ผงะ“พาราควอต”ท่วมประเทศ ผู้ค้าคายสต๊อกกลัวผิดกฎหมาย

ผงะก่อนเส้นตายแบน 3 สารอันตราย สต๊อกงอกเท่าตัว 38,855 ตัน เหตุหลังวันที่ 1 ธ.ค. ผิดกฎหมาย ส่งผลให้พ่อค้าหนีตายแห่คายยาฆ่าหญ้าแจ้งกรมวิชาการเกษตร หวังหนีความผิด มูลนิธิชีววิถีเชื่อเก็บข้อมูลมั่ว-ลักลอบนำเข้า แนะรัฐตั้งกองทุนเกษตรกรยั่งยืน ลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรเกษตรเยียวยาเกษตรกร

ใกล้กำหนดเส้นตายในการแบน 3 สารเคมีกำจัดวัชพืชอันตราย “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคมเข้ามาทุกที หลังจากที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ยอมกลับมติ (22 ตุลาคม 62) ตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิดจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิต-นำเข้า-จำหน่าย-ส่งออก และห้ามมีไว้ในครอบครอง ทั้ง ๆ ที่ยังหาสารเคมีการเกษตรชนิดอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าหญ้าและราคาใกล้เคียงกับสารเคมีเดิมมาใช้ไม่ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการตัดสินใจทางการเมืองที่ปราศจากความรอบคอบถึงผลที่กำลังจะตามมาในอนาคต

สต๊อก 3 สารงอก

น.ส.เสริมสุข สลักเพชร อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ได้ตรวจสอบปริมาณคงเหลือสารเคมีกำจัดวัชพืชทั้ง 3 ชนิดจากร้านค้า-ผู้จัดจำหน่าย-ผู้ผลิต/นำเข้าทั่วประเทศ ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 มีจำนวนคงเหลือ 38,855 ตัน โดยสารเคมีที่เหลือนี้ผู้ครอบครองจะต้องส่งมอบให้กับกรมวิชาการเกษตร เพื่อนำไปทำลายทั้งหมด

ทั้งนี้มีข้อน่าสังเกตว่า ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2562 กรมวิชาการเกษตรได้รายงานปริมาณคงเหลือสารเคมีทั้ง 3 ชนิดตามคำสั่งของนางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ปรากฏมีสารเคมีคงเหลือรวม 34,688 ตัน โดยกรมวิชาการเกษตรระบุว่า หลังจากวันที่ 30 มิถุนายนไปแล้ว (วันที่ตรวจ-รายงานสต๊อกคงเหลือ) กรมไม่อนุญาตให้นำเข้าสารเคมีทั้ง 3 ชนิดเด็ดขาด

“เป็นเรื่องแปลกประหลาดมากที่สารเคมีอันตรายร้ายแรงทั้ง 3 ชนิดผ่านไปแค่ 5 เดือนมันงอกขึ้นมาอีก 4,167 ตัน ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงควรจะต้องลดลงมาจากการใช้ของเกษตรกร ประกอบกับจากการสอบถามร้านจำหน่ายสารเคมีการเกษตรส่วนใหญ่ของประเทศก็ยืนยันว่า ขายให้กับเกษตรกรไปแทบจะหมดร้านแล้ว เพราะเกษตรกรแห่ออกมาซื้อตุนไว้ใช้ การนำเข้าก็ไม่มีมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน เรื่องนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงการกันมากว่า ที่ผ่านมายังมีสารเคมีที่ยังไม่ยอมแจ้งสต๊อกกับกรมวิชาการซุกซ่อนอยู่คือ ไม่มีอยู่ในเลขทะเบียน แต่เรื่องนี้เราไม่รู้ว่า ใครซุกซ่อน พ่อค้า หรือผู้นำเข้า กลายเป็นว่า 5 เดือนปริมาณคงเหลือมันเพิ่มขึ้นมาอีกเป็นเท่าตัว จะว่าเป็นสารเคมีที่ผลิตในประเทศก็ไม่น่าใช่ เพราะคงไม่มีโรงงานไหนผลิตออกมาหลังจากที่รู้แน่ชัดแล้วว่า มันจะถูกแบน หรือมีการลักลอบนำเข้าที่ทำกันจนเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว” แหล่งข่าวในวงการสารเคมีกล่าว

