บูมส่งออก “มะพร้าวน้ำหอม” เอ็นซีโคโคนัทบุกงานเอ็กซ์โปลุยตลาดจีน

“เอ็นซี โคโคนัท” มั่นใจต่างชาตินิยมมะพร้าวน้ำหอมไทย สงครามการค้าไม่กระทบส่งออกโตต่อเนื่องปีละ 30% เตรียมตะลุยงานแสดงสินค้านำเข้าจีน “CIIE” พ.ย.นี้ เจาะผู้นำเข้าเต็มที่พร้อมพัฒนานวัตกรรมเครื่องวัดความหวาน-แปรรูปเพิ่มมูลค่า ทั้งเยลลี่ น้ำมะพร้าวสกัดเย็น

นายณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทส่งออกมะพร้าวมานานกว่า 11 ปี โดยส่งไปยังตลาดส่งออกสำคัญ เช่น สหรัฐ สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน เป็นต้น ในปริมาณปีละ 17 ล้านลูก และมีมูลค่าการส่งออกขยายตัวต่อเนื่องประมาณปีละ 400 ล้านบาทต่อปี หรือโตเฉลี่ย 20-30% ทุกปี

ในปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายเช่นเดิม แม้ว่าจะมีสถานการณ์สงครามการค้าในปัจจุบันแต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของบริษัท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 80-90% เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่บริษัทส่งออกในรูปแบบมะพร้าวคว้าน หรือมะพร้าวที่ทำการตกแต่งแล้ว ไปยังตลาดทั้งสหรัฐ และจีน ซึ่งล่าสุดผู้นำเข้าของจีนได้ให้บริษัทเข้าไปร่วมงานแสดงสินค้า มหกรรมแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีน หรือ China International Import Expo (CIIE) ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2562 งานแสดงสินค้าครั้งนี้เป็นงานขนาดใหญ่ที่ได้รวบรวมผู้นำเข้าจากทั่วโลกมาไว้ด้วยกัน

เป้าหมายในการร่วมงาน CIIE ครั้งนี้บริษัทจะได้พบกับผู้นำเข้าไม่ใช่เพียงผู้นำเข้าจีน แต่ยังรวมถึงผู้นำเข้าจากต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดจีนขยายตัวเพิ่มขึ้น

“ในตลาดจีนเราวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้ากว่า 4,000 สาขา แม้กระทั่งในเหอหม่าเราก็มีวางจำหน่ายเช่นกัน โดยสินค้าที่จำหน่ายมีหลากหลายทั้งมะพร้าวคว้าน วุ้นแช่แข็ง เป็นต้น จึงทำให้ตลาดมีการเติบโตอย่างมาก ประกอบกับสินค้าเรามีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งของประเทศไทยรวมไปถึงของประเทศผู้นำเข้าอย่างจีน เราจึงได้พยายามคิดค้นสินค้าใหม่ ๆ โดยนำเรื่องของนวัตกรรมเข้ามาช่วย”

นายณรงค์ศักดิ์กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทได้นำนวัตกรรมเครื่องวัดปริมาณความหวานเข้ามาช่วยเหลือเพื่อส่งเสริมและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้ามะพร้าวให้มากขึ้น โดยเครื่องวัดปริมาณความหวานนี้เคยถูกนำไปใช้ในสินค้าทุเรียน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคถึงคุณภาพของมะพร้าวและรสชาติ

นอกจากมะพร้าวคว้านสินค้าหลักแล้ว ทางบริษัทยังส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าวกระป๋อง โดยตลาดสำคัญ คือ ตลาดสหรัฐ ซึ่งนิยมบริโภคเป็นอย่างมาก อีกทั้งขณะนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการพัฒนาสินค้าอื่น ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับมะพร้าว โดยเริ่มมีขนมอบกรอบจากมะพร้าว แม้ว่าสินค้าชนิดนี้จะมีผู้ประกอบการผลิตออกมามากมายในปัจจุบัน แต่บริษัทมองว่าต้องทดลองนำออกมาจำหน่ายเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ซื้อ นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าใหม่ คือ เยลลี่มะพร้าว คาดว่าจะสามารถผลิตออกมาจำหน่ายได้เร็ว ๆ นี้

นายณรงค์ศักดิ์กล่าว แม้ว่าปัจจุบันคู่แข่งส่งออกที่สำคัญของบริษัท คือ เวียดนาม แต่ด้วยคุณภาพ รสชาติระหว่างของมะพร้าวไทยและเวียดนามต่างกัน บริษัทจึงยังมั่นใจในการทำตลาดส่งออกได้

“บริษัทต้องการสร้างความแตกต่าง และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้าและบริษัทด้วย เช่น น้ำมะพร้าวสกัดเย็น ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา เป้าหมายคือการส่งออกไปต่างประเทศซึ่งทางบริษัทยังมั่นใจในการเติบโตของตลาดและความต้องการสินค้าอยู่ จึงเร่งพัฒนาสินค้าเพื่อขยายตลาดให้มากขึ้นต่อไป”

สำหรับการผลิตวัตถุดิบมะพร้าวปัจจุบันบริษัทใช้มะพร้าวที่ปลูกในประเทศเป็นหลัก โดยมีเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวอยู่ประมาณ 200 ราย พื้นที่สวนมะพร้าวรวม 5,000-6,000 ไร่ โดยมีพื้นที่เพาะปลูกส่วนที่เป็นของบริษัทประมาณ 100 ไร่

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตมีเป้าหมายจะขยายเพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการที่เติบโตขึ้น สำหรับระบบซื้อขายยังใช้ระบบพ่อค้าคนกลางเป็นผู้รวบรวมรับซื้อเป็นแนวทางหลัก