เปิดมากกว่าปิด ก.อุตยันเกือบ 11 เดือน เปิดโรงงานใหม่เฉียด 4,000 โรง จ้างงานพุ่ง 1.7 แสนคน

แจงยิบยอดตั้งโรงงานเกือบ 11 เดือน ปี’62 เฉียด 4,000 โรง จ้างงานเพิ่ม 1.7 แสนตำแหน่ง ส่วนปิดโรงงาน 1,480 โรงงานเลิกจ้างงานที่มีกว่า 37,263 คน

นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 21 พ.ย. 2562 มีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการและขยายกิจการรวม 3,950 แห่ง มีการจ้างงานใหม่ 178,733 คน และมูลค่าลงทุนรวม 445,025 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการสูงสุด ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร 490 โรงงาน มีการจ้างงานใหม่ 33,971 คน มูลค่าการลงทุน 52,033 ล้านบาท

รองลงมาเป็นกลุ่มพลาสติก 425 โรงงาน จ้างงานใหม่ 15,735 คน วงเงินลงทุน 23,351 ล้านบาท, กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน 340 โรงงาน จ้างงานใหม่ 15,015 คน วงเงินลงทุน 27,547 ล้านบาท, กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 327 โรงงาน จ้างงานใหม่ 10,339 คน วงเงินลงทุน 87,631 ล้านบาท และ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า 92 โรงงาน จ้างงานใหม่ 19,819 คน วงเงินลงทุน 30,322 ล้านบาท

ในส่วนของมูลค่าการลงทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการและขยายกิจการสูงถึง 445,025 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 37.94% ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่สูงมาก แสดงให้เห็นว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นประเทศไทย ที่ผลักดันส่งเสริมการลงทุนในด้านต่างๆ รวมถึงการนำผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ โรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนในต่างประเทศอยู่เสมอ แม้ว่าทั่วโลกจะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวก็ตาม

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูง จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และมีเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่รัฐบาลให้การส่งเสริม และหากโรงงานเริ่มประกอบกิจการก็จะส่งผลให้การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในไทยเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

ขณะเดียวกันในส่วนของการจ้างงานใหม่เพิ่ม 178,733 คน แบ่งเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการใหม่ 2,975 โรงงาน มีการจ้างแรงงานใหม่ 87,748 คน และโรงงานเดิมที่มีการขยายกิจการอีก 90,985 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าโรงงานขอปิดกิจการที่มีจำนวน 1,480 โรงงาน และการเลิกจ้างงานที่มีกว่า 37,263 คน หรือความต้องการแรงงานใหม่ในภาคอุตสาหกรรมมากกว่าแรงงานที่ถูกเลิกจ้างถึง 141,470 คน

ดังนั้นขอให้แรงงานใหม่และผู้ที่ว่างงาน มั่นใจว่าโรงงานที่เปิดใหม่ และโรงงานเดิมที่ขยายกิจการจะสามารถรองรับแรงงานที่ต้องการทำงานได้อีกจำนวนมาก

และจากข้อมูลตัวเลขสถานการณ์เปิดโรงงานใหม่ การปิดกิจการ และการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมของ กรอ. นั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตัวเลขการลงทุนที่เป็นไปในทิศทางที่สูงขึ้น จากจำนวนการเปิดโรงงานใหม่ที่มีมากกว่าการปิดกิจการโรงงานสูงถึง 101% และเงินลงทุนในปี2562 ที่มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 37.94 %

ขณะเดียวกัน ทางด้าน สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมในปัจจุบันพบว่า ภาคอุตาสหกรรมได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์, การส่งออกปรับตัวลดลงต่อเนื่อง, การบริโภคในประเทศเริ่มชะลอตัวมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2562 และผู้ส่งออกได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของค่าเงินบาท

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีแนวทาง และมาตรการที่เร่งด่วนทั้งระยะสั้นและระยะกลางเพื่อกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมไทย โดยระยะสั้นเร่งด่วน 4 ด้าน คือภาครัฐต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ, การกำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศสำหรับโครงการภาครัฐ, การเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจ, การดูแลสถานการณ์ค่าเงินเพื่อให้สินค้าและบริการของไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลก

ส่วนมาตรการระยะกลางที่จะช่วยเพิ่มเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยแบ่งออกเป็น 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.การเร่งผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมศักยภาพ (S-Curve) 2.การเร่งส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมไทยที่มีศักยภาพ เช่น Bio Economy และ Circular Economy เป็นต้น 3.การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมรวมถึงการใช้ระบบอัตโนมัติในการผลิต เพื่อเพิ่มผลิตภาพและขีดความสามารถ

4.การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่และบรรเทาการว่างงาน 5.มาตรการจูงใจให้ผู้ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนเริ่มลงทุนจริงในปี 2563 และ 6.ผู้ประกอบการปรับตัวโดยการเพิ่มผลิตภาพ ลดค่าใช้จ่าย และควรพิจารณาเพิ่มการลงทุนในกรณีที่มีสภาพคล่องอีกด้วย