ลักลอบนำเข้า-ข้อมูลผิด

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูณ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ”ที่อยู่ ๆ สารเคมีทั้ง 3 ชนิดมีสต๊อกเพิ่มขึ้นมาอีกเป็นเท่าตัวนับจากวันรายงานสต๊อกครั้งสุดท้าย (30 มิถุนายน 2562) ว่า ขอตั้งข้อสังเกตไว้ 2 ประเด็นคือ

1) ประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูล โดยหน่วยงานที่เป็นผู้กำกับดูแลสต๊อกทั้งหมดเพิกเฉย ละเลย ซึ่งหมายถึง กรมวิชาการเกษตร ไม่ได้จัดเก็บข้อมูลผู้ครอบครอง 3 สารหรือไม่ กับ 2) ปล่อยให้มีการลักลอบนำเข้าในช่วงเวลาที่มีการยืดเยื้อการพิจารณาให้แบน 3 สารโดยที่ไม่มีการตรวจสอบอย่างครอบคลุมรายบริษัท ทั้งผู้นำเข้าและผู้ผลิต การตรวจสอบร้านจำหน่วยและผู้มีไว้ในครอบครอง

“แม้ประกาศจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ แต่ข้อเท็จจริงนั้นต้องมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาจึงจะสามารถเอาผิดทางกฎหมายได้ ดังนั้นตามมติแบนที่กำหนด 1 ธ.ค.จึงเป็นเพียงการกำหนดว่าไม่มีการนำเข้าโดยสิ้นเชิงเท่านั้น และมูลนิธิชีววิถีและเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่เป็นอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร ขอเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดมาตรการเยียวยาเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งจะเสนอให้ภาครัฐจัดทำกองทุนเกษตรกรยั่งยืน และให้มีการลดภาษีการนำเข้าเครื่องจักรกลทางการเกษตร จากเดิมที่ต้องเสียภาษี 5-20% ให้เหลือ 0%” นายวิฑูรย์กล่าว

ด้านนายชนวน รัตนวราหะ อดีตรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรและผู้ตรวจราชการกระทรวง ให้ความเห็นว่า เมื่อมีมาตรการแบนสารเคมีออกมาชัดเจนแล้ว ในข้อเท็จจริงปริมาณสต๊อกคงเหลือ “ต้องลดลง” ดังนั้นอาจจะเป็นไปได้ว่า ข้อมูลและการตรวจสอบยังไม่รัดกุมมากพอทำให้มีการนำเข้าเพื่อมาเก็งกำไร

ส่วนกรณีที่จะมีการส่งมอบ 3 สารเคมีอันตรายร้ายแรงให้กรมวิชาการเกษตรนำไปทำลายก่อนหน้านี้ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอว่า หากจะให้บริษัทรับทำลายสารเคมีดังกล่าวจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ประมาณ 100,000 บาท/ตัน หรือเท่ากับว่า จะต้องใช้เงินในการทำลายประมาณ 3,885 ล้านบาท (คิดจากจำนวนสต๊อกคงเหลือครั้งสุดท้าย 38,855 ตัน

ร้องนายกขอนำเข้าตาม CODEX

นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า วานนี้ (18 พ.ย. 62) รองประธานหอการค้าฯได้ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และส่งผ่านไปยังนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เพื่อแสดงท่าทีของหอการค้าฯว่า เราเห็นด้วยต่อการยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี แต่ต้องอนุญาตให้นำเข้าวัตถุดิบและสินค้าที่มีส่วนผสมของสารตามมาตรฐาน CODEXเพราะไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหาร เช่น ข้าวสาลี ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถั่วเหลืองสำหรับผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและอาหารสัตว์ และไวน์รวมถึงผลไม้ ซึ่งประเมินมูลค่า 1.7 ล้านล้านบาท พร้อมทั้งเสนอให้รัฐกำหนดมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่ยังมีสต๊อกสาร และหารสารเคมีที่จะนำมาใช้ชดเชย พร้อมทั้งส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย  คลิกอ่านข่าวเพิ่มเติม “หอการค้าไทย” ชง 4 ข้อเสนอรัฐเร่งลดผลกระทบยกเลิก 3 สารพิษ