รัฐบาลทิ้งทวนก่อนเลือกตั้ง เร่งจัดทัพ-ปิดดีลบิ๊กโปรเจ็กต์

แฟ้มภาพประกอบข่าว

ทิ้งทวนก่อนเลือกตั้ง รัฐบาลเร่งปิดดีลเมกะโปรเจ็กต์ “ไฮสปีด-มอเตอร์เวย์” พร้อมกดปุ่มเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม-ม่วงใต้ เม.ย.นี้ “อาคม” เผยโค้งสุดท้ายรัฐบาลเตรียมชงโปรเจ็กต์ค้างท่อเข้า ครม.อีก 1 แสนล้านบาท พร้อมซุ่มจัดทัพ “ข้าราชการ-รัฐวิสาหกิจ” วางตัวผู้บริหารแบงก์รัฐ-บอร์ดทุกแห่งรับสนองนโยบาย ร.ฟ.ท.เผย 8 ก.พ. บอร์ดประชุมสรรหา “ผู้ว่าการตัวจริง” คุมโปรเจ็กต์ไฮสปีด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โค้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง รัฐบาล คสช.ได้เร่งดำเนินการให้เซ็นสัญญา หรือเปิดประมูลโครงการต่าง ๆ เพื่อให้โครงการเดินตามแผน พร้อมแต่งตั้งวางตัวบุคคลให้เรียบร้อยก่อนการเลือกตั้ง ทั้งในส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ และสถาบันการเงินของรัฐอย่างต่อเนื่อง ที่เห็นได้ชัดคือการเร่งสรรหา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ล่วงหน้ากว่าครึ่งปี เพื่อเข้ามาแทน นายรพี สุจริตกุล ที่จะครบวาระสิ้นเดือน เม.ย.

โดยกระทรวงการคลังได้เสนอ ครม. ตั้งแต่ 25 ธ.ค. 2561 เห็นชอบแต่งตั้ง นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี ให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ ก.ล.ต. โดยมีผล 1 พ.ค. 2562 ซึ่งปัจจุบัน นางสาวรื่นวดี เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงการคลังอีก 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด

เร่งตั้ง “เอ็มดีแบงก์รัฐ”

นอกจากนี้ มีการเร่งสรรหาเบอร์หนึ่งรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะในสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น การเปิดสรรหา กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ระหว่าง 21 ม.ค.-8 ก.พ.นี้ โดยนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. จะเกษียณในเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งปีนี้ธพว.ได้รับนโยบายให้ผลักดันเอสเอ็มอีให้เข้าสู่ระบบอีคอมเมิร์ซให้ได้ 6 แสนราย

ด้านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่ว่างเว้นผู้จัดการทั่วไป อยู่หลายเดือน ปลายปีที่ผ่านมา นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล เป็นประธานบอร์ด มีมติแต่งตั้ง นายรักษ์ วรกิจโภคาทร เป็นผู้จัดการทั่วไป มีผลตั้งแต่ 17 ธ.ค. 2561 รวมทั้งการสรรหา ผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ที่ยืดเยื้อมากว่า 1 ปี ที่สุดก็ได้ นายวุฒิชัย สุระรัตน์ชัย เข้ามารับตำแหน่งเมื่อ 1 ต.ค. 2561 ซึ่งเป็นอดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารธนชาต และเป็นลูกน้องเก่านายอภิศักดิ์ สมัยอยู่ธนาคารนครหลวงไทย

“นาฬิกอติภัค” คุม ธพส. มี.ค.นี้

ด้านบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ (ธพส.) ที่นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้จัดการคนเก่า ได้ลาออกไปรับตำแหน่งดีดี บมจ.การบินไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2561 โดยมีผู้สมัคร 4-5 ราย แต่ไม่ผ่านคุณสมบัติไป 3 ราย โดยผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการผู้จัดการ ธพส. คือ พ.อ.ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท อดีตผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

นางสาวอมรรัตน์ กล่ำพลบ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ ด้านที่ราชพัสดุ ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา กล่าวว่า บอร์ด ธพส.ได้เห็นชอบค่าตอบแทนว่าจ้างกรรมการผู้จัดการคนใหม่แล้ว คาดว่าจะให้เริ่มงานในเดือน มี.ค.นี้

ทั้งนี้ งานที่ ธพส.ต้องเร่งขณะนี้คือ โครงการศูนย์ราชการฯ โซน C มูลค่าลงทุน 30,000 ล้านบาท

โละบอร์ดออมสิน-ตั้ง ผอ.สลากฯ

นอกจากนี้ ครม.เมื่อ 18 ธ.ค. 2561 มีมติแต่งตั้ง ประธานและกรรมการธนาคารออมสิน ชุดใหม่ 12 คน โดยตั้งนายอำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นประธาน ในส่วนของผู้อำนวยการสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ พล.ต.ฉลองรัฐ นาคอาทิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯคนก่อนหน้า เกษียณอายุไปตั้งแต่ ม.ค. 2561 ผ่านไปหนึ่งปีเพิ่งมีการลงนามสัญญาจ้าง พ.ต.อ.บุญส่ง จันทร์ศรี รองผู้อำนวยการสลากฯ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลคนใหม่ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา

สรรหาผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.คุมไฮสปีด

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ด้วยเม็ดเงินการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคม มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท ทำให้เป็นหมายปองหลังจากมีรัฐบาลใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งช่วงกลางปีนี้ ขณะที่ผู้บริหารในบางหน่วยงานที่ยังไม่มีตัวจริง เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา เพิ่งหมดสัญญาจ้าง นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ที่ถูกคำสั่ง คสช.ให้ไปช่วยงานที่สำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2560 โดยนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการฯนั่งรักษาการแทนตั้งแต่เดือน พ.ค. 2561 ถึงปัจจุบัน ซึ่งบอร์ด ร.ฟ.ท.เตรียมประชุมเปิดสรรหาผู้ว่าการคนใหม่ วันที่ 8 ก.พ.นี้

โดย ร.ฟ.ท.มีโครงการค้างท่อรอประมูลอยู่มาก เช่น พัฒนาที่ดินแปลง A สถานีกลางบางซื่อ มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้าน จัดซื้อหัวรถจักร 50 คัน 6,500 ล้านบาท รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยาย รถไฟทางคู่เฟส 2 เป็นต้น

ขณะที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ก็ยังไม่มีผู้อำนวยการ แม้ว่าคณะกรรมการสรรหาจะตัดสินให้ ร.ท.กมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการ เป็นผู้ได้รับคัดเลือก แต่ยังมีเสียงคัดค้านจนทำให้ชะลอการเสนอชื่อให้ ครม.พิจารณา ปัจจุบันมี ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง นั่งรักษาการ ซึ่งมีโครงการใหญ่ที่กำลังประมูล คือ พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 โซน F วงเงิน 84,361 ล้านบาท เปิดขายซองวันที่ 28 ม.ค.-8 ก.พ. และยื่นประมูลวันที่ 29 มี.ค. 2562

อาคมชงเมกะโปรเจ็กต์ค้างท่อ

ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วง 1-2 เดือนเป็นโค้งสุดท้ายของรัฐบาล จะเร่งนำโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งที่พร้อมจะขออนุมัติ ครม. เพื่อให้โครงการได้เริ่มต้นประมูลและก่อสร้างต่อไป จะมีรถไฟทางคู่ 3 สายทางในภาคอีสาน ได้แก่ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 67,965 ล้านบาท, ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 26,654 ล้านบาท และช่วงจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 307 กม. วงเงิน 37,523.61 ล้านบาท ซึ่งช่วงบ้านไผ่-นครพนมได้รับอนุมัติจากบอร์ดสภาพัฒน์แล้ว จะเสนอให้ ครม.ในเร็ว ๆ นี้ อีก 2 สายทางอยู่ระหว่างทำข้อมูลเพิ่มเติมรวมทั้งรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยาย ที่เตรียมเสนอให้ ครม.อนุมัติในเดือน มี.ค.นี้ มีช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ 8.84 กม. วงเงิน 6,500 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 14.8 กม. วงเงิน 10,000 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 5.7 กม. วงเงิน 7,500 ล้านบาท รวมถึงเตรียมเสนอ ครม.อนุมัติโครงการจัดหารถเมล์ลอตใหม่ 2,188 คัน ทั้งรถเมล์ NGV รถเมล์ไฮบริด และรถเมล์ไฟฟ้า มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท

เม.ย.กดปุ่มสายสีส้ม-ม่วงใต้

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ภายในเดือน เม.ย.นี้ คาดว่าจะเปิดประมูล PPP net cost ระยะ 30 ปี วงเงิน 128,000 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะ 16.4 กม. วงเงิน 96,000 ล้านบาท และคัดเลือกเอกชนเดินรถสายสีส้มตลอดเส้นทางจากมีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 36 กม. วงเงิน 32,000 ล้านบาท ขณะนี้รอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เสนอ ครม.อนุมัติ

ส่วนสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 23.6 กม. วงเงิน 101,112 ล้านบาท รอออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในเร็ว ๆ นี้ ด้านรถไฟฟ้าภูเก็ต ช่วงสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง 41.7 กม. วงเงิน 30,154 ล้านบาท จะเสนอ ครม.อนุมัติกลางปีนี้

ปิดดีลไฮสปีด ซี.พี.- มอเตอร์เวย์

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า การรถไฟฯมีโครงการรอเปิดประมูลหลายโครงการ เช่น ทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 320 กม. วงเงิน 85,345 ล้านบาท อยู่ระหว่างเตรียมออก พ.ร.ฎ.เวนคืน คาดว่าจะเปิดประมูลปลายปีนี้ ยังมีงานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา อีก 12 ตอนที่เหลือ วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท ในเดือน ก.พ.นี้จะเปิดประมูล 5 สัญญา ส่วนที่เหลือจะประมูลในเดือน มี.ค.นี้ รวมถึงเร่งพิจารณาข้อเสนอกลุ่ม ซี.พี. ลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 2.24 แสนล้านให้เสร็จเดือน ก.พ. เพื่อขออนุมัติ ครม.และเซ็นสัญญาในเดือน มี.ค.นี้

