นสำคัญที่ไทยต้องติดตามสถานการณ์ผลการเจรจา Brexit ของอังกฤษกับอียู ที่ตกผลึกแล้วว่าจะเป็นอย่างไร ก่อนที่จะวางแนวทางในการรักษาความสัมพันธ์ทั้งในฝั่งอังกฤษ และอียู

โดยเบื้องต้นต้องรู้ว่าอังกฤษยังคงใช้ระบบสหภาพศุลกากร (Custom Union) กับอียูต่อไปหรือไม่ เพราะระบบนี้หมายถึงการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่พัฒนามาจากเขตการค้าเสรี มีการกำหนดอัตราภาษีศุลกากรในอัตราเดียวกันระหว่างสมาชิก ซึ่งมีผลต่อประเทศที่มิใช่สมาชิก อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบ เช่น เดิมสินค้าชนิดหนึ่งที่อังกฤษเคยให้ลดภาษีเมื่อครั้งอยู่ในอียู แต่อาจจะเป็นสินค้าที่อังกฤษต้องการปกป้อง ซึ่งพอออกจากอียูอาจปรับขึ้นภาษี หรือจะย้อนกลับไปใช้อัตราภาษีเดิมก่อนเข้าอียูซึ่งผ่านมานานมากแล้ว

“สิ่งที่อังกฤษเคยให้ไทยควรจะต้องคงไว้ บางอย่างที่ไทยจะหารือต้องอาศัยช่องทางผ่าน WTO ซึ่งอังกฤษคงเข้าใจหลักการนี้ เรียกว่าอย่างน้อยเรายังมีหลักพิงอยู่ว่า หากเกิดอะไรขึ้น เช่น ถูกปรับเปลี่ยนอัตราภาษีนำเข้า ไทยสามารถไปขอเจรจาที่ดับบลิวทีโอได้ แต่ไม่ใช่เฉพาะไทยเพียงคนเดียวที่ต้องไปเจรจา อังกฤษต้องเตรียมรับมือกับการเจรจาของทุกประเทศที่จะมุ่งเข้ามาเจรจา เพราะทุกอย่างที่เจรจาไปแล้วตั้งแต่อยู่ในอียูจะต้องเจรจาใหม่หมด ขึ้นอยู่กับว่าผลเจรจากับอียูจะเป็นอย่างไร โจทย์คืออังกฤษคงต้องคิดอะไรที่ทำให้ตัวเองเหนื่อยน้อยที่สุด ค่อนข้างจะซับซ้อน ไม่ใช่แค่อัตราภาษี แต่จะต้องมีเรื่องมาตรฐาน กฎระเบียบต่าง ๆ แต่ประเด็นที่เสี่ยงคือกรอบระยะเวลาในการเจรจาเดินไปเรื่อย ๆ ยิ่งนาน อียูจะมีความได้เปรียบในการต่อรองมากขึ้น ถ้าอังกฤษยังเจรจาไม่เสร็จ คนเดือดร้อนคือคนที่โดนโดดเดี่ยว ซึ่งก็มีเพรสเชอร์เรื่องเวลาที่จะต้องติดตามต่อไป”

ด้านนายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ว่าอังกฤษยินดีที่จะเจรจาเอฟทีเอกับไทย แต่ยังไม่สามารถจะเริ่มเจรจาได้ เพราะยังอยู่ในกระบวนการเจรจา Brexit ฝ่ายไทยต้องติดตามผล Brexit อีก 1-2 ปี ซึ่งมีโอกาสจะเกิดขึ้นได้หลายทาง เช่น ในกรณีที่อังกฤษถูกโดดเดี่ยวจากสหภาพยุโรป การลงทุนตรงไปยังอังกฤษลดลง ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ชะลอตัว ซึ่งจะมีผลให้อังกฤษกลายเป็นตลาดส่งออกที่มีขนาดเล็กลง กรณีนี้ไทยต้องประเมินว่า ไทยส่งออกไปยังอังกฤษมากน้อยเพียงใด และมีสินค้าใดบ้างที่ส่งเข้าไป หรือกรณีคือ อังกฤษยังอยู่ใน Custom Union หมายถึงสหภาพศุลกากร อัตราภาษีนำเข้ายังเท่าเดิมจะไม่ต้องเจรจาใหม่ แต่หากไม่เป็น Custom Un-ion ไทยต้องได้ทั้งโควตาเดิมที่อียูเคยให้ และได้โอกาสขยายตลาดอังกฤษเพิ่มขึ้นด้วย

“ที่ผ่านมาอังกฤษเปรียบเสมือนพ่อค้าคนกลางที่นำเข้าสินค้าจากไทยไปขายในอียู หากอังกฤษพ้นจากการเป็นสหภาพศุลกากรไทยจะต้องปรับตัว โดยการส่งออกตรงไปยังประเทศเศรษฐกิจใหญ่ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ส่วนผลกระทบตลาดอังกฤษคงน้อย ถ้าถึงเวลานั้น เพราะอังกฤษจะกลายเป็นตลาดที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก”

รายงานจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป ระบุว่า ผล Brexit ไม่กระทบต่อไทยมากนัก เพราะไทยส่งออกไปอังกฤษสัดส่วน 3.41% เทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหาร-เกษตรไปยังตลาดโลก ภายหลังจาก Brexit ไทยต้องหาทางเจรจาให้อังกฤษเปิดตลาดนำเข้าไก่แปรรูปจากไทยมากขึ้น เพราะสินค้าไก่แปรรูปส่งไปอังกฤษมากเกือบ 1 ใน 3 ของการส่งออกไก่แปรรูปทั้งหมดของไทย รวมถึงต้องขอเจรจาเปิดตลาดสินค้าที่ถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีอื่นๆ เช่น ทูน่ากระป๋อง อาหารแปรรูป กุ้งแปรรูป และสับปะรดกระป๋องด้วย