อินโดฯปลดล็อก ห้ามนำเข้าลำไยไทยแล้ว พาณิชย์ยันยังห้ามนำเข้ามะพร้าวถึงต.ค.

แฟ้มภาพ

อินโดนีเซียปลดล็อกห้ามลำไยไทย ส่วนไทยยังเดินหน้าระงับนำเข้ามะพร้าวจนถึงต.ค. พร้อมสั่งสอบสต็อก หากเจตนาขอนำเข้าเกินใช้จริง เตรียมเพิกถอนใบอนุญาต

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับการแจ้งจากกระทรวงการค้าของอินโดนีเซียว่าได้ยกเลิกมาตรการระงับการนำเข้าลำไยจากไทยแล้ว ซึ่งเป็นผลจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้ขอให้อินโดนีเซียทบทวนมาตลอด ส่วนการใช้มาตรการระงับการนำเข้ามะพร้าวเป็นการชั่วคราว 3 เดือนสิ้นสุดเดือนตุลาคมนี้กับทุกประเทศ รวมถึงอินโดนีเซีย เพื่อลดความเดือดร้อนของเกษตรกรและราคามะพร้าวในประเทศตกต่ำ อยู่ในช่วงการใช้มาตรการและจะทบทวนหลังจากนี้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561ได้หารือผู้ประกอบการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว เพื่อแก้ปัญหามะพร้าวราคาตกต่ำ โดยแนวทางระยะสั้น สั่งให้กรมการค้าต่างประเทศ ตรวจสอบปริมาณการนำเข้ามะพร้าวและสต็อกของบริษัทผู้ผลิตย้อนหลังตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน และตรวจสอบการใช้วัตถุดิบเพื่อการผลิต ต้องการให้เห็นภาพถึงปริมาณผลผลิตและความต้องการใช้จริง ก็จะนำข้อมูลไปวางแผนระยะกลางและยาว ตั้งแต่พื้นที่การผลิต และการอนุญาตนำเข้า ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ รวมถึงลดต้นทุนผลิตให้ต่ำกว่าประเทศส่งออกหลัก เช่น อินโดนีเซีย

“กระทรวงฯจะพิจารณายกเลิกใบอนุญาตนำเข้า หากมีพฤติกรรมนำเข้าเกินความต้องการจริง มีการลักลอบนำเข้าเกินที่กำหนด หรือมีเจตนาบิดเบือนตลาดจนกระทบต่ออุตสาหกรรมและเกษตรกร หลังจากนี้จะหารือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการวางแผนร่วมกับภาคผลิตที่เหมาะสมกับการตลาดต่อไป “ นายสนธิรัตน์ กล่าว

นายสนธิรัตน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนการส่งออก กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการหารือภาคเอกชนทุกกลุ่มอุตสาหกรรมและการเกษตร และวิเคราะห์ข้อมูลทุกด้าน เพื่อทบทวนตัวเลขคาดการณ์ส่งออกปี 2561 ใหม่ ในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าการส่งออกทั้งปีนี้ ขยายตัวเกิน 8% แต่ถ้าส่งออกเฉลี่ยได้มูลค่าเดือนละ 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งออกทั้งปีก็จะขยายตัวได้ 9%

โดยแนวทางหนึ่งในการผลักดันส่งออก คือ การใช้ประโยชน์จากการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ล่าสุดได้สั่งการให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ระหว่างไทยกับจีน (เจซี) ปลายเดือนสิงหาคมนี้ โดยจัดทำแผนความร่วมมือใน 5 ปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มมูลค่า และลดอุปสรรคการค้า