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า กลางเดือน ก.พ.นี้ จะออกประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนเก็บค่าผ่านทางและบำรุงรักษา (O&M) มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี และบางปะอิน-นครราชสีมา รูปแบบ PPP gross cost 30 ปี วงเงิน 6.1 หมื่นล้านบาท เปิดขายทีโออาร์เดือน มี.ค. ยื่นซองเดือน ก.ค. เซ็นสัญญาเดือน ธ.ค.นี้ อีกทั้งเตรียมนำมอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ เงินลงทุน 79,006 ล้านบาท ให้ ครม.อนุมัติในเดือน มี.ค.นี้ เพื่อเปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุน โดยรัฐจะเวนคืนที่ดิน 18,297 ล้านบาท ให้เอกชนลงทุน 60,709 ล้านบาท ก่อสร้าง ติดตั้งระบบ รับสัมปทานบริหารโครงการและพื้นที่เชิงพาณิชย์จุดพักรถ 30 ปี

ดิ้นแก้คุณสมบัติบอร์ด กสทช.

แหล่งข่าวระดับสูงภายในสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระบวนการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ แทนชุดปัจจุบันที่หมดวาระตั้งแต่ ต.ค. 2560 แต่มีคำสั่งคสช. ให้บอร์ดปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่แทนไปก่อน ดังนั้น แม้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ฉบับล่าสุดที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของ สนช. จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่กระบวนการสรรหาบอร์ดชุดใหม่ก็ยังดำเนินการไม่ได้

และล่าสุดสำนักงาน กสทช.ได้เสนอ ครม.พิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรฯ เพิ่มเติม ประเด็นเรื่องคุณสมบัติกรรมการ กสทช. อาทิ เดิมกำหนดให้ กรรมการ ต้องเว้นวรรคจากการทำงานในอุตสาหกรรมที่กำกับดูแล 1 ปี โดยเสนอให้ยกเลิกเงื่อนไขนี้ อ้างว่าเพื่อให้สอดคล้องกับกรรมการกำกับกิจการในอุตสาหกรรมอื่น และจะทำให้ได้ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เข้ามาทำหน้าที่

“ต้องจับตาว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร ถ้าต้องการจะตั้งกสทช.ชุดใหม่ให้ทันรัฐบาลนี้ ก็ต้องปลดล็อก ม.44 แต่ถ้าต้องการจะเปลี่ยนคุณสมบัติของกสทช.ด้วย ก็ต้องเร่งผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ. ที่สำนักงาน กสทช.เสนอแก้ไขเพิ่มเติม ให้ สนช.อนุมัติให้เร็วที่สุด”

ด้านแหล่งข่าวระบุว่า ประเด็นเรื่องคุณสมบัติของกรรมการจะต้องเว้นวรรคจากอุตสาหกรรมที่กำกับดูแล เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การสรรหากรรมการ กสทช. เมื่อต้นปี 2561 ต้องล่ม เพราะส่วนใหญ่ผู้ที่มาสมัครจะขาดคุณสมบัติข้อนี้

สนธิรัตน์ทิ้งทวน

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการสรรหาและแต่งตั้ง นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ คนใกล้ชิด นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พาณิชย์ เป็นประธานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าชุดใหม่ (บอร์ดแข่งขัน) ที่ให้อำนาจอย่างมากและแยกองค์กรออกเป็นอิสระ ทั้งยังมีคำสั่งต่ออายุบอร์ดองค์การคลังสินค้า (อคส.) เพื่อเร่งระบายข้าวและดำเนินคดีโครงการรับจำนำข้าวที่ยังค้างอยู่ 246 คดี

เร่งแผนน้ำ 7 แสนล้านบาท

ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งรัด 10 โครงการเร่งด่วนของกรมชลประทาน ระยะ 5 ปี (2562-2566) วงเงิน 700,000 ล้านบาท เพื่อเสนอครม. พิจารณา โครงการกำหนดการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2562-2566 โดยมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ที่ คสช.แต่งตั้งขึ้นเป็นผู้ขับเคลื่อนและเร่งรัดงบฯผูกพันให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง

ล่าสุด นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ โยกนายประสงค์ ประไพตระกูล ผู้ตรวจราชการกระทรวงไปเป็นอธิบดีกรมการข้าวแทนนายกฤษณพงศ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล ที่ถูกย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงซึ่งคาดว่ามาจากการผลักดัน พ.ร.บ.ข้าว และการขึ้นทะเบียนพันธุ์ข้าว

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!